เฉลิมชัย รถบ้าน

ที่สุดด้านคุณภาพและบริการ ต้องเฉลิมชัย รถบ้าน
โทร : 096-242-8639 เปิดทำการทุกวัน
110/4 หมู่ 1 ต.หนองยาว อ.เมือง จ.สระบุรี

ข่าวสารยานยนต์

แอลกอฮอล์ไว้ในรถได้ไหม ?

แอลกอฮอล์ไว้ในรถได้ไหม จะมีอันตรายหรือไม่ ?

เก็บแอลกอฮอล์ไว้ในรถได้ไหม ถ้าภายในรถยนต์มีความร้อนสูง จะเกิดอันตรายอย่างติดไฟ ระเบิด หรือส่งผลเสียใดๆ หรือไม่

ในเมืองร้อนอย่างประเทศไทยนั้น หากจอดรถยนต์ทิ้งไว้กลางแดดก็อาจทำให้ภายในรถเกิดความร้อนสูง ซึ่งการเก็บสิ่งของบางอย่างที่ไวไฟหรือไม่ทนทานต่อความร้อนไว้ในรถ อาจส่งผลให้เกิดอันตรายอย่างไฟลุกหรือระเบิดได้ และในยุคโควิดที่คนส่วนใหญ่มักพกเจลหรือสเปรย์ล้างมือแอลกอฮอล์ติดตัวตลอดเวลา ทำให้เกิดความกังวลกันว่าถ้าหากวางหรือเก็บแอลกอฮอล์ไว้ในรถ จะเกิดอันตรายอะไรหรือไม่ ซึ่งวันนี้เราจะพาไปหาคำตอบกัน

เก็บแอลกอฮอล์ไว้ในรถได้ไหม ?

จริงอยู่ที่แอลกอฮอล์เป็นสารที่สามารถติดไฟได้หากมีการสัมผัสกับเปลวไฟหรือประกายไฟ แต่ในกรณีที่เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ถูกบรรจุอยู่ในขวดและเก็บไว้ในรถยนต์ ซึ่งไม่ได้มีการสัมผัสประกายไฟโดยตรง จะสามารถติดไฟด้วยตัวเองได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในที่อุณหภูมิสูงถึงประมาณ 370 องศาเซลเซียสเท่านั้น และอุณหภูมิภายในห้องโดยสารรถยนต์ที่จอดตากแดดก็ไม่มีทางที่จะมีความร้อนสูงถึงขนาดนั้น

ส่วนใครที่ยังกังวลว่าแอลกอฮอล์ที่บรรจุอยู่ในกระป๋องสเปรย์จะมีโอกาสขยายตัวจนระเบิดเมื่อถูกความร้อนได้หรือไม่ ข้อนี้คงต้องบอกว่าสบายใจได้ เพราะว่าภายในกระป๋องสเปรย์แอลกอฮอล์จะไม่มีสารเคมีและแก๊สอยู่ภายใน ต่างจากกระป๋องสเปรย์อื่น ๆ จึงไม่เสี่ยงที่จะระเบิดเมื่ออยู่ในที่อุณหภูมิสูง

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมีการจุดไฟแช็กหรือสูบบุหรี่ในรถยนต์ ควรจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะถึงแม้ว่าแอลกอฮอล์จะอยู่ในขวดหรือกระปุก แต่ถ้ามีไอระเหยจากแอลกอฮอล์ภายในห้องโดยสารแล้วมีการจุดไฟก็สามารถทำให้ไฟลุกขึ้นมาได้นั่นเอง นอกจากนี้การที่แอลกอฮอล์โดนความร้อนจนระเหยรั่วออกมายังทำให้แอลกอฮอล์มีความเจือจางลง ซึ่งส่งผลให้มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคลดลงอีกด้วย เพราะฉะนั้นถ้าเลี่ยงได้ก็ไม่ควรเก็บแอลกอฮอล์ไว้ในรถน่าจะดีที่สุด

ทั้งนี้ ถ้าหากใครอยากรู้ว่ามีสิ่งของอะไรบ้างที่ไม่ควรเก็บไว้ในรถยนต์ สามารถเข้าไปอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : 8 สิ่งของที่ไม่ควรทิ้งไว้ในรถ เพราะอาจเกิดผลเสียหรืออันตรายได้

ขอบคุณข้อมูลจาก : caranddriver.comsnopes.com

แหล่งอ้างอิง https://car.kapook.com/view255863.html

ลืมกุญแจรถไว้ในรถทําไง ?

ลืมกุญแจรถไว้ในรถทําไง เมื่อรถล็อกมีวิธีแก้ไขอย่างไรได้บ้าง

ลืมกุญแจไว้ในรถ แล้วรถเกิดล็อกขึ้นมาเอง หรือมีเด็กอยู่ในรถเผลอไปกดล็อกประตูเข้า จะมีวิธีเปิดประตูหรือแก้ไขอย่างไรบ้าง ?

หลายคนน่าจะเคยมีประสบการณ์หลง ๆ ลืม ๆ สิ่งที่จะทำหรือสิ่งของต่าง ๆ กันมาบ้าง หากเป็นสิ่งของเล็ก ๆ หรือสิ่งที่จะทำไม่ได้มีความสำคัญมากก็อาจจะไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไร แต่ถ้าบังเอิญเป็นการลืมกุญแจรถไว้ในรถแล้วรถเกิดล็อกขึ้นมาอีก ก็ดูจะเป็นเรื่องใหญ่ไม่ใช่น้อย

แม้ในรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ จะมีโอกาสเกิดปัญหานี้ได้น้อยมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นกุญแจรถยนต์แบบรีโมตที่แม้จะลืมวางไว้ในรถแล้วปิดประตู รถก็จะไม่สามารถล็อกได้ แต่ถ้าเป็นรถยนต์รุ่นเก่าที่มีการทำงานของระบบล็อกผสมผสานแบบ Manual และไฟฟ้า ปัญหาเหล่านี้ก็อาจเกิดขึ้นได้ และเราจะมีวิธีแก้ไขเพื่อให้สามารถเปิดประตูได้อย่างไรบ้างนั้น ไปหาคำตอบกัน

ลืมกุญแจรถไว้ในรถ รถล็อกได้อย่างไร ?

หากเป็นในรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นถือว่าน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย เพราะรถยนต์ในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้กุญแจรถแบบ Keyless หรือกุญแจรถยนต์อัจฉริยะ ซึ่งหากเราลืมกุญแจไว้ในรถหรือฝาท้ายรถจะไม่สามารถล็อกหรือปิดฝากระโปรงได้ เว้นแต่นำกุญแจออกมาจากตัวรถแล้ว

แต่ถ้าเป็นในรถรุ่นเก่า รถบางรุ่นจะมีการตั้งระบบล็อกอัตโนมัติหากถึงเวลาที่กำหนด กับอีกกรณีคือการปล่อยเด็กเล็กไว้ในรถแล้วเผลอไปโดนปุ่มล็อกเข้าก็อาจเกิดเหตุการณ์นี้ได้เช่นกัน

ลืมกุญแจรถไว้ในรถ ทำไงดี ?

หากลืมกุญแจไว้ในรถ และไม่สามารถเปิดล็อกประตูได้ อันดับแรกอย่าเพิ่งตื่นตระหนกหรือตกใจ ให้ตั้งสติและพยายามตรวจสอบประตูรถทั้ง 4 บาน รวมถึงฝากระโปรงท้าย ให้แน่ใจว่าไม่สามารถเปิดออกได้จริง และที่สำคัญสำรวจตัวเองอีกครั้งว่าลืมกุญแจไว้ในรถจริง ๆ ซึ่งวิธีการแก้ไขนั้นมีให้เลือกหลายทางขึ้นอยู่กับสถานการณ์และสถานที่ที่เกิดเหตุขณะนั้น โดยเริ่มจากการแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน ดังนี้

  • ใช้กุญแจสำรอง คือ กุญแจที่ได้รับมาตอนซื้อรถยนต์ทุกคัน เผื่อไว้สำหรับกรณีฉุกเฉิน เช่น กุญแจหลักชำรุด ส่วนใหญ่มักจะเก็บไว้ที่บ้าน หากเราอยู่ในสถานที่ที่ไม่ไกลจากบ้านมากนักให้กลับไปนำกุญแจสำรองมาไขจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด 
  • ติดต่อช่างกุญแจ อีกหนึ่งวิธีการสำหรับใครที่ไม่สามารถกลับไปเอากุญแจสำรองที่บ้านได้ ให้ติดต่อช่างทำกุญแจมาดำเนินการสะเดาะกุญแจรถให้ หรือรถบางรุ่นที่อยู่ในระยะเวลารับประกันก็อาจมีบริการพิเศษจากค่ายรถนั้น ๆ โดยสามารถติดต่อกับศูนย์บริการได้โดยตรง
  • โทร. ขอความช่วยเหลือ หากเกิดเหตุการณ์ลืมกุญแจรถไว้ในรถที่ห่างไกลจากบ้านจนไม่สามารถกลับไปเอากุญแจสำรองได้ และบริเวณนั้นไม่มีช่างกุญแจ ให้โทร. ติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่กู้ภัย
  • ทุบกระจก เป็นทางเลือกในกรณีที่ต้องการเปิดรถอย่างเร่งด่วน เช่น มีเด็กหรือสัตว์เลี้ยงติดอยู่ภายในรถ โดยใช้หิน ค้อน หรือของแข็งที่หาได้ และเลือกทุบกระจกบานด้านข้างมากกว่าด้านหน้ารถ เพราะมีความแข็งแรงน้อยกว่า และพยายามเลือกบานที่อยู่ห่างจากเด็กหรือสัตว์เลี้ยงเพื่อป้องกันการเกิดอันตราย

อย่างไรก็ตาม แม้ในรถยนต์รุ่นใหม่ที่มีโอกาสลืมกุญแจรถไว้ในรถแล้วรถล็อกจะเกิดขึ้นได้ยาก แต่หากเกิดขึ้นเราควรตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนก ก็จะช่วยให้สามารถคิดหาทางแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ที่สำคัญทุกครั้งที่ลงจากรถควรพกกุญแจรถติดตัวไว้เสมอ ทั้งนี้ แม้เทคโนโลยีจะมีความทันสมัยมากเพียงใด เพื่อความปลอดภัยควรลองดึงประตูทุกครั้งหลังจากล็อกรถ เพราะบางทีเซ็นทรัลล็อกอาจมีปัญหาแบบไม่รู้ตัวก็ได้

ขอบคุณข้อมูลจาก : brightside.merd.com

แหล่งอ้างอิง :https://car.kapook.com/view250292.html

เช็กราคาประกันรถยนต์ชั้น1

เช็กราคาประกันรถยนต์ชั้น 1 บริษัทไหนจ่ายเบี้ยเท่าไร คุ้มครองอะไรบ้าง

กำลังจะทำประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 แต่ไม่รู้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไร เช็กเลย ! ราคาประกันรถยนต์ชั้น 1 ของแต่ละบริษัท ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยต่อปีกี่บาท  และได้รับความคุ้มครองอะไรบ้าง คุ้มกับเงินที่จ่ายหรือไม่

ทุกวันนี้ใครที่ใช้รถยนต์ นอกจากประกันภัย พ.ร.บ. ที่บังคับให้เจ้าของรถทุกคันต้องทำพร้อม ๆ กับการต่อภาษีแล้ว ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจก็เป็นการทำประกันอีกรูปแบบหนึ่งที่หลายคนนิยมทำ โดยเฉพาะประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 เพราะประกันภัยดังกล่าวจะให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมมากกว่าประกันภัยภาคบังคับที่รับผิดชอบเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น

แต่แน่นอนว่าการรับผิดชอบความเสียหายที่ครอบคลุมมากขึ้น ย่อมมากับค่าเบี้ยประกันที่สูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งแต่ละบริษัทประกันก็มีเรตราคาที่แตกต่างกันออกไปโดยขึ้นอยู่กับยี่ห้อรถ รุ่น ปีที่ผลิต หรือแม้แต่ประวัติการเคลมล้วนมีผลต่อเบี้ยประกันทั้งสิ้น

ประกันภัยรถยนต์ คืออะไร

ประกันภัยรถยนต์ คือการประกันวินาศภัยประเภทหนึ่งที่ให้ความคุ้มครองรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อเกิดความสูญเสียหรือความเสียหายที่เกิดจากการใช้รถยนต์ เช่น ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ ความเสียหายที่รถยนต์ได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก รวมทั้งบุคคลที่โดยสารอยู่ในรถยนต์นั้น ซึ่งประกันภัยรถยนต์ที่มีในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

  • ประกันรถยนต์ภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. เป็นประกันภัยรถยนต์ที่ทางภาครัฐบังคับให้เจ้าของรถยนต์ทุกคันต้องทำเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองตัวบุคคลที่ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอกหากเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้บาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ ทุกพลภาพ หรือเสียชีวิต 
  • ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ คือ ประกันภัยที่ทำโดยความสมัครใจของเจ้าของรถ เป็นประกันภัยที่อยู่นอกเหนือประกันภัยภาคบังคับ สำหรับประกันภัยภาคสมัครใจนั้นจะให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมมากกว่า ซึ่งจะคุ้มครองตัวบุคคลทั้งตัวผู้ขับขี่เอง ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอก รวมไปถึงทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ประกันภัยรถยนต์ มีกี่ประเภท

ทั้งนี้ ประกันภัยรถยนต์แบบสมัครใจที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมมากที่สุดนั่นก็คือ ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ประกันภัยชนิดที่จะให้ความรับผิดชอบ ดูแลค่าใช้จ่ายในส่วนต่าง ๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาลของผู้เอาประกันภัย ผู้โดยสารและบุคคลภายนอก รับผิดชอบค่าเสียหายของทรัพย์สิน ค่าซ่อมรถยนนต์ทั้งของผู้เอาประกันภัย คู่กรณี ซึ่งความคุ้มครองนี้ไม่ได้คุ้มครองเฉพาะกรณีเกิดอุบัติเหตุแบบมีคู่กรณีเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมการเกิดเหตุแบบไม่มีคู่กรณีเช่นเดียวกัน

วันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับราคา เบี้ยประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 จากบริษัทประกันภัยต่าง ๆ มาให้ดูกัน ใครที่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกประกันภัยรถยนต์บริษัทไหนดี มาเช็กราคาได้เลย

เช็กราคาประกันรถยนต์ชั้น 1

1. วิริยะประกันภัย

ภาพจาก : viriyah.com

วิริยะประกันภัยดำเนินกิจการในเมืองไทยมากว่า 70 ปี มีศูนย์ซ่อมและอู่ในเครือกว่า 600 แห่ง นอกจากประกันภัยรถยนต์แล้ว วิริยะยังมีประกันภัยอื่น ๆ ได้แก่ ประกันภัยบ้าน ประกันภัยธุรกิจ และประกันภัยสุขภาพอีกด้วย

ราคาประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ของวิริยะประกันภัยจะแบ่งตามลักษณะประเภทของรถและสถานที่ในการเข้าซ่อม ส่วนการคุ้มครองนั้นจะครอบคลุมทั้งตัวผู้เอาประกันและบุคคลภายนอก เช่น ค่าความเสียหายต่าง ๆ ของรถยนต์ ความเสียหายต่อทรัพย์สิน 5,000,000 บาท/ครั้ง ค่ารักษาพยาบาล ชีวิต ร่างกาย 1,000,000 บาท/คน หรือ 10,000,000 บาท/ครั้ง นอกจากนี้ ยังรวมถึงกรณีรถสูญหาย น้ำท่วม หรือไฟไหม้ และหลักทรัพย์ประกันตัวผู้ขับขี่ 200,000 บาท/ครั้ง ประกันภัยรถยนต์ของวิริยะนั้นจะให้ความคุ้มครองที่เหมือนกัน จะแตกต่างตรงที่ซ่อมอู่หรือซ่อมห้างเท่านั้น

  • รถเก๋ง รถกระบะ 4 ประตู ซ่อมอู่ ราคาเบี้ยเริ่มต้นที่ 13,000 บาท
  • รถเก๋ง รถกระบะ 4 ประตู ซ่อมห้าง ราคาเบี้ยเริ่มต้นที่ 15,000 บาท
  • รถกระบะ 2 ประตู ไม่เกิน 3 ตัน ซ่อมอู่ ราคาเบี้ยเริ่มต้นที่ 16,500 บาท
  • รถกระบะ 2 ประตู ไม่เกิน 3 ตัน ซ่อมห้าง ราคาเบี้ยเริ่มต้นที่ 20,000 บาท

2. กรุงเทพประกันภัย

ภาพจาก : bangkokinsurance.com

บริษัทประกันภัยรถยนต์ที่ได้รับความนิยมทั้งในเรื่องประกันรถยนต์ และประกันภัยด้านอื่น ๆ ที่มีให้เลือกหลายประเภทด้วยกัน อาทิ ประกันภัยการเดินทาง, ประกันภัยอุบัติเหตุ, ประกันภัยสำหรับทรัพย์สิน และประกันภัยอื่น ๆ

สำหรับประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ของกรุงเทพประกันภัยมีให้เลือกมากมายหลายแบบแผน ทั้งตามลักษณะของการใช้งานรถยนต์, ช่วงอายุของผู้ชับชี่ หรือรถที่มีอายุมากกว่า 6-12 ปี ก็สามารถทำประกันภัยชั้น 1 ได้ ส่วนการคุ้มครองนั้นจะครอบคลุมทั้งผู้เอาประกัน บุคคลภายนอก และทรัพย์สินต่าง ๆ รวมถึงกรณีรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ น้ำท่วม พายุ ลูกเห็บ หรือภัยจากการก่อการร้ายก็ให้ความคุ้มครองเช่นกัน

ราคาประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ของกรุงเทพประกันภัยจะมีให้เลือกหลายรูปแบบตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งจะมีข้อแตกต่างที่ราคาเบี้ยประกันและความคุ้มครองบางอย่างที่ไม่เหมือนกันเพียงเล็กน้อย ผู้ที่สนใจควรสอบถามรายละเอียด เงื่อนไขของประกันภัยชั้น 1 แต่ละแผนให้ดีก่อนตกลงทำประกัน

  • ประกันรถยนต์ชั้น 1 ประเภทเลือกทุนเองได้ ตั้งแต่ 100,000-300,000 บาท ให้ความคุ้มครองทุกอุบัติเหตุ ทั้งรถชน รถหาย ไฟไหม้ นํ้าท่วม มีบริการช่วยเหลือ 24 ชั่วโมง พร้อมศูนย์ซ่อมมาตรฐาน (อู่ในเครือ) ให้เลือกหลากหลาย ราคาเบี้ยเริ่มต้น 11,000 บาท
  • ประกันรถยนต์ชั้น 1 ประเภท Motor by Region คิดเบี้ยประกันภัยตามภูมิภาคต่าง ๆ รับประกันรถที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี และเป็นรุ่นรถที่บริษัทฯ กำหนดเท่านั้น สามารถเลือกศูนย์บริการ หรืออู่ซ่อมได้ ราคาเริ่มต้นต้องสอบถามกับตัวแทนประกันภัยเพราะขึ้นอยู่กับสถานที่ที่อยู่อาศัย และรุ่นรถของผู้เอาประกันภัย
  • ประกันรถยนต์ชั้น 1 ประเภท Motor Gen X ให้ความคุ้มครองแบบตรงใจสำหรับกลุ่มคนอายุ 35-45 ปี โดยไม่ต้องระบุผู้ขับขี่ สามารถเลือกศูนย์บริการ หรืออู่ซ่อมได้ มีบริการช่วยเหลือ 24 ชั่วโมง ราคาเบี้ยเริ่มต้น 12,780 บาท 
  • ประกันรถยนต์ชั้น 1 ประเภท Used Car Special รองรับสำหรับรถยนต์อายุ 6-12 ปี ได้รับทุนประกันภัยสูงสุดถึง 500,000 บาท ให้ความคุ้มครองครอบคลุมทั้งกรณีรถชน รถหาย ไฟไหม้ ทั้งแบบมีคู่กรณีและไม่มีคู่กรณี เข้าซ่อมที่ศูนย์ซ่อมมาตรฐานกรุงเทพประกันภัย ราคาเบี้ยเริ่มต้น 15,480 บาท
  • ประกันรถยนต์ชั้น 1 ประเภท คุ้มครอง-คุ้มค่า ประกันภัยรถยนต์ที่เหมาะสำหรับผู้ที่รักรถ และมีประวัติการขับขี่ที่ดี เบี้ยประกันภัยราคาเบาๆ แต่จะต้องเสียค่าเสียหายส่วนแรก 5,000 บาท/ครั้ง เมื่อเคลมแบบไม่มีคู่กรณีหรือเป็นฝ่ายผิด ราคาเบี้ยเริ่มต้น 8,100 บาท บาท

หมายเหตุ : ราคาของเบี้ยประกันภัยรถยนต์ในทุกกลุ่มจะมีการลดลงโดยขึ้นอยู่กับอายุของตัวรถ

3. ไทยศรี ประกันภัย

ภาพจาก : thaisri.com

บริษัทประกันภัยที่เปิดให้บริการมาแล้วกว่า 60 ปี มีศูนย์บริการ อู่ในเครือที่ได้มาตรฐาน และยังมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยอื่น ๆ นอกเหนือจากประกันภัยรถยนต์ ได้แก่ ประกันภัยทรัพย์สิน, ประกันภัยอุบัติเหตุ, ประกันการเดินทาง, ประกันภัยทางทะเล, ประกันภัยเบ็ดเตล็ด และประกันภัยสุขภาพ

สำหรับประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ของไทยศรี ประกันภัย จะแบ่งออกเป็นตามแต่ละประเภทของรถ เช่น รถยนต์ รถกระบะ และรถมอเตอร์ไซค์ ส่วนความคุ้มครองนั้นถือว่าครอบคลุมทั้งตัวผู้เอาประกันภัย บุคคลภายนอก และทรัพย์สิน พร้อมบริการช่วยเหลือฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง

ราคาประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ของไทยศรี ประกันภัย แบ่งออกเป็น ดังนี้

  • ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 สำหรับรถเก๋ง รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รวมถึงรถปิคอัพจดทะเบียนเป็นรถนั่งส่วนบุคคล ที่นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่ง โดยให้ความคุ้มครองตัวรถยนต์คันเอาประกันภัยและรถคู่กรณี (ตามทุนประกันภัย) คุ้มครองทรัพย์สินบุคคลภายนอก สูงสุด 5,000,000 บาท คุ้มครองชีวิตร่างกาย อนามัย ของบุคคลภายนอก สูงสุด 10,000,000 บาท คุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคล ค่ารักษาพยาบาล สูงสุด 300,000 บาท/คน พร้อมหลักทรัพย์ประกันตัวผู้ขับขี่ สูงสุด 400,000 บาท/ครั้ง ราคาเบี้ยเริ่มต้น 11,000 บาท
  • ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 สำหรับรถกระบะ คุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถคันเอาประกันภัยกรณีชน และรถยนต์สูญหาย /ไฟไหม้ รวมทั้งความคุ้มครองชีวิตร่างกาย อนามัยและทรัพย์สินบุคคลภายนอก นอกจากนี้ ยังมีความคุ้มครองเพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น คุ้มครองทรัพย์สินบุคคลภายนอก สูงสุด 1,000,000 บาท/ครั้ง คุ้มครองชีวิต ร่างกาย อนามัย ของบุคคลภายนอก สูงสุด 10,000,000 บาท มีหลักทรัพย์ประกันตัวผู้ขับขี่ 200,000 บาท/ครั้ง และค่ารักษาพยาบาล สูงสุด 100,000 บาท/คน ราคาเบี้ยเริ่มต้น 14,000 บาท

4. ธนชาตประกันภัย

ภาพจาก : thanachart-insurance.co.th

บริษัทประกันภัยที่ก่อตั้งมาเมื่อปี 2540 มีประกันภัยรถยนต์ให้เลือกหลากหลายแบบทั้งชั้น 1 ชั้น 2+ และชั้น 3+ นอกจากประกันภัยรถยนต์ก็ยังมีประกันภัยชนิดอื่น ๆ เช่น ประกันภัยอุบัติเหตุ และประกันภัยโรคมะเร็ง

ราคาประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ของธนชาตประกันภัยมีให้เลือก 2 แผนด้วยกัน ได้แก่ 

  • ประกันภัยรถยนต์ประเภท1 One Lite ประกันภัยชั้น 1 ที่ให้ความคุ้มครองทุกภัย เหมาะสำหรับผู้ขับขี่มั่นใจ ขับรถปลอดภัย ไม่มีเคลม ราคาเริ่มต้นที่ 10,000 บาท
  • ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 Single Rate ประกันภัยชั้น 1 สำหรับผู้ขับขี่มือใหม่ ที่ต้องการความคุ้มเป็นพิเศษ มีบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง ราคาเริ่มต้นที่ 14,000 บาท

5. ทิพยประกันภัย

ภาพจาก : tipinsure.com

ทิพยประกันภัย บริษัทประกันภัยรถยนต์ที่มีอู่ซ่อมและศูนย์ในเครือทั่วประเทศ มีประกันภัยรถยนต์ให้เลือกหลากหลายแผนโดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง Tip Lady ที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้หญิงที่ต้องขับรถคนเดียว

ราคาประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ของทิพยประกันภัยมีให้เลือกหลายแผน โดยจะแบ่งตามลักษณะของการใช้งาน ได้แก่

  • ประกันรถยนต์ชั้น 1 TIP Premium ประกันภัยรถยนต์ที่เหมาะกับคนใช้รถเป็นประจำ ชอบเดินทางไกล หรือมือใหม่หัดขับ ราคาเริ่มต้นที่ 12,000 บาท
  • ประกันรถยนต์ชั้น 1 TIP Premium+ ประกันภัยรถยนต์ที่ให้ความคุ้มครองทุกกรณี พร้อมได้รับเงินชดเชยกรณีเข้าซ่อมไม่ว่าจะเป็นฝ่ายถูกหรือผิด ราคาเริ่มต้นที่ 13,000 บาท
  • ประกันรถยนต์ชั้น 1 Tip Lady ประกันภัยสำหรับผู้หญิงที่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินส่วนตัว ค่าศัลยกรรมจากอุบัติเหตุ และสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเมื่อเดินทางออกจากบ้านเกิน 100 กม. กรณีรถขัดข้องหรืออุบัติเหตุจนไม่สามารถขับต่อได้ ราคาเริ่มต้นที่ 12,000 บาท
  • ประกันรถยนต์ชั้น 1 Tip Rainbow ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองมากขึ้น เหมาะสำหรับทุกลักษณะการใช้รถ ขับมากขับน้อย ขับเร็วขับช้า มือเก่ามือใหม่ เพิ่มเติมค่าศัลยกรรมสูงสุด 2 ท่าน และ บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชม. ราคาเริ่มต้น 13,000 บาท 

6. เมืองไทยประกันภัย

ภาพจาก : muangthaiinsurance.com

อีกหนึ่งบริษัทประกันภัยที่หลายคนน่าจะคุ้นหู ซึ่งนอกจากประกันภัยรถยนต์แล้วยังมีประกันภัยชนิดอื่น ๆ ได้แก่ ประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ ประกันการเดินทาง ประกันอัคคีภัยและทรัพย์สิน

ราคาประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ของเมืองไทยประกันภัยมีให้เลือกทั้งแบบซ่อมห้าง ซ่อมอู่ และประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า

  • ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 แบบพันธุ์แกร่ง เหมาะสำหรับรถ SUV และกระบะส่วนบุคคล ให้ความคุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถยนต์ ทั้งรถชน รถหาย ไฟไหม้ น้ำท่วม ภัยธรรมชาติ หรือรถยนต์เสียหายจากอุบัติเหตุ ภัยก่อการร้าย คุ้มครองผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอก เพิ่มความคุ้มครองรับเงินชดเชยเมื่อต้องนำรถเข้าอู่กรณีรถชนรถและเป็นฝ่ายถูก และยังให้ความคุ้มครองทรัพย์สินภายในรถยนต์เมื่อถูกโจรกรรมมีรอยงัดแงะ ราคาเบี้ยเริ่มต้น 15,000 บาท
  • ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 แบบ OK Type1 ประกันภัยรถยนต์แบบซ่อมอู่ คุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถยนต์ ทั้งรถชน รถหาย ไฟไหม้ น้ำท่วม ภัยธรรมชาติ หรือรถยนต์เสียหายจากอุบัติเหตุ ภัยก่อการร้าย คุ้มครองผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอกสูงสุด 1,000,000 บาท ราคาเบี้ยเริ่มต้น 13,500 บาท 
  • ประกันภัยรถยนต์ ชั้น 1 สำหรับรถไฟฟ้า ที่ให้ความคุ้มครองต่อชีวิตและร่างกายของบุคคลภายนอกสูงสุด 10,000,000 บาท รับผิดชอบต่อรถเอาประกันภัย กรณีชนกับยานพาหนะ สูญหาย ไฟไหม้ ตามทุนประกัน พร้อมค่ารักษาพยาบาล 100,000 บาท/คน และยังมีความคุ้มครองหลักทรัพย์ประกันตัวผู้ขับขี่ 300,000 บาท/ครั้ง ครอบคลุมไปถึงภัยก่อการร้าย รวมถึงอุปกรณ์ตกแต่งราคาเบี้ยเริ่มต้น 25,999 บาท

อย่างไรก็ตาม นอกจากบริษัทประกันภัยรถยนต์ที่เรานำมาให้ดูกันแล้วก็ยังมีบริษัทอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น LMG insurance, ไอโออิ กรุงเทพ ประกันภัย, โตเกียวมารีน ประกันภัย และ MSIG ประกันภัย ใครที่กำลังมองหาประกันภัยรถยนต์ สามารถตรวจเช็กเบี้ยประกันหรือรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมกับบริษัทประกันภัยได้โดยตรง และควรศึกษาเงื่อนไขรายละเอียดคุ้มครองต่าง ๆ ให้เรียบร้อยจะได้ไม่เสียประโยชน์เมื่อเกิดอุบัติเหตุ

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : thaisri.comtipinsure.comthanachart-insurance.co.th,
bangkokinsurance.comviriyah.commuangthaiinsurance.commuangthaiinsurance.com

แหล่งอ้างอิง https://car.kapook.com/view255323.html

ขับรถชนของหลวงผิดแค่ไหน ?

ขับรถชนของหลวง ต้องจ่ายค่าชดใช้เป็นเงินกี่บาท และประกันจะช่วยจ่ายหรือไม่ ?

เพราะอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และหากวันหนึ่งคุณดันขับรถแล้วไปชนกับสิ่งของข้างทางที่เป็นของหลวงเสียหายเข้า รู้หรือไม่ว่าต้องจ่ายค่าเสียหายเท่าไหร่ ประกันจะจ่ายไหม ?

 อุบัติเหตุทางรถยนต์ อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อหากประมาท หรือพลาดพลั้ง นำมาซึ่งความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นของส่วนตัวหรือของผู้อื่น รวมถึงทรัพย์สินสาธารณะหรือที่เรียกว่า “ของหลวง” อาทิ เสาไฟฟ้า ต้นไม้ข้างทาง ป้ายจราจร ราวสะพาน และเสาสัญญาณไฟ เป็นต้น และนั่นคือที่มาของคำถามว่า ผู้ที่ขับขี่รถชนจะต้องจ่ายค่าเสียหายเท่าไหร่ และประกันรถยนต์ที่ทำไว้จะรับผิดชอบหรือไม่ วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบกัน

ขับรถชนของหลวง มีความผิดหรือไม่?

เมื่อผู้ใช้รถเกิดประสบอุบัติเหตุขับรถชนจนทำให้ของหลวงเสียหาย ไม่ว่าจะเป็น เสาไฟฟ้า หรือป้ายจราจร จะมีหน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้รับผิดชอบดูแลของหลวงในส่วนนั้น ๆ อาทิ เสาไฟฟ้า อยู่ในความดูแลของหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรการไฟฟ้า หรือป้ายจราจร จะอยู่ในความดูแลของกรมทางหลวง ซึ่งผู้ใช้รถจะต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่หน่วยงานนั้น ๆ

โดยเมื่อหน่วยงานรับเรื่อง ก็จะมีทีมงานส่งไปตรวจสอบความเสียหายโดยรอบ พร้อมคำนวณค่าเสียหาย และค่าแรงสำหรับการซ่อมแซมหรือรื้อถอน จากนั้นจึงส่งเป็นใบแจ้งหนี้ที่ได้คำนวณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามความเสียหายที่เกิดขึ้น

อีกทั้งยังมีความผิดจากการสร้างความเสียหายสาธารณสมบัติ โดยจะอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา หมวด 7 ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ในมาตรา 360 “ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ขับรถชนของหลวง เสียค่าปรับเท่าไหร่

อุปกรณ์แต่ละชิ้นจะมีราคาไม่เท่ากัน ซึ่งหากผู้ใช้รถขับรถชน ก็จะต้องมีการจ่ายค่าเสียหายควบคู่กับค่าปรับอื่น ๆ โดยชดใช้ในราคาที่แตกต่างกันตามสภาพความเสียหาย อย่างไรก็ตามราคาทั้งหมดนี้เป็นเพียงการประเมินในเบื้องต้นเท่านั้น เพราะในสถานที่เกิดเหตุจริง อาจมีความเสียหายอื่น ๆ ที่ทำให้ถูกคิดค่าเสียหายเพิ่มเติม รวมทั้งราคาอาจจะมากกว่า – น้อยกว่า ก็ขึ้นอยู่กับหน่วยงานผู้รับผิดชอบแต่ละหน่วยจะเป็นผู้ชี้แจง ว่าของแต่ละชนิดมีค่าเสียหายที่ต้องจ่ายอยู่ที่เท่าไหร่ อาทิ

  • เสาไฟฟ้า เสาไฟ้าถือเป็นทรัพย์สินของหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรการไฟฟ้าที่ขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่โดยจะมีทั้งการไฟฟ้านครหลวงหรือส่วนภูมิภาค หากเกิดการเสียหายจากอุบัติเหตุ จะต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยจะดูจากความสูงของเสา และประเภทกำลังไฟ เช่น เสาไฟฟ้าแรงสูง เสาไฟฟ้าแรงกลาง และเสาไฟฟ้าแรงต่ำ สายไฟ หม้อแปลง หลอดไฟ รวมถึงค่าแรงที่จะต้องรื้อถอน และติดตั้งใหม่ จะมีราคาประมาณ 50,000-150,000 หรือถ้าเป็นเสาไฟไฮแมส หรือ เสาสูง (HIGH MAST POLE) ที่มีขนาดสูงตั้งแต่ 15-30 เมตร จะมีราคาสูงถึง 10,000- 300,000 บาท ทั้งนี้ถ้าหากเสาไฟฟ้าดังกล่าวพ่วงสายโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตจากเอกชนด้วย ก็จะมีการเพิ่มค่าเสียหายร่วมด้วย 
  • เสาไฟจราจร หากได้รับความเสียหาย จะมีราคาราว ๆ 8,000-15,000 บาท ต่อต้น ตามสภาพความเสียหายและขนาดของเสา
  • ป้ายจราจร ถือเป็นทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมทางหลวง ถ้าไปขับรถไปชนจนได้รับความเสียหาย จะมีราคาความเสียหายประมาณ 1,000-3,000 บาท ต่อต้น ตามสภาพความเสียหายและขนาดป้าย
  • แบริเออร์ จะมีราคาราว ๆ 800-1,500 บาท ต่อชิ้น ขึ้นอยู่กับประเภทวัสดุ และจำนวนที่เสียหาย
  • แผงกั้นจราจรแบบเหล็ก หากได้รับความเสียหาย จะมีราคาราว ๆ 1,000-5,000 บาท ต่อแผง ขึ้นอยู่กับขนาด หรือวัสดุ
  • กรวยจราจร จะมีราคาอยู่ที่ 200-800 บาท ต่อชิ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของกรวย และจำนวนที่เสียหายทั้งหมด
  • เสาสีส้มล้มลุก หากได้รับความเสียหาย จะมีราคาราว ๆ 500 บาท ต่อต้น
  • ต้นไม้ จะมีสำนักงานเขตแต่ละเขต เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ และมีเทศบาลท้องถิ่นนั้น ๆ หากได้รับความเสียหาย จะขึ้นอยู่ที่เขตและเทศบาลเป็นผู้ประเมินราคา

ขับรถชนของหลวง ประกันรับผิดชอบ และจ่ายชดเชยไหม

อีกหนึ่งข้อสงสัยที่ผู้ใช้รถอยากรู้ก็คือ หากเกิดชนทรัพย์สินของหลวงเสียหาย ประกันจะสามารถจ่าย
ได้หรือไม่ ?

ซึ่งหากผู้ใช้รถทำประกันเอาไว้ บริษัทประกันสามารถเป็นผู้ชดใช้ในส่วนของค่าเสียหายได้ ทั้งเคลมส่วนของรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย และทรัพย์สินราชการภายนอก หรือของหลวงได้ แต่จะขึ้นอยู่กับวงเงิน และเงื่อนไขในกรมธรรม์ที่กำหนด หากเกินกำหนด เจ้าของรถก็จะต้องรับผิดชอบส่วนที่เหลือเพิ่มเติมด้วยด้วยตนเอง โดยประกันแต่ละประเภท จะมีเงื่อนไขคุ้มครองค่าเสียหายจากการชนของหลวงที่แตกต่างกันดังนี้

  • ประกันรถยนต์ชั้น 1 บริษัทประกันต้องเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของค่าเสียหายทั้งหมด ไม่ว่าจะชนอะไรก็ตาม แต่ขึ้นอยู่กับวงเงิน และสัญญาตามกรมธรรม์ที่ระบุในสัญญา หากเกินกำหนดเจ้าของรถก็จะต้องรับผิดชอบส่วนที่เหลือเพิ่มเติมด้วยด้วยตนเอง
  • ประกันรถยนต์ชั้น 2 บริษัทประกันจะรับผิดชอบเพียงบางส่วน โดยเจ้าของรถที่สร้างความเสียหายต้องรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งภายในสัญญาและกรมธรรม์ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าแต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบส่วนไหน

แต่สำหรับผู้ที่ถือประกันรถยนต์ประเภทอื่น ๆ ที่ประกันภัยไม่คุ้มครอง จะต้องรับผิดชอบทั้งหมด หากเกิดความเสียหาย แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าคุณจะมีประกันชั้นไหนก็ตาม ถ้าในกรณีเมาแล้วขับรถไปชนของหลวง จะถือว่าผิดตามสัญญาที่มีไว้ในกรมธรรม์ ทางบริษัทจะไม่รับผิดชอบในทุกกรณี

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูล และราคาคร่าว ๆ ของทรัพย์สินสาธารณะสมบัติบนท้องถนนหรือของหลวง หากเกิดการขับรถชนจนเสียหาย ซึ่งยังไม่รวมถึงค่ารักษาพยาบาล ค่าปรับ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จะตามมาเป็นหางว่าวหากเจ้าของรถพลาดพลั้งไปชนเข้าไม่ว่าจะเป็นเหตุสุดวิสัย หรือจงใจก็ตาม

สิ่งสำคัญของการขับรถที่ปลอดภัยคือตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท เมาไม่ขับ และควรมีประกันรถยนต์ติดตัวไว้เพื่อช่วยเหลือในตอนเกิดอุบัติเหตุ ลดภาระค่าใช้จ่าย นอกจากนั้นการขับรถอย่างมีสติ ปฏิบัติตามกฎจราจร จะเป็นการลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อย่างดีที่สุด

ขอบคุณข้อมูลจาก : krisdika.go.thpea.co.thdoh.go.th

แหล่งอ้างอิง https://car.kapook.com/view249226.html

M-folw คืออะไร ?

M-Flow คืออะไร ต่างจาก M-Pass/Easy Pass อย่างไร ? พร้อมเปิดใช้งานเต็มรูปแบบ 4 ด่าน 15 ก.พ. นี้

M-Flow ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น พร้อมใช้งานเต็มรูปแบบ 4 ด่าน ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2565

 หลังกรมทางหลวงได้เปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียนและทดลองใช้ระบบ M-Flow ซึ่งเป็นระบบเก็บค่าผ่านทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดรถเพื่อจ่ายเงินและไม่มีไม้กั้น เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง และลดการสัมผัสเงิน ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมานั้น

 ล่าสุด M-Flow พร้อมใช้งานเต็มรูปแบบแล้ว 4 ด่าน ได้แก่ ด่านธัญบุรี 1, ด่านธัญบุรี 2,  ด่านทับช้าง 1 และ ด่านทับช้าง 2 ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2565 เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป

ระบบ M-Flow คืออะไร

ระบบ M-Flow คือ ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น ที่ใช้เทคโนโลยี AI และระบบเทคโนโลยี Video Tolling ในการตรวจจับป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ โดยที่ผู้ใช้งานไม่ต้องชะลอความเร็วเมื่อเข้าสู่ด่านจ่ายเงิน สามารถวิ่งผ่านด่านได้ด้วยความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ไม่เกิน 120 กม./ชม.

ผู้ที่ต้องการใช้งานระบบ M-Flow เพียงลงทะเบียนใช้บริการและวิ่งผ่านด่าน ระบบจะบันทึกข้อมูลไว้ โดยเป็นการวิ่งก่อน-จ่ายทีหลัง รองรับการใช้งานกับรถยนต์ทุกประเภทที่ได้รับอนุญาตให้วิ่งบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือทางพิเศษ ทั้งรถยนต์ 4 ล้อ, รถยนต์ 6 ล้อ และรถยนต์มากกว่า 6 ล้อขึ้นไป ชำระค่าธรรมเนียมผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หลังการใช้บริการ หรือระบบ Post Paid ทั้งแบบชำระเป็นรายครั้งหรือชำระตามรอบบิล รวมไปถึงการชำระผ่านเว็บไซต์หรือโมบายแอปพลิเคชันของระบบ M-Flow ตลอดจนการชำระด้วยระบบ QR Code และการชำระผ่านระบบตัดเงินอัตโนมัติ

ระบบ M-Flow สมัครอย่างไร

สำหรับผู้ที่ต้องการสมัครใช้ระบบ M-Flow สามารถลงทะเบียนสมัครได้ง่าย ๆ ผ่าน 3 ช่องทาง ดังนี้

1.เว็บไซต์ : mflowthai.com

2.แอปพลิเคชัน : MFlowThai

3.ไอดีไลน์ : @mflowthai

เอกสารในการลงทะเบียนสมัคร ระบบ M-Flow

  • หมายเลขโทรศัพท์มือถือสำหรับใช้ในการลงทะเบียน
  • ข้อมูลตามบัตรประจำตัวประชาชน
  • บัตรประชาชนและภาพถ่ายคู่กับบัตรประชาชน
  • รายละเอียดที่อยู่ตามทะเบียนบ้านและที่อยู่ปัจจุบัน
  • ข้อมูลรถ
  • ภาพถ่ายคู่มือจดทะเบียนรถหน้าแรก
  • รูปถ่ายรถด้านหน้ารถ (ด้านข้างและด้านหลังรถ ถ้ามี)

โดยให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล ที่อยู่ติดต่อ อีเมล แจ้งหมายเลขทะเบียนรถที่จะนำมาใช้ และยืนยันตัวตนด้วยหมายเลขโทรศัพท์มือถือ พร้อมแจ้งวิธีการชำระเงิน ว่าจะเลือกชำระเป็นรายครั้งหรือชำระตามรอบบิล และให้เลือกรูปแบบชำระเงินที่ต้องการ

ยังไม่ได้เป็นสมาชิก M-Flow สามารถใช้งานได้ไหม ?

หากยังไม่เป็นสมาชิก M-Flow ก็สามารถใช้งานได้ ด้วยการวิ่งก่อนจ่ายทีหลังภายใน 2 วัน แต่ถ้าเนียนไม่จ่ายจะมีการเสียค่าปรับ ดังนี้

  • หากไม่จ่ายภายใน 2 วัน 

ค่าผ่านทางตามจริง+ค่าปรับ 10 เท่า (30+300 = 300 บาท)

  • หากไม่จ่ายภายใน 12 วัน

ค่าผ่านทางตามจริง+ค่าปรับ 10 เท่า+ปรับเพิ่ม (30+300+200 = 530 บาท) และจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ป้ายทะเบียนแบบไหน ห้ามใช้ M-Flow

  • รถยนต์ที่ป้ายทะเบียนซีดจาง, ดัดแปลง, มีสิ่งบดบัง
  • รถยนต์ป้ายแดง
  • รถยนต์ทดสอบก่อนผลิต (TC) และรถยนต์ทดสอบคุณภาพก่อนจำหน่าย (QC)
  • รถยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน

ระบบ M-Flow ต่างจากระบบ M-Pass/Easy Pass อย่างไร?

ระบบ M-Flow จะมีความต่างจากระบบ M-Pass/Easy Pass ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ดังนี้

ระบบ M-Flow

  • ไม่มีไม้กั้นที่ช่องทางเก็บเงิน
  • ไม่ต้องชะลอความเร็ว ขับรถได้ตามปกติ
  • ใช้เทคโนโลยี Video Tolling ระบบกล้องตรวจจับป้ายทะเบียนอัตโนมัติ
  • ใช้ได้กับรถทุประเภท ที่สามารถวิ่งได้ตามกฎของมอเตอร์เวย์
  • มีรูปแบบและช่องทางชำระเงินที่หลากหลาย วิ่งก่อน จ่ายทีหลัง

ระบบ M-Pass/Easy Pass 

  • มีระบบไม้กั้นที่ช่องทางเก็บเงิน
  • ต้องชะลอความเร็ว หรือจอดรอ และถอยหลัง หากไม้กั้นไม่เปิด
  • ใช้ Tag ติดกับตัวรถเพื่อรับส่งสัญญาณ บางครั้งมีปัญหาไม้กั้นไม่เปิดทำให้รถติด
  • รองรับเฉพาะรถยนต์ 4 ล้อ
  • มีรูปแบบและช่องทางชำระเงินรูปแบบเดียว เติมเงินก่อนล่วงหน้า

ทั้งนี้ M-Flow ถือเป็นระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้นที่สร้างความสะดวกให้กับผู้ใช้ทาง อย่างไรก็ตาม ควรขับขี่ด้วยความไม่ประมาทและปฏิบัติตามกฎจราจร เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองและผู้อื่น

ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก mflowthailand

แหล่งอ้างอิง :https://car.kapook.com/view248171.html

จอดรถขวางบ้านบ้านคนอื่น ผิดกฎหมายไหม ?

จอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น ผิดกฎหมายไหม แจ้งความจับได้หรือเปล่า ? อีกหนึ่งคำถามที่หลายคนสงสัย วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบกัน

การจอดรถขวางหน้าบ้านผู้อื่น ถือเป็นปัญหาที่หลายครั้งนำมาสู่การทะเลาะวิวาท ถึงขนาดขึ้นโรงขึ้นศาล และเป็นเรื่องราวใหญ่โตตามมา จนทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยว่าจริง ๆ แล้วการจอดรถบนถนนขวางบริเวณหน้าบ้านคนอื่นสามารถทำได้หรือไม่ ถ้าจอดไปแล้วเจ้าของบ้านสามารถเอาผิดเจ้าของรถได้หรือเปล่าและผิดกฎหมายข้อไหน

จอดรถขวางหน้าบ้านผิดกฏหมาย อาจโดนทั้งจำทั้งปรับ

หากผู้ใช้รถจอดรถขวางทางเข้า-ออกบ้านของผู้อื่น เจ้าของบ้านที่ถูกรถจอดกีดขวางสามารถแจ้งความเพื่อเอาผิดได้ โดยเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 วรรคสอง ฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญ มีอัตราโทษจำคุก ไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยผู้เสียหายยังสามารถเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง ตามมาตรา 420 และถ้าเป็นที่สาธารณะยังมีโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก เจ้าหน้าที่สามารถออกใบสั่งได้อีกด้วย

ซึ่งตามกฎหมายไทยนั้นได้กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการจอดรถเอาไว้ชัดเจนแล้วว่า ว่าผู้ขับขี่รถยนต์ไม่มีสิทธิ์จอดรถกีดขวางทางเข้า-ออกบ้านผู้อื่น ไม่ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่เอกชนหรือทางสาธารณะ เพราะถือเป็นความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 55 (6) ที่ระบุไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่หยุดรถ

1.ในช่องเดินรถ เว้นแต่หยุดชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถในกรณีที่ไม่มีช่องเดินรถประจำทาง

2.บนทางเท้า

3.บนสะพานหรือในอุโมงค์

4.ในทางร่วมทางแยก

5.ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ

6.ตรงปากทางเข้า-ออกของอาคารหรือทางเดินรถ

7.ในเขตปลอดภัย

8.จอดในลักษณะกีดขวางการจราจร

จอดรถอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย ?

เมื่อรู้แล้วว่าการจอดรถขวางหน้าบ้านผู้อื่นผิดกฎหมาย ทั้งกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก และผิดกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งอาจทำให้มีสิทธิ์ติดคุกได้ ดังนั้นก็ควรทำทุกอย่างให้ถูกต้อง โดยเรามีคำแนะนำเกี่ยวกับการจอดรถที่ถูกกฎหมายมาแนะนำ ซึ่งถ้าทำตามนี้รับรองไม่ถูกจับแน่นอน

  • ห้ามจอดรถบนทางเท้า
  • ห้ามจอดรถบนสะพานหรืออุโมงค์
  • ห้ามจอดรถในทางข้าม หรือระยะ 3 เมตร จากทางข้าม หรือทางม้าลายนี่แหละห้ามจอด
  • ห้ามจอดรถในทางร่วมทางแยก หรือในระยะ 10 เมตร จากทางร่วมทางแยก
  • ห้ามจอดรถในเขตที่มีเครื่องหมายจราจร “ห้ามจอดรถ”
  • ห้ามจอดรถในระยะ 3 เมตร จากท่อน้ำดับเพลิง
  • ห้ามจอดรถในระยะ 15 เมตร จากทางรถไฟผ่าน
  • ห้ามจอดรถในระยะ 15 เมตร จากที่ติดตั้งสัญญาณจราจร
  • ห้ามจอดรถซ้อนคันกับรถอื่นที่จอดอยู่ก่อนแล้ว นอกจากทางห้างจะทำช่องพิเศษไว้ให้ และห้ามดึงเบรกมือ
  • ห้ามจอดรถตรงปากทางเข้า-ออกของบ้าน อาคาร ทางเดินรถ หรือในระยะ 5 เมตร จากปากทางเดินรถ
  • ห้ามจอดรถระหว่างเขตปลอดภัยกับขอบทาง หรือในระยะ 10 เมตร นับจากปลายสุดของเขตปลอดภัยทั้งสองข้าง
  • ห้ามจอดรถในที่คับขัน
  • ห้ามจอดรถในระยะ 15 เมตร ก่อนถึงเครื่องหมายหยุดรถประจำทาง และเลยเครื่องหมายไปอีก 3 เมตร
  • ห้ามจอดรถในลักษณะกีดขวางการจราจร ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม
  • ห้ามจอดรถในระยะ 3 เมตร จากตู้ไปรษณีย์

รู้อย่างนี้แล้วผู้ขับขี่ทุกท่านคงต้องระมัดระวังเรื่องการหาที่จอดรถมากขึ้น อย่าเผลอไปจอดขวางทางเข้า-ออกบ้านใครเข้า เพราะอาจถูกแจ้งความได้ แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องจอดขวางจริง ๆ ควรทิ้งเบอร์ติดต่อไว้ที่หน้ารถ เผื่อมีกรณีฉุกเฉิน เจ้าของบ้านจะได้ติดต่อได้สะดวก

ขอบคุณข้อมูลจาก : moj.go.thkrisdika.go.thmoj.go.thtrafficpolice.go.th

แหล่งอ้างอิง : https://car.kapook.com/view247136.html

ทำไมต้องวางพระไว้หน้ารถ ?

วางพระหน้ารถ ควรหันหน้าไปทางไหน หันหน้าเข้าหรือออก

ความเชื่ออย่างหนึ่งที่อยู่คู่กับชาวพุทธโดยเฉพาะคนที่ต้องขับรถเดินทางไปไหนมาไหน มักกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือเพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนออกเดินทาง บางคนอาจจะยกมือไหว้แม่ย่านาง บางคนอาจจะมีเครื่องรางของขลังพกติดไว้ในรถ รวมถึงบางคนอาจนำพระมาตั้งหรือวางที่หน้ารถ เพื่อให้ท่านช่วยคุ้มครองระหว่างเดินทางอย่างปลอดภัย

แต่การนำพระมาตั้งบูชาที่หน้ารถนั้น ก็ยังมีคนสงสัยว่าจริง ๆ แล้วเราควรตั้งพระให้หันหน้าไปทางไหนกันแน่ ระหว่างหันไปทางด้านหน้าตัวรถ หรือหันเข้ามาภายในตัวรถ และการนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ เข้ามาบูชาในรถควรวางหรือเก็บไว้บริเวณใดไปหาคำตอบกัน

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในรถที่คนนิยมบูชา

1. พระพุทธรูป

ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนส่วนใหญ่มักจะมีติดรถไว้เป็นอันดับต้น ๆ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ปกป้อง และคุ้มครองให้เกิดความแคล้วคลาดปลอดภัยตลอดการเดินทาง

2. แม่ย่านาง

เทพเทวดาที่มีความเชื่อว่าเป็นผู้ที่ปกปักรักษา คุ้มครองยานพาหนะต่าง ๆ เช่น เรือ เครื่องบิน และรถยนต์ ซึ่งผู้ที่มีความเชื่อและเคารพบูชามักจะนำพวงมาลัย ผลไม้ หมากพลู ข้าว และน้ำดื่ม มาถวายตามโอกาสเทศกาลต่าง ๆ

3. วัตถุมงคล ของขลังต่าง ๆ

วัตถุมงคลอื่น ๆ นอกเหนือจากพระที่คนนิยมบูชา ได้แก่ กุมารทอง ผ้ายันต์ และสิ่งของอื่น ๆ ตามความเชื่อของแต่ละบุคคล

การตั้งบูชาวัตถุมงคลภายในรถ

หากใครที่เชื่อในหลักของฮวงจุ้ย การตั้งพระหน้ารถนั้นควรตั้งหันหน้าออกไปทางหน้ารถหรือทิศทางเดียวกับคนขับ ตามความเชื่อคือเพื่อเป็นการเสริมดวง ให้พระได้เห็นในทิศทางเดียวกับเราเพื่อเป็นการปกป้อง คุ้มครองจากภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งตามหลักฮวงจุ้ยการตั้งพระหันหน้าเข้ามาในตัวรถอาจทำให้เกิดความขัดแย้งกับคนรอบตัวได้

สำหรับคนที่ไม่เชื่อเรื่องหลักฮวงจุ้ยการตั้งพระให้หันหน้าเข้ามาในตัวรถก็สามารถทำได้ ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะบางคนอาจรู้สึกสบายใจ มีสติตื่นตัว เป็นเครื่องเตือนใจขณะขับขี่เมื่อได้เห็นด้านหน้าขององค์พระ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่ว่าการไหว้พระเราควรไหว้ต่อหน้าท่าน จึงเป็นเหตุผลหนึ่งในการหันหน้าองค์พระเข้ามาในตัวรถ

ข้อควรระวังในการตั้งพระหรือวัตถุมงคลในรถ

1. เลือกขนาดให้เหมาะสม

หากต้องการที่จะตั้งพระหน้ารถ หรือบูชาวัตุมงคลต่าง ๆ ภายในรถ ควรเลือกขนาดให้เหมาะสม ไม่ใหญ่เกินไปจนบดบังทัศนวิสัยในการมองเห็น เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายขณะขับขี่ได้ 

2. จัดวางในตำแหน่งที่ปลอดภัย

การวางหรือตั้งพระที่หน้ารถนั้นควรวางในตำแหน่งที่ปลอดภัย ไม่ควรตั้งทับบนแอร์แบ๊กหรือถุงลมนิรภัยเพราะหากเกิดอุบัติเหตุ พระที่ตั้งอยู่อาจถูกแรงอัดจากถุงลมนิรภัยกระเด็นมาโดนคนขับหรือผู้โดยสารภายในรถได้ ที่สำคัญควรหาที่ยึด เช่น กาวสองหน้าหรือแผ่นยางกันลื่นมาติดกับองค์พระ เพื่อป้องกันการตกหล่นในขณะที่รถกำลังเคลื่อนที่ หากเป็นแบบแขวนควรเลือกขนาดให้เหมาะสมไม่ใหญ่หรือมีน้ำหนักมากเกินไป เวลารถเลี้ยวจะได้ไม่เหวี่ยงไปกระแทกกับกระจกหน้ารถ

3. ไม่ควรมีจำนวนมากเกินไป

การเชื่อมั่นเคารพบูชาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรานับถือนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่เราไม่ควรนำพระ หรือวัตุมงคลต่าง ๆ เข้ามาไว้ในรถมากจนเกินไป เพราะนอกจากจะทำให้รถดูอึดอัดคับแคบแล้ว ยังเสี่ยงอันตรายหากเกิดอุบัติเหตุ และยิ่งถ้าพระ-วัตถุมงคลต่าง ๆ มีมูลค่าสูง ก็อาจถูกโจรกรรมได้

ทั้งนี้การตั้งบูชาพระหน้ารถ หรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ตามความเชื่อนั้นสามารถทำได้ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว แต่ควรบูชาให้เหมาะสม และที่สำคัญไม่ว่าพระที่เราบูชาจะมีชื่อเสียง หรือบารมีแค่ไหนหากเราขับรถด้วยความประมาท อุบัติเหตุก็สามารถเกิดได้ทุกเมื่อ ดังนั้นควรขับขี่อย่างมีสติ ไม่ประมาท ใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนดก็สามารถช่วยลดอุบัติเหตุได้

แหล่งอ้างอิง : https://car.kapook.com/view250379.html

ไฟหรี่มีไว้ทำไม

หน้าที่หลักของระบบไฟหน้า คือการให้ทัศนวิสัยในการขับขี่ที่ชัดเจนในกรณีที่ภายนอกมีแสงน้อยหรือเข้าสู่ช่วงกลางคืน พร้อมกับแจ้งเตือนทิศทางให้คันข้างหน้าได้ทราบ ซึ่งมีหลายฟังก์ชันให้คุณได้ใช้งานเพื่อช่วยเหลือเจ้าของรถและผู้โดยสารในสถานการณ์ต่าง ๆ และหนึ่งในนั้นคือ ไฟหรี่ ที่หลายคนอาจเคยได้ยิน แต่น้อยคนที่จะใช้งานเป็น ดังนั้นเพื่อเป็นการคลายข้อสงสัยว่า ไฟหรี่รถยนต์ คืออะไร และมีไว้ทำไม เราไปทำความรู้จักพร้อม ๆ กันเลย 

ไฟหรี่รถยนต์ คืออะไร

ไฟหรี่รถยนต์ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Sidelights จะเป็นไฟขนาดเล็กที่อยู่ด้านข้างไฟหน้า โดยหน้าที่ของมันคือการเพิ่มทัศนวิสัยในการมองเห็นพื้นที่ที่มีไฟน้อย แต่ไม่ต้องการใช้แสงที่สว่างมาก เช่น การขับรถในอุโมงค์ หรือการค้นหาที่จอดรถในลานจอดรถ หรือต้องการเปิดไว้เพื่อบอกให้รถคันอื่นทราบว่ามีรถจอดอยู่ เป็นต้น สำหรับไฟหรี่รถยนต์จะต้องใช้ไฟสีขาวหรือสีเหลืองเท่านั้น และต้องเหมือนกันทั้ง 2 ข้าง หากเป็นสีอื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ถือว่าผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ที่มีการแก้ไขดัดแปลงโคมไฟหน้าให้เป็นแสงสีอื่น หรือดัดแปลงอุปกรณ์ส่วนควบเพิ่มเติมส่วนหนึ่งส่วนใดเข้าไป ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

ไฟหรี่รถยนต์มีประโยชน์อย่างไร

เนื่องจากเป็นไฟที่มีกำลังต่ำ ช่วยควบคุมปริมาณแสงไฟไม่ให้สว่างมากเกินไป ซึ่งทำให้คุณสามารถมองเห็นพื้นที่ระยะใกล้ได้ดีกว่าการใช้ไฟหน้าหรือไฟสูงเพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นยังไม่เป็นการรบกวนผู้สัญจรคนอื่น หรือคนในชุมชนที่กำลังพักผ่อนในเวลากลางคืน โดยเฉพาะการเปิดไฟหรี่เพื่อส่องประตูหน้าบ้าน หรือส่องกะระยะจอดรถในที่มืดหรือโรงรถ 

อีกทั้งเมื่อขับรถบนท้องถนนที่มีมากกว่า 2 เลน หากรถคุณไม่มีเทคโนโลยีปรับไฟสูง-ต่ำอัตโนมัติ หรือ Auto High Beam การใช้ไฟหรี่จะช่วยให้ไม่รบกวนรถที่อยู่ด้านหน้า หรือรถที่วิ่งสวนทางมา เนื่องจากให้ความสว่างที่เพียงพอ รวมถึงยังมีประโยชน์ใช้เป็นชุดสำรองเมื่อชุดไฟหลักขาด

ในบางประเทศได้มีการกำหนดเป็นข้อกฎหมายของการเปิดไฟหรี่รถยนต์ อาทิ ในสหราชอาณาจักร ผู้ใช้รถต้องเปิดไฟหรี่เมื่อขับด้วยความเร็วไม่เกิน 30 ไมล์/ชม. หรือราว 48 กม./ชม. หากฝ่าฝืนจะมีความผิดฐานละเมิดระเบียบข้อบังคับด้านแสงสว่างสำหรับยานพาหนะบนถนน ปี 1989 ซึ่งจะต้องเสียค่าปรับตั้งแต่ 35-75 ปอนด์ หรือ 1,500-3,300 บาท

ไฟหรี่รถยนต์ ต่างจากไฟส่องกลางวันอย่างไร

ไฟหรี่จะช่วยเพิ่มระยะการมองเห็น และสามารถมอบทัศนวิสัยในการมองได้ในทุกสภาวะโดยไม่ต้องเปิด-ปิดไฟบ่อย ๆ เช่น เจอฝุ่นควัน หรือเมฆบังแดด แต่อาจจะส่งผลให้ลดอายุขัยของหลอดไฟได้ หรือกินพลังงานจนแบตเตอรี่หมดไว จึงทำให้ผู้ผลิตได้พัฒนาไฟส่องกลางวัน หรือ Daytime Running Light (DRLs) โดยใช้หลอด LED ที่นอกจากช่วยเพิ่มการมองเห็นในการขับขี่เวลากลางวันแล้ว ยังทำให้รถคุณดูดีอีกด้วย ซึ่งความแตกต่างของไฟ Daytime Running Light กับไฟหรี่ นอกจากจะเป็นในส่วนของรูปทรงแล้ว ความสว่างก็ยังแตกต่างกันด้วย โดยไฟ Daytime Running Light จะส่องสว่างมากกว่าไฟหรี่

แม้ในปัจจุบันการพัฒนารถใหม่ได้ให้ความสำคัญแก่ระบบโคมไฟหน้า ไฟตัดหมอก และไฟท้ายที่ทันสมัย ปรับความเข้มของแสงได้หลากหลาย หรือไฟหน้ารถบางรุ่นสามารถทำงานได้หลากรูปแบบตามโหมดระบบส่องสว่าง หรือสามารถหันได้ตามองศาการเลี้ยว แน่นอนว่าก็มีโหมดไฟหรี่รถยนต์ที่ผู้ใช้รถสามารถปรับเลือกได้ หรือหากใครที่ใช้รถรุ่นเก่าที่ไม่มีเทคโนโลยีมากมายนัก การใช้ไฟหรี่ก็เป็นการช่วยอำนวยความสะดวกในระหว่างขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้มองเห็นเส้นทาง และระหว่างจอดรถก็ช่วยสร้างความปลอดภัยได้ในหลากหลายสถานการณ์ อีกทั้งยังจะเป็นไฟสำรองได้ในกรณีที่ไฟหลักของรถขาด 

แต่เหนือสิ่งอื่นใด การศึกษาคู่มือรถยนต์เพื่อให้ได้รู้จักหน้าที่ของระบบไฟแต่ละชนิด และหมั่นใช้งานจริงอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะช่วยเพิ่มความอุ่นใจในการใช้รถใช้ถนนแล้ว ยังทำให้ชีวิตคุณง่ายขึ้นอีกเยอะเลยครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก : autobulbsdirect.co.ukpowerbulbs.comrac.co.ukdlt.go.thkrisdika.go.th

แหล่งอ้างอิง : https://car.kapook.com/view250379.html

ล้างรถอย่างถูกวิธีทำไงนะ

ทุกวันนี้กิจการหนึ่งที่เราเห็นผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ดทุกวันคงไม่พ้นกิจการร้านล้างรถ ที่ทำให้ชาวคนรักรถหลายคนแวะเวียนไปขัดสีฉวีวรรณรถของตัวเอง แต่แม้มันจะง่ายและได้เสียเงินกัน ทว่า บางครั้งเราก็ควรจะล้างรถด้วยตนเองด้วย และมันอาจจะทำให้เราเรียนรู้อะไรบางอย่างเกี่ยวกับรถของเราไปพร้อมกันด้วย
การล้างรถ ฟังดูก็เป็นเรื่องง่ายๆ แค่สายยาง น้ำ และแชมพูก็น่าจะสิ้นเรื่องแล้ว แต่ความจริง การที่ธุรกิจล้างรถผุดขึ้นมานั้น ก็เนื่องจากเรื่องง่ายอาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะเรื่องสำคัญของการล้างรถคือการใส่ใจในรายละเอียด และถ้าวันนี้ใครยังไม่เคยรู้ว่าการล้างรถจริงๆควรจะทำอย่างไร วันนี้เราจะมาเรียนรู้การล้างรถอย่างถูกวิธีกัน

1.ฉีดน้ำมือถู ..เรื่องที่ควรทำก่อนเริ่มกระบวนการ หลายคนที่เคยไปตามร้านล้างรถคงจะพอรู้ขั้นตอนการล้างรถดี แล้วมันก็เริ่มจากการฉีดน้ำลงบนตัวรถ ซึ่งการฉีดน้ำไม่ได้มีเหตุผลในการเตรียมลงน้ำยามแชมพูล้างรถ แต่คือการขจัดคราบดิน ฝุ่น และ สิ่งสกปรกอื่นๆ ออกจากรถก่อนที่จะลงมือปฏิบัติการ ซึ่งตามร้านเหล่านั้นจะมีเครื่องปั้มน้ำแรงดันสูง ทำให้แค่เพียงฉีดคราบสกปรกก็หายไป แต่ถ้าเราที่บ้านน้ำที่ไม่แรงมาก ทำให้เราควรจะใช้มือถูตามไปกับการราดน้ำพร้อมกัน ซึ่งขั้นตอนนี้จะเป็นการขัดฝุ่นและคราบสกปรกก่อน ในส่วนใดที่มีคราบเกาะติดแน่นให้ใช้การฉีดน้ำร่วมแล้วนำมือถูด้วย

2.รู้จักแชมพูที่จะใช้ อันที่จริงถ้ารถคุณไม่ได้สกปรกมาก จากขึ้นตอนแรกจะพบว่า สีรถจะสวยขึ้นมาทันตาเห็น แน่นอนว่าการล้างรถด้วยน้ำเปล่าอย่างเดียวก็สามารถทำให้สะอาดได้ และไม่กินเวลามากนัก แต่อย่าใช้วิธีการนำผ้าชุบน้ำเช็ดรถเด็ดขาดเพราะจะทำให้เกิดรอยขนแมวตามมา (รอยขนแมวคือ รอยขีดข่วนที่เกิดขึ้นบนผิวแลกเกอร์ของตัวรถ ทำให้เป็นรอยเล็กๆเยอะๆ เมื่อส่องไฟ) แม้เราจะบอกว่าน้ำสะอาดก็พอแต่การที่เราจะล้างรถได้หมดจด โดยเฉพาะคราบฝุ่นที่มองไม่เห็นด้วยเปล่านั้น ต้องอาศัย น้ำยาล้างรถ ซึ่งปัจจุบันมี 2 แบบที่นิยมกัน คือ แชมพูและโฟม ซึ่งมีจุดประสงค์เดียวกัน ขจัดคราบเหมือนกัน แต่ต้องเข้าใจก่อน

แชมพู – เชื่อว่าหลายคนคงจะรู้จักแชมพูล้างรถเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ยี่ห้อที่หลากหลายออพชั่นที่ผสมแว็กมากมาย สรุปสุดท้ายก็เหมือนกันอยู่ดี คือมันมีหน้าที่ ในการขจัดคราบเป็นสำคัญ แชมพูล้างรถก็ไม่ต่างอะไรจากแชมพูสระผมนัก แต่อย่าเข้าใจผิดว่าใช้แทนกันได้ …นะครับ แชมพูสระผมจะขจัดคราบดีเมื่อเทลงไปบนหัว แต่กลับกันตัวแชมพูล้างรถจะต้องผสมน้ำก่อนในอัตราส่วนที่กำหนดแล้วแต่ยี่ห้อ ซึ่งการใช้งานก็คือจุ่มทั้งฟองและน้ำยาถูไปบนตัวรถเลย สิ่งที่ต่างคือตัวน้ำยาจะมีความลื่นนั่นเอง แต่เหล่าโปรล้างรถบอกว่าแชมพูจะให้รายละเอียดสู้โฟมไม่ได้ แต่ก็พอใช้ได้ถ้าล้างเอง

โฟม – ในช่วงหลายปีมานี้โฟม ถูกพูดถึงมาก เราเห็นร้านล้างรถติดป้ายกันประจำ ทว่าอันที่จริงโฟมนั้น คือฟองที่เกิดจากการใช้หัวเชื้อผสมลงไปแล้ว แล้วนำเอาฟองโฟมมาใช้ในการทำความสะอาดรถ ซึ่งปัจจุบันมีน้ำยาล้างรถบางยี่ห้อทำออกมาในแบบเดียวกัน สำหรับคนที่ชอบล้างรถเอง

การใช้โฟมล้างรถนั้นมีข้อดีที่ฟองโฟมที่มีคุณภาพจะให้เนื้อฟองที่แน่นและละเอียด ทำให้ขจัดคราบได้ดีกว่าแชมพู แต่แน่นอนการใช้โฟมล้างรถ คือการใช้ฟอง ขจัดคราบสกปรกเป็นสำคัญ

3.ถูอย่างระวังเมื่อเลือกน้ำยาล้างรถได้ และจัดการผสมตามสัดส่วนแล้ว ขั้นตอนที่สำคัญต่อมาคือการถูอย่างระมัดระวัง การถูกแชมพูหรือโฟมนั้นต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก และจุดประสงค์มันคือการกระจายน้ำยาให้ทั่วบริเวณ ซึ่งหากเป็นไปได้อาจจะใช้ผ้า หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ให้หาซื้อฟองน้ำอย่างดี ราคาแพงเล็กน้อยแต่ใช้ยาว

หลายคนมักเข้าใจผิดว่าการลงน้ำยาคือการถูเพื่อขจัดคราบสกปรก ทั้งที่จริงๆ เราใช้น้ำยาและน้ำเป็นตัวช่วยขจัดคราบ ซึ่งตรงนี้ไม่ต้องถูแรงมากนัก แค่ถูธรรมดาเท่านั้น และเช่นเดิม ควรเริ่มจากหลังคาก่อน เพราะเป็นจุดสูงที่สุดของตัวรถ จากนั้นไล่ลงมาที่บอดี้ของตัวรถ แล้วค่อยเก็บรายละเอียดเล็กๆที่เหลือ เช่นซอกมุมต่างๆ

4.อย่าทิ้งนาน หลายครั้งที่การล้างรถของเราที่บ้านทำคนเดียว แน่นอนว่ารถ 1 คัน จะลงน้ำยาเสร็จทั้งคันคนเดียวก็ใช้เวลานานอยู่ แต่หากคุณต้องทำคนเดียว ควรจะเลือกลงน้ำยาและล้างไปเป็นส่วนๆ เพื่อลดการที่นำยาจับตัวเป็นคราบแห้ง และ เมื่อล้างไปตามส่วนอื่นๆ อย่าลืมฉีดน้ำในส่วนที่ทำความสะอาดแล้วด้วย เพื่อไม่ให้ก่อตัวเป็นคราบน้ำ ก่อนที่เราจะเช็ดแห้ง

5.เช็ดแห้ง..จุดตกม้าตายของหลายคนมาถึงตรงนี้ในที่สุดเราก็มาถึงขั้นสุดท้ายของการล้างสีรถภายนอกแล้ว หลายคนมักคิดว่าการล้างรถง่ายนิดเดียว แต่ท้ายที่สุดเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเช็ดแห้งคือการชีชะตาผมงานว่าจะออกมาหมู่หรือจ่า กัน

การเช็ดแห้งนั้น ควรใช้ผ้าที่มืเนื้อนุ่มซับน้ำง่าย หากงบน้อยแนะนำผ้าสำลี หรือมีงบเพิ่มขึ้นมาหันไปคบผ้าไมโคไฟเบอร์สังเคราะห์ หรือ ชาร์มัวร์สังเคราะห์ ทว่าก็ต้องมีหลายผืนหน่อยเพราะผ้ามักจะอุ้มน้ำ แต่ถ้าดีที่สุดต้องเป็นผ้าชามัวร์ เนื่องจากสามารถซับน้ำได้ดีเร็ว และ ทำให้ลดเวลาในการเช็ดได้มากและไม่ค่อยเกิดเป็นคราบน้ำ ที่สำคัญควรมีผ้า 2 ผืนเพื่อเช็ด แล้วเช็ดแห้งตามทันที

การเช็ดแห้งควรเริ่มทำทันทีหลังจากล้างคราบน้ำยางล้างรถออก ให้เริ่มจากบนลงล่างเช่นเดิม โดยการเช็ดควรดูเช็ดให้รายละเอียด ให้ใช้เวลานานในการเช็ด ที่สำคัญห้ามลืมในการใส่รายละเอียดตามซอกประตู ฝาถังน้ำมัน ซึ่งน้ำจะเข้าไปซุกและเป็นคราบได้ในท้ายที่สุด

แม้จะเป็นเรื่องที่ฟังแล้วไม่ยากแต่การล้างรถนั้น สิ่งสำคัญคือการใส่ใจในรายละเอียดการล้างรถ ซึ่งการล้างรถที่ดีนั้นต้องใช้เวลากับมันพอสมควร เพื่อขจัดคราบสกปรกได้อย่างหมดจดจริงๆ

ขอบคุณเนื้อหาจาก auto.sanook.com

แหล่งอ้างอิง : https://www.107motor.com/17042227/%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B0

เมื่อไหร่ควรเปลี่ยนยาง

ยางรถยนต์ไม่ได้หมดอายุจากการสึกของดอกยางเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้ยางหมดอายุได้ โดยแบ่งเป็น 6 ลักษณะ คือ ดอกหมด ไม่เกาะ เนื้อแข็ง โครงสร้างกระด้าง เสียงดัง หรือแก้มบวม ถ้าเกิดขึ้นเพียงลักษณะเดียวหรือควบคู่กัน ก็ถือว่ายางนั้นหมดอายุ การเปลี่ยนยาง ควรเปลี่ยนพร้อมกันทั้ง 4 เส้น เพราะยางผ่านการใช้งานมาเท่ากัน ย่อมมีการสึกหรอและสภาพภายในที่ใกล้เคียงกัน โดยควรเลือกใช้ยางรุ่น และขนาดเดียวกันทั้ง 4 ล้อ
สาเหตุของการหมดอายุของยาง
ดอกหมด – ถ้ายางดอกหมด หรือร่องยางเหลือตื้นมาก แต่ส่วนประกอบของยางเส้นนั้นยังดีอยู่ ก็ยังสามารถใช้บนถนนเรียบ และแห้งได้ และจะเกาะถนนแห้งดีกว่ายางมีดอกที่มีความกว้างเท่ากัน เพราะมีพื้นที่สัมผัสถนนมากกว่า ส่วนร่องยางมีหน้าที่ในการรีดน้ำ ฝุ่น และโคลนเป็นหลัก ยิ่งร่องตื้น หน้าสัมผัสของดอกยางก็ยิ่งมาก เพราะร่องยางส่วนใหญ่เป็นทรงกึ่งตัววี – V แต่รถยนต์ที่ขับใช้งานทั่วไป ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าเมื่อไรจะเจอถนนเปียก เมื่อยางดอกหมดหรือหรือมีความลึกต่ำกว่าที่กำหนด ก็ควรเปลี่ยนชุดใหม่

เนื้อแข็ง – ตามพื้นฐานของผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยาง ที่เมื่อถูกความร้อน (ที่ไม่ร้อนจัดถึงขั้นละลาย) ก็จะค่อย ๆ แข็งขึ้น ยางรถยนต์ส่วนใหญ่ เมื่อใช้งานไประยะหนึ่ง และได้รับความร้อนจากสภาพอากาศ พื้นถนน และการบิดตัวของยางเอง ซึ่งเกิดขึ้นตลอดการหมุน เนื้อยางก็จะแข็งขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเนื้อยางเริ่มแข็งขึ้น การสึกของดอกยางก็จะช้าลง มองดูแล้วเห็นว่าร่องยางยังลึกอยู่ แต่แรงเสียดทานระหว่างดอกยางกับผิวถนนจะมีน้อยลง และโครงสร้างภายในของยางก็เสื่อมสภาพลงด้วย หากเปรียบเทียบอัตราการสึกของดอกยางต่อระยะทาง เมื่อผ่านการใช้งานไปแล้ว แทบไม่มียางรุ่นไหนที่ดอกสึกเร็วขึ้น ส่วนใหญ่มักจะสึกช้าลงหรือแทบไม่สึกเลยเมื่อเนื้อยางแข็งกระด้างเต็มที่ ทดสอบง่าย ๆ โดยใช้เล็บจิกลงบนเนื้อของหน้ายาง เปรียบเทียบกับยางใหม่ ๆ ที่สามารถจิกลงไปในเนื้อยางได้ง่าย และลึกกว่า หากดอกยางยังไม่หมด เฉลี่ยคร่าว ๆ ว่า เมื่อเกิน 3 ปี หรือเกิน 50,000 กิโลเมตร หากต้องการใช้งานต่อ ต้องหมั่นตรวจสอบสภาพอย่างสม่ำเสมอ และควรหลักเลี่ยงยางเก่าเก็บ เพราะจะทำให้ระยะเวลาในการใช้ยางสั้นลงกว่า 3 ปี

เสียงดัง – เป็นผลต่อเนื่องมาจากการแข็งตัวของเนื้อยาง ทำให้ขาดความยืดหยุ่น ลื่น และเกิดเสียงดังขึ้นขณะขับ โดยเฉพาะยางที่มีดอกขนาดใหญ่ และร่องยางห่าง ซึ่งปกติก็มีเสียงดังอยู่แล้ว เมื่อผ่านการใช้งานไปนาน ๆ ก็จะมีเสียงดังมากขึ้น

แก้มบวม – มักเกิดจากการหมดอายุของโครงสร้างภายใน หรือการกระแทกอย่างรุนแรง เช่น การขับตกหลุมหรือเบียดเข้าขอบทางเท้า จนโครงสร้างภายในบริเวณแก้มยางแตกหักเสียหาย บริเวณแก้มยางจะป่องออกมาคล้ายลูกมะนาว ซึ่งมีอันตรายมากอาจถึงขั้นยางระเบิด โดยเฉพาะถ้าเกิดขึ้นบริเวณแก้มยางด้านใน ซึ่งสังเกตได้ยาก


ดังนั้น จึงมีข้อควรจำก็คือ หากตกหลุมหรือกระแทกอะไรแรง ๆ ควรรีบตรวจสอบยางเส้นนั้นอย่างละเอียดทั้ง 2 ด้าน ถ้าพบว่ามีการบวม ควรเปลี่ยนยางเส้นใหม่ทันที

เกร็ดการยืดอายุยาง
1. ตรวจสอบหน้ายางและแก้มยางว่ามีความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้นหรือไม่ เช่น รอยบาด การบวม การแตกลายงาในทุกส่วนของยาง หากเกิดการชนหรือบาดกับของมีคมหรือเศษวัสดุก่อสร้างบนท้องถนนที่แก้มยางจนถึงชั้นผ้าใบ ควรเปลี่ยนใหม่ ไม่ควรซ่อม เพราะแก้มยางคือจุดที่ต้องรับน้ำหนัก และมีการบิดตัวไปมาขณะรถยนต์ขับเคลื่อน อาจเกิดการระเบิดได้หากมีการฉีกขาด

2. น้ำมันทุกชนิดมีผลทำให้ยางบวมหรือร่อน ควรหลีกเลี่ยงการจอดหรือขับทับน้ำมัน หรือหากมีน้ำกรดโดนยาง ควรล้างออกด้วยน้ำสบู่เท่านั้น เพราะมีค่าเป็นด่าง

3. ตรวจสอบสภาพของกระทะล้อ และวาล์วเติมลมเป็นประจำ เพราะบ่อยครั้ง การแบนหรือรั่วซึมมาจาก 2 จุดนี้ ไม่ได้เกิดจากตัวยาง และควรมีฝาปิดจุกเติมลมให้มิดชิด

4. เมื่อรถเสีย และถูกลากเป็นระยะทางไกล ๆ (สำหรับรถขับเคลื่อนล้อหน้า) ควรเพิ่มแรงดันลมยางที่ล้อหลังอีก 3-4 ปอนด์/ตารางนิ้ว

5. การเข้าโค้งอย่างรุนแรง หรือการออกตัวแบบกระชากกระชั้น ทำให้ยางสึกเร็วกว่าปกติ

6. ตรวจสอบความลึกของดอกยางว่าถึงระดับที่ควรเปลี่ยนหรือยัง ซึ่งความลึกของร่องยางที่เหมาะสม ควรมากกว่า 2 มม. โดยยางเกือบทุกรุ่นจะมีสัญลักษณ์บอกระดับความลึกของดอกบาง เป็นแท่งเชื่อมระหว่างดอกยางบริเวณส่วนลึกสุดของร่องยาง (ไม่ใช่ทุกร่อง) เมื่อไรที่ดอกยางสึกจนถึงแท่งนี้ แสดงว่าควรเปลี่ยนยางเส้นใหม่

อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาองค์ประกอบอื่นของยางควบคู่ไปด้วย เช่น สภาพของเนื้อยางมีการบวม หรือแตก เพราะยางบางเส้นอาจหมดอายุการใช้งาน เนื่องจากสภาพของเนื้อยาง แม้ดอกยางยังมีความลึกมากกว่า 2 มม. ก็ตาม

7. ควรแคะก้อนกรวดที่ค้างอยู่ในร่องยางออกให้หมด เพราะสิ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ เบียดลงไปจนทำให้ทิ่มตำเนื้อยางได้

การรับน้ำหนัก และความเร็วของยาง
นอกจากการขับขี่อย่างระมัดระวัง และดูแลรักษาที่ถูกวิธีแล้ว การเลือกยางให้เหมาะสมกับการใช้งาน โดยเฉพาะในเรื่องของน้ำหนักบรรทุก และข้อจำกัดความเร็วของยางแต่ละเส้น ให้เหมาะสม ก็มีส่วนในการยืดอายุการใช้งาน เหนือสิ่งอื่นใด ยังหมายถึงความปลอดภัยของชีวิตด้วย

บนแก้มของยางแต่ละเส้นนั้น จะมีตัวเลข 1 คู่ และตามด้วยตัวอักษร ซึ่งจะบ่งบอกว่า ยางเส้นนี้ รับน้ำหนักบรรทุกสูงสุด และความเร็วสูงสุดได้แค่ไหน ยกตัวอย่าง เช่น 87V ตัวเลข 2 หลักหมายถึง ดัชนีน้ำหนักบรรทุกของยางเส้นนั้น หรือ LOAD INDEX มีหน่วยเป็นกิโลกรัม ซึ่งต้องอาศัยตารางในการเปรียบเทียบ ตัวอักษรภาษาอังกฤษ ตามตัวอย่างก็คือ V เป็นสัญลักษณ์ความเร็ว หรือ SPEED SYMBOL หมายถึ ง ความเร็วสูงสุดที่ยางเส้นนั้นรับได้ มีหน่วยเป็นกิโลเมตร/ชั่วโมง ไม่ควรใช้ความเร็วสูงสุดเกินกว่าที่ยางรับได้ และถ้ายางผ่านการใช้งานมานาน ก็ไม่ควรขับถึงหรือใกล้ความเร็วสูงสุดที่ยางเส้นนั้นรับได้ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุระเบิดได้

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก car4ur.com

แหล่งอ้างอิง : https://www.107motor.com/17012795/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%87

check-credit