เฉลิมชัย รถบ้าน

ที่สุดด้านคุณภาพและบริการ ต้องเฉลิมชัย รถบ้าน
โทร : 096-242-8639 เปิดทำการทุกวัน
110/4 หมู่ 1 ต.หนองยาว อ.เมือง จ.สระบุรี

ข่าวสารยานยนต์

ใบขับขี่ตลอดชีพหาย ทำอย่างไร ต้องสอบใหม่หรือเปล่า

ใบขับขี่ตลอดชีพหาย ต้องอบรมใบขับขี่ สอบใบขับขี่ใหม่หรือไม่ เมื่อไปทำใหม่จะได้ใบขับขี่ตลอดชีพเหมือนเดิมหรือเปล่า ไปหาคำตอบกัน !

ก่อนที่จะขับรถยนต์ หรือรถมอเตอร์ไซค์ สิ่งแรกที่ทุกคนต้องมีก่อนจะออกถนนใหญ่นั่นก็คือ ใบขับขี่ หรือใบอนุญาตขับรถ เอกสารที่กรมการขนส่งทางบกออกให้กับบุคคลหนึ่งเพื่อเป็นหลักฐานว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติผ่านการทดสอบสมรรรถภาพร่างกาย ทดสอบความรู้ และผ่านการอบรมเกี่ยวกับกฎหมายจราจร รวมถึงมารยาทการใช้รถใช้ถนนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ใบขับขี่ หรือใบอนุญาตขับรถนั้น ปัจจุบันมีอยู่หลายแบบด้วยกัน สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ใบขับขี่ มีกี่ประเภท ? ส่วนใครที่ไม่เคยมีใบขับขี่มาก่อน เมื่อทำใบขับขี่หรือสอบใบขับขี่ครั้งแรกจะได้รับ ใบขับขี่ส่วนบุคคลชนิดชั่วคราว ซึ่งจะมีอายุการใช้งาน 2 ปี และเมื่อถึงกำหนดการต่ออายุใบขับขี่จะได้รับ ใบขับขี่ส่วนบุคคลชนิด 5 ปี และเมื่อครบกำหนดต่ออายุก็จะได้รับใบขับขี่ส่วนบุคคลชนิด 5 ปี เช่นเดิม แต่ก็มีใบขับขี่ชนิดหนึ่งที่ไม่ต้องกังวลเรื่องของวันหมดอายุ หรือต้องคอยมาต่ออายุ นั่นก็คือ ใบขับขี่ตลอดชีพ

ใบขับขี่ตลอดชีพ คืออะไร

ใบขับขี่ตลอดชีพ คือ ใบอนุญาตขับรถชนิดหนึ่งที่ไม่มีกำหนดวันหมดอายุ หรือต้องคอยต่ออายุใบขับขี่ใหม่ ซึ่งปัจจุบันใบขับขี่ตลอดชีพถูกยกเลิกการขอใช้งานใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังมีการประกาศพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2546 ยกเลิกการออกใบขับขี่ตลอดชีพ เปลี่ยนมากำหนดอายุใบขับขี่เป็นชนิดบุคคล 5 ปีแทน และทุกครั้งที่หมดอายุต้องมาทดสอบสมรรถภาพร่างกายเพื่อต่ออายุใบขับขี่

ใบขับขี่ตลอดชีพหาย ทําอย่างไร ?

หากใบขับขี่ตลอดชีพหายสามารถติดต่อขอทำใหม่ได้เลยโดยไม่ต้องไปแจ้งความ เนื่องจากปัจจุบันสามารถเข้าไปเขียนคำร้องขอทำใบขับขี่ใหม่ได้ที่กรมการขนส่งทางบกทุกแห่งทั่วประเทศ ซึ่งผู้ที่ทำใบขับขี่ตลอดชีพหายและต้องการขอใบขับขี่ใหม่ ต้องดำเนินการจองคิวเข้ารับบริการผ่านแอปพลิเคชัน DLT Smart Queue หรือทำการจองทางเว็บไซต์ gecc.dlt.go.th ของกรมการขนส่งทางบก และเดินทางไปยังสำนักงานขนส่งตามวันและเวลาที่เลือกไว้

ใบขับขี่ตลอดชีพหาย ต้องสอบใหม่หรือไม่ ?

ผู้ที่มีใบขับขี่ตลอดชีพหากทำหายและต้องการขอใบขับขี่ใหม่ จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับการอบรม ทดสอบร่างกาย สอบข้อเขียน และสอบปฏิบัติ โดยสามารถจองคิวเข้ารับบริการ เขียนคำร้อง และทำบัตรใบใหม่ได้ทันที

ใบขับขี่ตลอดชีพหาย เมื่อทำใหม่จะได้ใบขับขี่ชนิดไหน ?

หากใบขับขี่ตลอดชีพหาย ชำรุด หรือต้องการเปลี่ยนจากแบบกระดาษเป็นแบบสมาร์ตการ์ด เมื่อติดต่อขอทำใบขับขี่ใหม่ก็จะได้รับใบขับขี่ตลอดชีพเช่นเดิม

ใบขับขี่ตลอดชีพหาย ขอใบใหม่ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ?

เอกสารที่ใช้ขอใบขับขี่ตลอดชีพใหม่กรณีสูญหาย จะใช้เพียงแค่บัตรประจำตัวประชาชนเท่านั้น ไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ แต่ถ้าเป็นในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนใบขับขี่ตลอดชีพแบบกระดาษเป็นแบบสมาร์ตการ์ด จะใช้บัตรประจำตัวประชาชนและใบขับขี่ตลอดชีพใบเดิม

อย่างไรก็ตาม ใบขับขี่ไมว่าจะเป็นชนิดไหนก็มีความสำคัญไม่ต่างกัน ผู้ที่ต้องขับรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ หรือรถชนิดอื่น ๆ ควรทำใบขับขี่ สอบใบขับขี่ให้ถูกต้อง และควรพกติดตัวไว้เสมอ หรือใครกลัวลืมก็สามารถทำใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ผ่านแอปพลิเคชัน DLT QR Licence ได้ง่าย ๆ ตามขั้นตอนที่นี่เลย : ใบขับขี่อิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร มีขั้นตอนและวิธีใช้งานยังไงบ้าง

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมการขนส่งทางบก

แหล่งอ้างอิง https://car.kapook.com/view255912.html

เกียร์ CVT คืออะไร ต่างจากเกียร์อัตโนมัติปกติอย่างไร

เพราะปัจจุบันรถยนต์รุ่นใหม่หลายรุ่นเริ่มเปลี่ยนมาใช้เกียร์อัตโนมัติแบบ CVT กันมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้หลายคนสงสัยว่าเกียร์ CVT คืออะไร และถ้าหากใครยังไม่ทราบเราจะพาไปทำความรู้จักกับเกียร์ CVT ว่าแตกต่างจากเกียร์อัตโนมัติแบบเดิมมากน้อยแค่ไหน รวมถึงต้องการการดูแลเป็นพิเศษหรือเปล่า

เกียร์ CVT คืออะไร

เกียร์ CVT หรือ Continuously Variable Transmission คือ เกียร์อัตโนมัติรูปแบบหนึ่งที่มีอัตราทดแปรผันตามความเร็ว และแม้ว่าเกียร์ CVT เพิ่งจะได้รับความนิยมเมื่อไม่นานมานี้ แต่แนวคิดของเกียร์ CVT ปรากฏขึ้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1490 โดย Leonardo DaVinci และมีการจดสิทธิบัตรอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1886 โดยผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์หรูยี่ห้อหนึ่ง ก่อนจะเริ่มได้รับความนิยมในช่วงหลัง โดยเฉพาะกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็กและขนาดกลาง

โดยหลักการทำงานของเกียร์ CVT หลัก ๆ จะประกอบด้วย รอก หรือพูลเลย์ (Pulley) 2 ตัว คือ พูลเลย์ขับ (Drive Pulley) ที่ต่อจากเครื่องยนต์ และพูลเลย์ตาม (Driven Pulley) ที่ต่อเข้ากับชุดเพลาขับ โดยมีสายพานโซ่ (Steel Belt) ลักษณะการทำงานคล้ายกับจานโซ่จักรยานทั่วไปที่ไม่มีเกียร์ เพียงแต่แกนพูลเลย์ทั้ง 2 ตัวของระบบ CVT นั้นสามารถขยับถอยเข้า-ออกได้ เพื่อลดหรือเพิ่มขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของวงสายพานแต่ละด้านสำหรับเปลี่ยนแปลงอัตราทดแทนชุดเฟืองเกียร์ในเกียร์อัตโนมัติปกติ

ข้อดีของเกียร์ CVT

เนื่องจากเกียร์อัตโนมัติแบบ CVT ที่ใช้พูลเลย์ 2 ตัว สามารถขยายขนาดศูนย์กลางของแกนซึ่งเชื่อมต่อโดยสายพานโซ่ในการปรับอัตราทดตามความเร็วแทนชุดเฟืองเกียร์ได้อย่างต่อเนื่องแบบไม่สะดุด จึงทำงานได้ราบรื่นไร้รอยต่อ (เนื่องจากไม่ต้องเปลี่ยนชุดเกียร์เป็นช่วง ๆ ตามความเร็วรถ) และสูญเสียกำลังน้อยกว่า ประหยัดเชื้อเพลิงมากขึ้น

นอกจากนี้ ชุดเกียร์ CVT ยังมีขนาดกะทัดรัดเมื่อเทียบกับเกียร์อัตโนมัติแบบปกติ เพราะชิ้นส่วนน้อย ทำให้ใช้พื้นที่ในการติดตั้งไม่มาก จึงสามารถออกแบบส่วนของห้องโดยสารให้กว้างขวางขึ้นได้ หรือใช้ติดตั้งในรถขนาดเล็กก็ง่ายขึ้นด้วย

ข้อเสียของเกียร์ CVT

สำหรับเกียร์ CVT ซึ่งมีชิ้นส่วนเคลื่อนไหวน้อย รวมถึงการออกแบบที่เรียบง่ายกว่าระบบเกียร์อัตโนมัติปกติ จึงมีข้อจำกัดในแง่ของการใช้งาน เพราะจุดประสงค์ของเกียร์ CVT ส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับการขับขี่อย่างรุนแรงหรือใช้งานหนัก ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นก็ควรขับขี่อย่างนุ่มนวล เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานของเกียร์ CVT

ปัญหาเกียร์ CVT ที่พบบ่อย

โดยธรรมชาติของเกียร์ CVT ซึ่งถูกออกแบบมาสำหรับการใช้งานทั่วไป แต่หากใช้งานเต็มที่เหมือนเกียร์อัตโนมัติแบบปกติอาจทำให้เกียร์ CVT เสื่อมสภาพหรือเกิดปัญหาได้เร็วขึ้น ซึ่งอาการที่พบบ่อยของเกียร์ CVT จะมี ดังนี้

1. เกิดความร้อนในระบบเกียร์สูง

เนื่องจากการทำงานของเกียร์ CVT ซึ่งใช้ชุดพูลเลย์ 2 ตัว และสายพานนั้นต้องหมุนอยู่ตลอดเวลา จึงจำเป็นต้องอาศัยระบบหล่อเย็นเพื่อระบายความร้อน หากระบบดังกล่าวมีปัญหาจะทำให้ชุดเกียร์ CVT เกิดความร้อนสูง ซึ่งสังเกตได้จากกลิ่นไหม้ภายในรถ

2. น้ำมันเกียร์รั่วซึม

ระบบเกียร์ CVT ก็เหมือนกับระบบเกียร์ทั่วไป คือยังต้องอาศัยน้ำมันเกียร์ในการหล่อลื่น หากปล่อยให้น้ำมันเกียร์ขาดจะทำให้เกียร์มีปัญหาตามมา เช่น การรั่วซึม ส่งผลให้ระบบเกียร์ตอบสนองช้าลง รวมถึงหากน้ำมันเกียร์มีการปนเปื้อนจะทำให้การทำงานของเกียร์ CVT ไม่ราบรื่น เร่งไม่ขึ้น หรือกระตุก หากรถมีอาการเหล่านี้ควรรีบนำไปตรวจเช็กน้ำมันเกียร์โดยด่วน

3. สูญเสียกำลังและความเร็ว

รถเกียร์ CVT ที่มีปัญหานี้จะมีอาการกระตุกและสั่นเมื่อเดินคันเร่ง โดยเฉพาะเมื่อเกิดความร้อนสูงในระบบ รถจะสูญเสียกำลังลงไปอย่างเห็นได้ชัด

4. ความทนทาน

หากเทียบกับเกียร์อัตโนมัติแบบปกติ เกียร์ CVT ซึ่งมีชิ้นส่วนน้อยและต้องทำงานตลอดเวลา จึงมีความทนทานน้อยหรืออายุการใช้งานสั้นกว่าตามธรรมชาติ แต่ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์ได้พัฒนาให้เกียร์ CVT มีความทนทานขึ้นจากเดิมมากจนไม่ต้องกังวลนัก เพียงแต่อาจต้องปรับพฤติกรรมการขับขี่ให้เข้ากับรูปแบบเกียร์ที่ใช้เท่านั้น

เพราะเกียร์แต่ละประเภทย่อมมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกัน ซึ่งเกียร์ CVT ก็ให้ประโยชน์ในหลายด้าน เช่น การขับขี่ที่นุ่มนวล ให้อัตราเร่งต่อเนื่อง โดยสูญเสียกำลังน้อย ประหยัดน้ำมัน แต่ผู้ใช้งานก็ต้องทำความเข้าใจและใช้งานอย่างระมัดระวัง ก็จะช่วยยืดอายุการใช้งานของเกียร์ CVT ได้

ขอบคุณข้อมูลจาก : caranddriver.comrxmechanic.commotorbiscuit.com
แหล่งอ้างอิง https://car.kapook.com/view256019.html

5สิ่งของที่ไม่ควรมีติดรถ

ของต้องห้ามในรถไม่ควรมี ความเชื่อสายมู ส่งผลไม่ดีต่อผู้ขับขี่

เคยสังเกตไหม ว่าเมื่อมีสิ่งของต่างๆ ที่ช่วยเสริมสิริมงคลให้กับตัวผู้ใช้รถอย่าง พระพุทธรูป ผ้ายันต์เสริมสิริมงคล และของมงคลต่างๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ให้พกพา แต่เชื่อไหมว่ายังมีสิ่งของต้องห้าม ไม่ควรนำขึ้นรถ หรือการกำจัดสิ่งของเหล่านี้ออกไปได้ยิ่งดี เพราะอาจจะส่งผลให้ไม่ดีต่อตัวเจ้าของชะตาผู้ขับขี่รถยนต์เช็กกันเลย ว่าคุณมีของเหล่านี้ไหม?

1. เหรียญ

การเก็บเหรียญที่ตกที่พื้นรถ(ถ้ามี)การที่เศษเหรียญกระจัดกระจาย แปลว่าเจ้าของรถจะเก็บเงินไม่อยู่

2.พวงมาลัยแห้ง

หลายคนซื้อพวงมาลัยมาบูชา แต่ก็ชอบปล่อยทิ้งในรถจนเหี่ยวเฉา ทำให้สิ่งที่ควรจะเป็น วัตถุมงคลกลายเป็นของอัปมงคลทั้งในเรื่องของฝุ่น และความสกปรก

3.นาฬิกาตาย

เปรียบได้กับการหมดอายุขัยของคน หากนำติดตัวขึ้นรถหรือวางไว้ทิ้งไว้ในรถ จะกลายเป็นของอัปมงคลที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้

4.ของใช้คนเสียชีวิตมีความเชื่อว่าจะคุ้มครอง

หลายคนอยากเก็บสิ่งของเครื่องใช้คนใกล้ชิดที่เสียชีวิตแล้ว ไว้ดูต่างหน้าหรือเพื่อคุ้มครองตนเอง และให้เป็นความสบายใจของผู้ขับขี่ แต่เชื่อไหมว่า หลายคนที่รู้สึกไม่ดีร้อนรุ่มมาแล้วจากสิ่งของพวกนี้ ดังนั้นไม่ควรเก็บของเหล่านี้ไว้ที่รถควรจะเก็บของดูต่างหน้าไว้ในที่ที่ร่มเย็น เช่นห้องพระ นั่นเอง

5.กระจกแตกร้าว

อาจหมายถึงความสัมพันธ์ที่ร้านฉาน หากพบว่ากระจกมีรอยร้าวที่เห็นชัด ควรจะรีบซ่อมแซม เพราะความเชื่อ เชื่อว่า จะทำให้คนที่อยู่บนรถทะเลาะ มีปากเสียงกัน อาจจะนำมาซึ่งอุบัติเหตุได้

อย่างไรก็ตามความเชื่อเหล่านี้เป็นเพียงความเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน และ ไทยรัฐออนไลน์ อยากให้ทุกคนตั้งสติก่อนสตาร์ต มีสมาธิทุกครั้งหลังนั่งพวงมาลัย ความปลอดภัยก็จะเกิดขึ้น.

แหล่งอ้างอิง https://www.thairath.co.th/horoscope/belief/2426140  

วิธีดูยางรถยนต์หมดอายุ ดูตรงไหน จะรู้ได้อย่างไรว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยน

ยางรถยนต์ เป็นส่วนประกอบสำคัญของ รถยนต์ ที่จะต้องสัมผัสกับผิวถนนตลอดเวลา ทำหน้าที่รองรับน้ำหนักและใช้ในการขับเคลื่อนให้ตัวรถให้วิ่งไปได้อย่างนิ่มนวลและปลอดภัย ดังนั้นเราควรใส่ใจและดูแลอยู่เสมอ ซึ่งโดยปกติแล้ว ยางรถยนต์ไม่ได้หมดอายุเพียงแค่ดูวันที่ตามระยะเวลาการใช้งาน แต่ยังมีอีกหลายสาเหตุที่เป็นปัจจัยทำให้ยางรถยนต์หมดอายุ โดยเรามีวิธีเช็กและจุดสังเกตง่าย ๆ มาแนะนำ ดังนี้

  • ดูที่สะพานยาง ให้สังเกตส่วนที่เป็นเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างดอกยาง ซึ่งสิ่งนั้นเรียกว่า สะพานยาง หรือ Tire Tread Wear Indicator คือ ปุ่มในร่องดอกยางบนหน้ายางรถยนต์ เพื่อวัดความสูงของดอกยาง ถ้าดอกยางสึกจนอยู่ในระดับเดียวกับสะพานยาง แสดงว่าถึงเวลาที่จะต้องเปลี่ยนใหม่ เพราะยางเส้นนั้นถูกใช้งานจนสึก จนไม่อาจสามารถทำหน้าที่ในการรีดน้ำได้ดีเหมือนกับยางเส้นใหม่ที่มีดอกยาวหนากว่า โดยผู้ใช้รถจะต้องตรวจเช็กสะพานยางทุก ๆ 6 เดือน หรือ 10,000 กิโลเมตร
  • สภาพดอกยาง อย่างที่ทราบกันว่า ดอกยางรถยนต์มีคุณสมบัติในการช่วยรีดน้ำเวลาที่เราต้องขับรถบนถนนที่เปียกหรือมีน้ำขัง เพื่อช่วยให้ผิวหน้าของยางรถยนต์ยังเกาะถนนได้ปกติ แต่หากดอกยางเหลือน้อยก็มีโอกาสสูงที่รถจะเสียหลักลื่นไถลได้ โดยปกติดอกยางใหม่จะลึกประมาณ 8-9 มิลลิเมตร แต่ถ้าดอกยางเหลือไม่ถึง 3 มิลลิเมตรแล้ว ควรรีบเปลี่ยนยางรถยนต์ทันที หรือสังเกตุด้วยตาเปล่า โดยนำไม้ขีดไฟทิ่มลงไปในร่องยาง ถ้าเห็นหัวไม้ขีด แสดงว่าดอกยางบาง และเหลือน้อย เกินกว่าจะใช้งานได้
  • เช็กความแข็งกระด้าง-รอยแตกลายงา ผิวยางรถยนต์ใหม่ ๆ จะมีความเงาและความนิ่มระดับหนึ่ง แต่เมื่อผ่านการใช้งานไปสักระยะ ผิวยางจะเริ่มแข็งกระด้าง ไปจนถึงปรากฏรอยแตกลายงา ซึ่งจะส่งผลต่อความทนทานของแก้มยาง และการเกาะถนนเป็นอย่างมาก ซึ่งควรให้ช่างผู้ชำนาญตรวจสภาพของยาง เพื่อประเมินว่าควรเปลี่ยนเลยหรือไม่
  • ดูตำแหน่งรั่วของยาง หากเกิดยางรั่วและต้องปะยางรถยนต์ ควรทำกับยางที่มีรอยรั่วเล็ก ๆ และต้องอยู่บนหน้ายางเท่านั้น โดยตำแหน่งการรั่วของยางต้องไม่กระทบกับโครงสร้างยางภายใน หรือไม่ควรปะยางบริเวณแก้มหรือขอบยาง เพราะวัสดุที่นำมาใช้ปะยางนั้นไม่แข็งแรงพอที่จะสามารถยึดเหนี่ยวได้ หากใช้ยางต่อไป อาจเกิดยางระเบิด หรือยางแตกได้ในที่สุด ดังนั้นถ้าเกิดรั่วหรือแตกในบริเวณดังกล่างให้เปลี่ยนยางเส้นใหม่จะดีที่สุด
  • ยางบวม ถ้ามีอาการยางบวม หรือปูดขึ้นมาจนเห็นได้ชัด ก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณว่าควรเปลี่ยนยางเส้นใหม่ โดยอาการยางบวมนั้นมักมาจากการขับรถเสียดสีอย่างรุนแรง อาจเป็นการชนขอบทางเท้า หรือขับรถตกหลุม หรือยางที่ใช้ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหากขับรถไปทั้งที่ยางบวม ก็อาจเกิดอันตราย ยางระเบิด หรือยางแตกกลางทางได้ หรือหากแตะเนื้อยางแล้วพบว่ายางแข็ง คือจิกเล็บลงไปไม่เห็นรอย แสดงว่าหน้ายางหมดอายุ ก็ต้องรีบเปลี่ยนยางใหม่เช่นกัน
  • ดูตัวเลขที่บริเวณแก้มยาง อีกหนึ่งวิธีในการตรวจสอบการเสื่อมสภาพของยางก็คือการเช็กอายุของยางจากรหัส 4 ตัวบนแก้มยาง โดยจะระบุเป็น WW/YY หมายถึงสัปดาห์และปีที่ผลิต เช่น 0720 หมายถึงยางที่ผลิตในสัปดาห์ที่ 7 ปี 2020 หรือผลิตในช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 ของเดือนกุมภาพันธ์ปี 2020 นั่นเอง (หนึ่งปีจะมี 52 สัปดาห์) ซึ่งการดูเลขรหัสนี้คือตัวกำหนดยางใหม่ และยางเก่าค้างสต็อก โดยปกติอายุขัยของยางใหม่จะเก็บได้นานถึง 5 ปี ขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และอุณหภูมิของคลังเก็บยาง ซึ่งจะส่งผลต่อเนื้อยาง

ทั้งหมดนี้ถือเป็นปัจจัยและสัญญาณที่บ่งบอกว่ายางรถยนต์เส้นนั้นเสื่อมสภาพ และหมดอายุ แนะนำควรรีบเปลี่ยนโดยด่วน เพราะถ้ายังฝืนใช้งานต่อไปเรื่อย ๆ อาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทั้งกับตัวของคุณเองและเพื่อนร่วมทาง

ขอบคุณข้อมูลจาก : guideautoweb.comauto.howstuffworks.combridgestonetire.com

แหล่งอ้างอิง https://car.kapook.com/view247142.html

เครื่องหมายจราจร ความหมายของป้ายจราจรแบบต่าง ๆ ที่ผู้ใช้ถนนควรรู้

รวมความหมายของป้ายจราจร เครื่องหมายจราจร แบบต่าง ๆ ที่ผู้ขับขี่รถยนต์ มอเตอร์ไซค์และผู้สัญจรบนท้องถนนควรรู้ สัญลักษณ์จราจรแต่ละแบบที่อยู่บนพื้นถนนมีความหมายว่าอย่างไร มาดูกัน

เครื่องหมายจราจร นับเป็นสิ่งใกล้ตัวเราอย่างมากในชีวิตประจำวัน เพราะคนเราทุกวันนี้ต้องใช้รถ ใช้ถนน ในการเดินทางไปไหนมาไหน ดังนั้นแล้วการศึกษาเรื่อง เครื่องหมายจราจร หรือ ป้ายจราจร จึงเป็นเรื่องที่ควรจะทำ ไม่เพียงแต่เฉพาะผู้ที่ใช้รถเท่านั้น แต่รวมถึงทุกคนที่ใช้ถนนร่วมกัน ควรจะเรียนรู้ สัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจร วันนี้กระปุกดอทคอม นำความรู้เรื่อง เครื่องหมายจราจร และ สัญลักษณ์จราจร ต่าง ๆ มาฝากกัน

เครื่องหมายจราจรและความหมาย

เครื่องหมายจราจร (Traffic Sign) หมายถึง สัญลักษณ์ทางจราจรที่ใช้ในการควบคุมการจราจร มักเป็นสัญญาณแสงหรือป้าย มักมีจุดประสงค์เพื่อ กำหนดบังคับการเคลื่อนตัวของจราจร การจอด หรืออาจเป็นการเตือน หรือแนะนำทางจราจร ดังนี้

1. สัญญาณไฟจราจร

สัญญาณไฟจราจร โดยทั่วไปประกอบด้วยสัญญาณไฟ 3 สี ติดตั้งตามทางแยกต่าง ๆ เพื่อควบคุมการจราจรตามทางแยก โดยทั้ง 3 สี ได้แก่ สีแดง ให้รถหยุด สีเหลือง ให้รถระวัง เตรียมหยุด และสีเขียว คือให้รถไปได้ สำหรับสัญญาณไฟจราจรพิเศษอาจมีสีเหลืองเพียงสีเดียวจะกะพริบอยู่ ใช้สำหรับทางแยกที่ไม่พลุกพล่าน หมายถึง ให้ระมัดระวังว่ามีทางแยก และดูความเหมาะสมในการออกรถได้เอง หรือสัญญาณไฟจราจรสำหรับการข้ามถนน หรือสัญญาณไฟจราจรไว้สำหรับเปลี่ยนเลน เป็นต้น

2. ป้ายจราจร 

          ป้ายจราจร เป็นป้ายทางการควบคุมการจราจร แบ่งออกเป็น 3 ประเภท

 – เครื่องหมายจราจร ป้ายบังคับ มักจะมีพื้นสีขาว ขอบสีแดง เป็นป้ายกำหนดต้องทำตาม เช่น ห้ามเลี้ยวขวา

– เครื่องหมายจราจร ป้ายเตือน มักจะมีพื้นสีขาว ขอบสีดำ จะเป็นป้ายแจ้งเตือนว่ามีอะไรอยู่ข้างหน้า

 – เครื่องหมายจราจร ป้ายแนะนำ เป็นป้ายที่แนะนำการเดินทางต่าง ๆ อาทิ ทางลัด ป้ายบอกระยะทาง เป็นต้น

3. เครื่องหมายจราจรอื่น ๆ

เครื่องหมายจราจร เครื่องหมายบนพื้นทางและขอบทางเท้า

เครื่องหมายจราจร ประเภทป้ายบังคับ 1 และรูปภาพเครื่องหมายจราจร

แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ

  1. ป้ายบังคับที่แสดงความหมายตามรูปแบบและลักษณะที่กำหนด

          2. ป้ายบังคับที่แสดงด้วยข้อความ และ/หรือสัญลักษณ์

1. “หยุด”

ความหมาย รถทุกชนิดต้องหยุด เมื่อเห็นว่าปลอดภัยแล้วจึงให้เคลื่อนรถต่อไปได้ด้วยความระมัดระวัง

2. “ให้ทาง”

ความหมาย รถทุกชนิดต้องระมัดระวังและให้ทางแก่รถและคนเดินเท้าในทางขวางหน้าผ่านไป ก่อน เมื่อเห็นว่าปลอดภัยและไม่เป็นการกีดขวางการจราจรที่บริเวณทางแยกนั้นแล้ว จึงให้เคลื่อนรถต่อไปได้ด้วยความระมัดระวัง

3. “ให้รถสวนทางมาก่อน”

ความหมาย ให้ผู้ขับรถทุกชนิดหยุดรถตรงป้าย เพื่อให้รถที่กำลังแล่นสวนทางมาก่อน ถ้ามีรถข้างหน้าหยุดรออยู่ก่อนก็ให้หยุดรถรอถัดต่อกันมาตามลำดับ เมื่อรถที่สวนทางมาได้ผ่านไปหมดแล้ว จึงให้รถที่หยุดรอตามป้ายนี้เคลื่อนไปได้

4. “ห้ามแซง”

ความหมาย ห้ามมิให้ขับรถแซงขึ้นหน้ารถคันอื่นในเขตทางที่ติดตั้งป้าย

5. “ห้ามเข้า”

ความหมาย ห้ามมิให้รถทุกชนิดเข้าไปในทางที่ติดตั้งป้าย

 6. “ห้ามกลับรถไปทางขวา”

ความหมาย ห้ามมิให้กลับรถไปทางขวาไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ในเขตทางที่ติดตั้งป้าย

 7. “ห้ามกลับรถไปทางซ้าย”

ความหมาย ห้ามมิให้กลับรถไปทางซ้ายไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ในเขตทางที่ติดตั้งป้าย

 8. “ห้ามเลี้ยวซ้าย” 

ความหมาย ห้ามมิให้เลี้ยวรถไปทางซ้าย

 9. “ห้ามเลี้ยวขวา” 

ความหมาย ห้ามมิให้เลี้ยวรถไปทางขวา

  10. “ห้ามรถยนต์” 

ความหมาย ห้ามรถยนต์ทุกชนิดผ่านเข้าไปในเขตทางที่ติดตั้งป้าย

 11. “ห้ามรถบรรทุก” 

ความหมาย ห้ามรถบรรทุกทุกชนิดผ่านเข้าไปในเขตทางที่ติดตั้งป้าย

12. “ห้ามรถจักรยานยนต์”

ความหมาย ห้ามรถจักรยานยนต์ผ่านเข้าไปในเขตทางที่ติดตั้งป้าย

13. “ห้ามรถยนต์สามล้อ”

ความหมาย ห้ามรถยนต์สามล้อผ่านเข้าไปในเขตทางที่ติดตั้งป้าย

 14. “ห้ามรถสามล้อ” 

ความหมาย ห้ามรถสามล้อผ่านเข้าไปในเขตทางที่ติดตั้งป้าย

15. “ห้ามรถจักรยาน” 

ความหมาย ห้ามรถจักรยานผ่านเข้าไปในเขตทางที่ติดตั้งป้าย

  16. “ห้ามล้อเลื่อนลากเข็น”

ความหมาย ห้ามล้อเลื่อนลากเข็นผ่านเข้าไปในเขตทางที่ติดตั้งป้าย

 17. “ห้ามรถยนต์ที่ใช้ในการเกษตร”

ความหมาย ห้ามรถยนต์ที่ใช้ในการเกษตรทุกชนิดผ่านเข้าไปในเขตทางที่ติดตั้งป้าย

18. “ห้ามรถจักรยานยนต์และรถยนต์”

ความหมาย ห้ามรถจักรยานยนต์และรถยนต์ทุกชนิดผ่านเข้าไปในเขตทางที่ติดตั้งป้าย

 19. “ห้ามรถจักรยาน รถสามล้อ รถจักรยานยนต์”

ความหมาย ห้ามรถจักรยาน รถสามล้อ รถจักรยานยนต์ ผ่านเข้าไปในเขตทางที่ติดตั้งป้าย

 20. “ห้ามใช้เสียง”

ความหมาย ห้ามมิให้ใช้เสียงสัญญาณหรือทำให้เกิดเสียงที่ก่อการรบกวนด้วยประการใด ๆ ในเขตที่ติดตั้งป้าย

 21. “ห้ามคน”

ความหมาย ห้ามคนผ่านเข้าไปในเขตทางที่ติดตั้งป้าย

 22. “ห้ามจอดรถ”

ความหมาย ห้ามมิให้จอดรถทุกชนิดระหว่างแนวนั้น เว้นแต่การรับ-ส่งคน หรือสิ่งของชั่วขณะ ซึ่งต้องกระทำโดยมิชักช้า

 23. “ห้ามหยุดรถ”

ความหมาย ห้ามมิให้หยุดรถหรือจอดรถทุกชนิดตรงแนวนั้นเป็นอันขาด

 24. “หยุดตรวจ”

ความหมาย ให้ผู้ขับรถหยุดรถที่ป้ายนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจและเคลื่อนรถต่อไปได้เมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจแล้วเท่านั้น

 25. “จำกัดความเร็ว”

ความหมาย ห้ามมิให้ผู้ขับรถทุกชนิดใช้ความเร็วเกินกว่าที่กำหนดเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามจำนวนตัวเลขในแผ่นป้ายนั้น ๆ ในเขตทางที่ติดตั้งป้าย จนกว่าจะพ้นที่สุดระยะที่จำกัดความเร็วนั้น

26. “ห้ามรถหนักเกินกำหนด”

ความหมาย ห้ามมิให้รถทุกชนิดที่มีน้ำหนักเกินกว่าที่กำหนดหรือเมื่อรวมน้ำหนักรถกับน้ำหนักบรรทุก เกินกว่าที่กำหนดไว้เป็น “ตัน” ตามจำนวนเลขในเครื่องหมายนั้น ๆ เข้าไปในเขตทางที่ติดตั้งป้าย

 27. “ห้ามรถกว้างเกินกำหนด”

ความหมาย ห้ามมิให้รถทุกชนิดที่มีขนาดกว้างเกินกำหนดเป็น “เมตร” ตามจำนวนเลขในเครื่องหมายนั้น เข้าไปในเขตทางที่ติดตั้งป้าย

 28. “ห้ามรถสูงเกินกำหนด”

ความหมาย ห้ามมิให้รถทุกชนิดที่มีความสูงของรถรวมทั้งของที่บรรทุกเกินกว่ากำหนดเป็น “เมตร” ตามจำนวนเลขในเครื่องหมาย เข้าไปในเขตทางหรืออุโมงค์ที่ติดตั้งป้าย

 29. “ให้เดินรถทางเดียวไปข้างหน้า”

ความหมาย ให้ขับรถตรงไปตามทิศทางที่ป้ายกำหนด

 30. “ทางเดินรถทางเดียวไปทางซ้าย”

ความหมาย ให้ขับรถไปทางซ้ายแต่ทางเดียว

 31. “ทางเดินรถทางเดียวไปทางขวา”

ความหมาย ให้ขับรถไปทางขวาแต่ทางเดียว

 32. “ให้ชิดซ้าย”25. “จำกัดความเร็ว”

ความหมาย ให้ขับรถผ่านไปทางซ้ายของป้าย

 33. “ให้ชิดขวา” 

ความหมาย ให้ขับรถผ่านไปทางขวาของป้าย

 34. “ให้เลี้ยวซ้าย”

ความหมาย ให้ขับรถเลี้ยวไปทางซ้ายแต่ทางเดียว

 35. “ให้เลี้ยวขวา”

ความหมาย ให้ขับรถเลี้ยวไปทางขวาแต่ทางเดียว

 36. “ให้เลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา”

ความหมาย ให้ขับรถไปทางซ้ายหรือไปทางขวา

 37. “ให้ไปทางซ้ายหรือทางขวา”

ความหมาย ให้ขับรถผ่านไปทางด้านซ้ายหรือทางด้านขวาของป้าย

38. “วงเวียน”

ความหมาย ให้รถทุกชนิดเดินวนทางซ้ายของวงเวียน และรถที่เริ่มจะเข้าสู่ทางร่วมบริเวณวงเวียนต้องหยุดให้สิทธิแก่รถที่แล่นอยู่ในทางรอบวงเวียนไปก่อน ห้ามขับรถแทรกหรือตัดหน้ารถที่อยู่ในทางรอบบริเวณวงเวียน

39. “สุดเขตบังคับ”

ความหมาย พ้นสุดระยะที่บังคับตามความหมายของป้ายบังคับที่ติดตั้งไว้ก่อน

เครื่องหมายจราจร ประเภทป้ายบังคับ 2 และรูปภาพเครื่องหมายจราจร

1. ให้รถตรงไป

หมายความว่า ผู้ขับขี่ต้องขับรถตรงไปตามทิศทางที่ป้ายกำหนด เป็นทางเดินรถทางเดียวเท่านั้น ห้ามมิให้ไปทางซ้ายหรือไปทางขวา

 2. ทางเดินรถทางเดียวไปทางซ้าย

หมายความว่า ทางข้างหน้าเป็นทางบังคับให้เดินรถทางเดียวไปทางซ้ายเท่านั้น

 3. ทางเดินรถทางเดียวไปทางขวา

หมายความว่า ทางข้างหน้าเป็นทางบังคับให้เดินรถทางเดียวไปทางขวาเท่านั้น ห้ามมิให้ขับรถไปทางซ้าย

4. ให้ชิดซ้าย

หมายความว่า ให้ขับรถไปทางด้านซ้ายของเครื่องหมาย

 5. ให้ชิดขวา

หมายความว่า ให้ขับรถไปทางด้านขวาของเครื่องหมาย

 6. ให้ไปทางซ้ายหรือทางขวา

หมายความว่า ให้ขับรถผ่านไปทางด้านซ้ายหรือทางด้านขวาของป้าย

 7. ให้เลี้ยวซ้าย

หมายความว่า ให้ขับรถเลี้ยวไปทางซ้ายแต่ทางเดียว

 8. ให้เลี้ยวขวา

หมายความว่า ให้ขับรถเลี้ยวไปทางขวาแต่ทางเดียว

 9. ให้เลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา

หมายความว่า ให้ขับรถไปทางซ้ายหรือไปทางขวา

 10. ให้ตรงไปหรือเลี้ยวซ้าย

หมายความว่า ผู้ขับขี่ต้องขับรถตรงไปหรือเลี้ยวไปทางซ้ายเท่านั้น

  11. ให้ตรงไปหรือเลี้ยวขวา

หมายความว่า ผู้ขับขี่ต้องขับรถตรงไปหรือเลี้ยวไปทางขวาเท่านั้น

 12. วงเวียน

หมายความว่า ให้รถทุกชนิดเดินวนทางซ้ายของวงเวียน และรถที่เริ่มจะเข้าสู่ทางร่วมบริเวณวงเวียนต้องหยุด ให้สิทธิแก่รถที่แล่นอยู่ในทางรอบวงเวียนไปก่อน ห้ามขับรถแทรกหรือตัดหน้ารถที่อยู่ในทางรอบบริเวณวงเวียน

 13. ช่องเดินรถประจำทาง

หมายความว่า ช่องเดินรถที่ติดตั้งป้ายเป็นบริเวณที่กำหนดให้เป็นช่องเดินรถประจำทาง

 14. ช่องเดินรถมวลชน

หมายความว่า ช่องเดินรถที่ติดตั้งป้ายเป็นบริเวณที่กำหนดให้เป็นช่องเดินรถมวลชน และให้ใช้ได้เฉพาะรถที่มีจำนวนคนบนรถไม่น้อยกว่าตัวเลขที่ระบุในป้าย

 15. ช่องเดินรถจักรยานยนต์

หมายความว่า ช่องเดินรถที่ติดตั้งป้ายเป็นบริเวณที่กำหนดให้เป็นช่องเดินรถจักรยานยนต์

16. ช่องเดินรถจักรยาน

หมายความว่า ช่องเดินรถที่ติดตั้งป้ายเป็นบริเวณที่กำหนดให้เป็นช่องเดินรถจักรยาน

 17. เฉพาะคนเดิน

หมายความว่า บริเวณที่ติดตั้งป้ายเป็นบริเวณที่กำหนดให้ใช้ได้เฉพาะคนเดินเท้าเท่านั้น

 18. ความเร็วขั้นต่ำ

หมายความว่า บริเวณที่ต้องใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่าที่กำหนดเป็นกิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามจำนวนตัวเลขที่ระบุในป้าย

เครื่องหมายจราจร ประเภทเตือน

แบ่งเป็น 3 ประเภทคือ

1. ป้ายเตือนตามรูปแบบและลักษณะที่กำหนด

           2. ป้ายเตือนที่แสดงด้วยข้อความ และ/หรือสัญลักษณ์

           3. ป้ายเตือนในงานก่อสร้างต่าง ๆ

1. “ทางโค้งซ้าย”

ความหมาย ทางข้างหน้าโค้งไปทางซ้าย ให้ขับรถให้ช้าลงพอสมควร และเดินรถชิดด้านซ้ายด้วยความระมัดระวัง

 2.  “ทางโค้งขวา”

ความหมาย ทางข้างหน้าโค้งไปทางขวา ให้ขับรถให้ช้าลงพอสมควร และเดินรถชิดด้านขวาด้วยความระมัดระวัง

3. “ทางโค้งรัศมีแคบเลี้ยวซ้าย”

ความหมาย ทางข้างหน้าโค้งรัศมีแคบไปทางซ้าย ให้ขับรถให้ช้าลงพอสมควร และเดินรถชิดด้านซ้ายด้วยความระมัดระวัง

4. “ทางโค้งรัศมีแคบเลี้ยวขวา”

ความหมาย ทางข้างหน้าโค้งรัศมีแคบไปทางขวา ให้ขับรถให้ช้าลงพอสมควร และเดินรถชิดด้านขวาด้วยความระมัดระวัง

5. “ทางโค้งรัศมีแคบเริ่มซ้าย”

ความหมาย ทางข้างหน้าโค้งรัศมีแคบไปทางซ้ายแล้วกลับ ให้ขับรถให้ช้าลงพอสมควร และเดินรถชิดด้านขวาด้วยความระมัดระวัง

 6. “ทางโค้งรัศมีแคบเริ่มขวา”

ความหมาย ทางข้างหน้าโค้งรัศมีแคบไปทางขวาแล้วกลับ ให้ขับรถให้ช้าลงพอสมควร และเดินรถชิดด้านขวาด้วยความระมัดระวัง

7. “ทางคดเคี้ยวเริ่มซ้าย”

ความหมาย ทางข้างหน้าเป็นทางคดเคี้ยวโดยเริ่มไปทางซ้าย ให้ขับรถให้ช้าลงพอสมควร และเดินรถชิดด้านซ้ายด้วยความระมัดระวัง

 8. “ทางคดเคี้ยวเริ่มขวา”

ความหมาย ทางข้างหน้าเป็นทางคดเคี้ยวโดยเริ่มไปทางขวา ให้ขับรถให้ช้าลงพอสมควร และเดินรถชิดด้านซ้ายด้วยความระมัดระวัง

9. “ทางเอกตัดกัน”

ความหมาย ทางข้างหน้ามีทางเอกตัดกัน ให้ขับรถด้วยความระมัดระวัง

 10. “ทางเอกตัดกันรูปตัววาย” 

ความหมาย ทางข้างหน้ามีทางเอกตัดกันเป็นรูปตัววาย ให้ขับรถด้วยความระมัดระวัง

11. “ทางโทแยกทางเอกทางซ้าย” 

ความหมาย ทางข้างหน้ามีทางแยกไปทางซ้าย ให้ขับรถด้วยความระมัดระวัง

12. “ทางโทแยกทางเอกทางขวา” 

ความหมาย ทางข้างหน้ามีทางแยกไปทางขวา ให้ขับรถด้วยความระมัดระวัง

13. “ทางโทแยกทางเอกเยื้องกันเริ่มซ้าย” 

ความหมาย ทางข้างหน้ามีทางโทแยกไปทางซ้ายและหลังจากนั้นมีทางโทแยกไปทางขวา ให้ขับรถด้วยความระมัดระวัง

14. “ทางโทแยกทางเอกเยื้องกันเริ่มขวา” 

ความหมาย ทางข้างหน้ามีทางโทแยกไปทางขวาและหลังจากนั้นมีทางโทแยกไปทางซ้าย ให้ขับรถด้วยความระมัดระวัง

15. “ทางโทเชื่อมทางเอกจากซ้าย” 

ความหมาย ทางข้างหน้ามีทางโทเข้ามาเชื่อมด้านซ้าย ให้ขับรถด้วยความระมัดระวัง

16. “ทางโทเชื่อมทางเอกจากขวา” 

ความหมาย ทางข้างหน้ามีทางโทเข้ามาเชื่อมด้านขวา ให้ขับรถด้วยความระมัดระวัง

17. “วงเวียนข้างหน้า”  

ความหมาย ทางข้างหน้าจะเป็นทางแยกมีวงเวียน ให้ขับรถให้ช้าลง และเดินรถด้วยความระมัดระวัง

18. “ทางแคบลงทั้งสองด้าน”  

ความหมาย ทางข้างหน้าแคบลงกว่าทางที่กำลังผ่านทั้งสองด้าน ผู้ขับรถจะต้องขับรถให้ช้าลง และเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้น ขณะที่รถผ่านทางแคบ ผู้ขับรถจะต้องระมัดระวังมิให้รถชนหรือเสียดสีกัน

 19. “ทางแคบด้านซ้าย”

ความหมาย ทางข้างหน้าด้านซ้ายแคบลงกว่าทางที่กำลังผ่าน ผู้ขับรถต้องขับรถให้ช้าลง และเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้น

  20. “ทางแคบด้านขวา”

ความหมาย ทางข้างหน้าด้านขวาแคบลงกว่าทางที่กำลังผ่าน ผู้ขับรถต้องขับรถให้ช้าลง และเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้น

21. “สะพานแคบ”

ความหมาย ทางข้างหน้ามีสะพานแคบ รถเดินหลีกกันไม่ได้ ให้ขับรถให้ช้าลง และระมัดระวังอันตรายจากรถที่จะสวนมาจากอีกฝ่ายหนึ่งของสะพาน ถ้ามีป้ายอื่นติดตั้งอยู่ ก็ให้ปฏิบัติตามป้ายนั้น ๆ ด้วย

          ความหมาย ทางข้างหน้ามีสะพานแคบ รถเดินหลีกกันไม่ได้ ให้ขับรถให้ช้าลง และระมัดระวังอันตรายจากรถที่จะสวนมาจากอีกฝ่ายหนึ่งของสะพาน ถ้ามีป้ายอื่นติดตั้งอยู่ ก็ให้ปฏิบัติตามป้ายนั้น ๆ ด้วย
 22. “ทางข้ามทางรถไฟไม่มีเครื่องกั้นทาง”

ความหมาย ทางข้างหน้ามีทางรถไฟตัดผ่านและไม่มีเครื่องกั้นทาง ให้ขับรถให้ช้าลงให้มาก และสังเกตดูรถไฟทั้งทางขวาและทางซ้าย ถ้ามีรถไฟกำลังจะผ่านมาให้หยุดรถให้ห่างจากทางรถไฟอย่างน้อย 5 เมตร แล้วรอคอยจนกว่ารถไฟนั้นผ่านพ้นไปและปลอดภัยแล้ว จึงเคลื่อนรถต่อไปได้ ห้ามมิให้ขับรถตัดหน้ารถไฟในระยะที่อาจจะเกิดอันตรายได้เป็นอันขาด

  23. “ทางข้ามทางรถไฟมีเครื่องกั้นทาง”

ความหมาย หน้าที่กั้นทาง หรือมีเครื่องกั้นทางปิดกั้น ถ้ามีรถข้างหน้าหยุดรออยู่ก่อน ก็ให้หยุดรถถัดต่อมาตามลำดับ เมื่อเปิดเครื่องกั้นทางแล้วให้รถที่หยุดรอเคลื่อนที่ตามกันได้

24. “ทางขึ้นลาดชัน”

ความหมาย ทางข้างหน้าเป็นทางลาดชันขึ้นเขาหรือขึ้นเนิน สันเขา หรือสันเนิน อาจกำบังสายตาไม่ให้มองเห็นรถที่สวนมา ให้ขับรถให้ช้าลง และเดินรถใกล้ขอบทางด้านซ้ายให้มาก กับให้ระมัดระวังอันตรายจากรถที่สวนทางมา

25. “ทางลงลาดชัน”

ความหมาย ทางข้างหน้าเป็นทางลาดลงเขาหรือลงเนิน ให้ขับรถให้ช้าลง เดินรถใกล้ขอบทางด้านซ้ายให้มาก และผู้ขับรถไม่ควรปลดเกียร์หรือดับเครื่องยนต์เป็นอันขาดในกรณีที่เป็นทางลงเขา หรือเนินที่ชันมาก ให้ใช้เกียร์ต่ำเพื่อความปลอดภัย

26. “เตือนรถกระโดด”

ความหมาย ทางข้างหน้าเปลี่ยนระดับอย่างกะทันหัน เช่น บริเวณคอสะพาน ทางข้ามท่อระบายน้ำ และสันชะลอความเร็ว เป็นต้น ให้ขับรถให้ช้าลง และเพิ่มความระมัดระวัง

27. “ผิวทางขรุขระ”

ความหมาย ทางข้างหน้าขรุขระมาก มีหลุม มีบ่อ หรือเป็นสันติดต่อกัน ให้ขับรถให้ช้าลง และเพิ่มความระมัดระวัง

28. “ทางลื่น”

ความหมาย ทางข้างหน้าลื่นเมื่อผิวทางเปียกอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ให้ขับรถให้ช้าลงให้มาก และระมัดระวังการลื่นไถล อย่าใช้ห้ามล้อโดยแรงและทันที การหยุดรถ การเบารถ หรือเลี้ยวรถในทางลื่น ต้องกระทำด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ

29. “ผิวทางร่วน”

ความหมาย ทางข้างหน้ามีวัสดุผิวทางหลุดกระเด็น เมื่อขับรถด้วยความเร็วสูงให้ขับให้ช้าลง และระมัดระวังอันตรายอันอาจเกิดจากวัสดุผิวทาง

30. “สะพานเปิดได้”

ความหมาย ทางข้างหน้าจะต้องผ่านสะพานที่สามารถเปิดให้เรือลอด ให้ขับรถให้ช้าลง และระมัดระวังในการหยุดรถ เมื่อเจ้าหน้าที่จะปิดกั้นทางเพื่อเปิดสะพานให้เรือผ่านเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อรถข้างหน้าและรถข้างหลัง

31. “ทางร่วม”

ความหมาย ทางข้างหน้าจะมีรถเข้ามาร่วมในทิศทางเดียวกันจากทางซ้ายหรือทางขวาตามลักษณะสัญลักษณ์ในป้าย ผู้ขับรถจะต้องขับรถให้ช้าลง และเดินรถด้วยความระมัดระวัง

  32. “ทางคู่ข้างหน้า”

ความหมาย ทางข้างหน้าเป็นทางคู่มีเกาะหรือสิ่งอื่นใดแบ่งการจราจรออกเป็นสองทาง ไปทางหนึ่ง มาทางหนึ่ง ให้ขับรถชิดไปทางด้านซ้ายด้วยความระมัดระวัง

33. “สิ้นสุดทางคู่”

ความหมาย ทางข้างหน้าเป็นทางร่วมที่ไม่มีเกาะหรือสิ่งอื่นใดแบ่งการจราจร ให้ขับรถช้าลงและชิดด้านซ้ายของทาง และเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้น

34. “จุดกลับรถ”

ความหมาย ทางข้างหน้าจะมีที่กลับรถ

35. “สัญญาณจราจร”

ความหมาย ทางข้างหน้ามีสัญญาณไฟจราจร ให้ขับรถช้าลง และพร้อมที่จะปฏิบัติตามสัญญาณไฟจราจร

36. “หยุดข้างหน้า”

ความหมาย ทางข้างหน้ามีเครื่องหมายหยุดติดตั้งอยู่ ให้ผู้ขับรถเตรียมพร้อมที่จะหยุดรถได้ทันทีเมื่อขับรถถึงป้ายหยุด

37. “ระวังคนข้ามถนน”

ความหมาย ทางข้างหน้ามีทางสำหรับคนข้ามถนนหรือมีหมู่บ้านราษฎรอยู่ข้างทาง ซึ่งมีคนเดินข้ามไป-มาอยู่เสมอ ให้ขับรถให้ช้าลงพอสมควรและระมัดระวังคนข้ามถนน ถ้ามีคนกำลังเดินข้ามถนนให้หยุดรถให้คนเดินข้ามถนนไปได้โดยปลอดภัย

38. “ระวังคนข้ามถนน”

ความหมาย ทางข้างหน้ามีโรงเรียนตั้งอยู่ข้างทาง ให้ขับรถให้ช้าลงและระมัดระวังอุบัติเหตุซึ่งอาจจะเกิดขึ้นแก่เด็กนักเรียน ถ้ามีเด็กนักเรียนกำลังเดินข้ามถนนให้หยุดรถให้เด็กนักเรียนข้ามถนนไปได้โดยปลอดภัย ถ้าเป็นเวลาที่โรงเรียนกำลังสอน ให้งดใช้เสียงสัญญาณ และห้ามทำให้เกิดเสียงรบกวนด้วยประการใด ๆ

39. “ระวังสัตว์”

ความหมาย ทางข้างหน้าอาจมีสัตว์ข้ามทาง ให้ขับรถให้ช้าลง และระมัดระวังอันตรายเป็นพิเศษ

40. “ระวังอันตราย”

ความหมาย ทางข้างหน้ามีอันตราย เช่น เกิดอุบัติเหตุ ทางทรุด เป็นต้น ให้ขับรถให้ช้าลงให้มาก และระมัดระวังอันตรายเป็นพิเศษ

41. “เขตห้ามแซง”

ความหมาย ใช้ติดตั้งทางด้านขวาของทาง หมายความว่า ทางช่วงนั้นมีระยะมองเห็นจำกัด ผู้ขับรถไม่สามารถมองเห็นรถที่สวนมาในระยะที่จะแซงรถอื่นได้

 42. “เครื่องหมายลูกศรคู่”

ความหมาย มีเกาะหรือสิ่งกีดขวางอยู่กลางทางจราจร ยวดยานสามารถผ่านไปได้ทั้งทางซ้ายและทางขวาของป้าย

 43. “อุบัติเหตุข้างหน้า”

ความหมาย ทางข้างหน้ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น อาจมียวดยานหรือสิ่งอื่นกีดขวางทางจราจร

44. “ทางเบี่ยงซ้าย”

ความหมาย ทางข้างหน้ามีการก่อสร้างทางหลวง การจราจรจะต้องเปลี่ยนแนวทางไปใช้ทางเบี่ยงหรือทางชั่วคราวทางด้านซ้าย

45. “ทางเบี่ยงขวา”

ความหมาย ทางข้างหน้ามีการก่อสร้างทางหลวง การจราจรจะต้องเปลี่ยนแนวทางไปใช้ทางเบี่ยงหรือทางชั่วคราวทางด้านขวา

46. “เครื่องจักรกำลังทำงาน”

ความหมาย ทางข้างหน้ามีเครื่องจักรกำลังทำงานอยู่ข้างทาง และล้ำเข้ามาในผิวจราจร หรือใกล้ผิวจราจรเป็นครั้งคราว

47. “คนทำงาน”

ความหมาย ทางข้างหน้ามีคนงานกำลังทำงานอยู่บนผิวจราจรหรือใกล้ชิดกับผิวจราจร

 48. “สำรวจทาง”

ความหมาย ทางข้างหน้ามีเจ้าหน้าที่กำลังทำการสำรวจทางอยู่บนผิวจราจรหรือใกล้ชิดกับผิวจราจร

เครื่องหมายจราจร ประเภทเครื่องหมายบนพื้นทาง

1. เส้นแบ่งทิศทางจราจรปกติ (เป็นเส้นประสีขาว ขนาดกว้าง 15 เซนติเมตร ยาว 200 เซนติเมตร เว้นช่องห่าง 200 เซนติเมตร)

ความหมาย ให้ขับรถในด้านซ้ายเลี้ยวขวาหรือแซงหน้ารถคันอื่นได้เมื่อปลอดภัย

2. เส้นแบ่งทิศทางจราจรเตือน (เป็นเส้นประสีขาว ขนาดกว้าง 15 เซนติเมตร ยาว 300 เซนติเมตร เว้นช่องห่าง 100 เซนติเมตร)

ความหมาย ให้ทราบว่าจะถึงเขตทางข้าม แยก เขตห้ามแซง เว้นแต่จะเปลี่ยนเส้นทางเดินรถ หรือกลับรถ ขับข้ามเส้นได้แต่ต้องระวังเป็นพิเศษ (สังเกตดูจะเห็นว่าเส้นจะยาวกว่าเส้นแบ่งทิศทางจราจรปกติ)

3. เส้นแบ่งทิศทางจราจรห้ามแซง (เส้นทึบสีขาว ขนาดกว้าง 15 เซนติเมตร)

ความหมาย ห้ามแซงหรือขับรถผ่านคร่อมเส้นโดยเด็ดขาด

4. เส้นแบ่งทิศทางจราจรคู่ (เส้นประคู่เส้นทึบ) (เป็นเส้นทึบสีขาว ขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร ขนานไปกับเส้นประสีขาว ขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร ยาว 200 เซนติเมตร เว้นช่องห่าง 200 เซนติเมตร เส้นทั้งสองมีระยะห่างกัน 15 เซนติเมตร)

ความหมาย รถทางเส้นประอาจข้ามหรือแซงได้เมื่อปลอดภัย

5. เส้นแบ่งทิศทางจราจรคู่ (เส้นทึบคู่เส้นประ) (เป็นเส้นทึบสีขาว ขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร ขนานไปกับเส้นประสีขาว ขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร ยาว 200 เซนติเมตร เว้นช่องห่าง 200 เซนติเมตร เส้นทั้งสองมีระยะห่างกัน 15 เซนติเมตร)

ความหมาย รถทางเส้นทึบห้ามแซง ขับรถผ่าน หรือคร่อมเส้นโดยเด็ดขาด

6. เส้นแบ่งทิศทางจราจรห้ามแซงคู่ (เส้นทึบคู่) (เป็นเส้นทึบสีขาว ขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร ขนานกัน มีระยะห่างระหว่างเส้น 15 เซนติเมตร)

ความหมาย ห้ามขับรถผ่าน ขับรถคร่อมเส้น ห้ามแซงโดยเด็ดขาดทั้งสองทิศทาง

7. เส้นแบ่งช่องเดินรถปกติ (เป็นเส้นประสีขาว ขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร ยาว 100 เซนติเมตร เว้นช่องห่าง 300 เซนติเมตร )

ความหมาย ให้ขับรถในช่องเดินรถ ห้ามขับคร่อมเส้นหรือทับเส้น เว้นแต่จะเปลี่ยนช่องเดินรถหรือกลับรถ

8. เครื่องหมาย “เส้นแบ่งช่องเดินรถเตือน” หมายความว่า เส้นแบ่งช่องเดินรถประเภทเตือนเป็นเส้นประสีขาว ขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร ยาว 300 เซนติเมตร เว้นช่องห่าง 100 เซนติเมตร

ความหมาย แสดงให้ทราบว่าใกล้จะถึงเส้นแบ่งช่องเดินรถห้ามแซง ห้ามขับคร่อมเส้นช่องเดินรถ เว้นแต่จะเปลี่ยนช่องเดินรถ

9. เส้นแบ่งช่องเดินรถห้ามแซง (เป็นเส้นประสีขาว ขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร)

ความหมาย ห้ามแซงโดยเด็ดขาด ห้ามขับรถผ่านหรือคร่อมเส้น หรือกลับรถ

10. เส้นขอบทาง (เส้นประสีขาว ขนาดกว้าง 10 เซนติเมตร ยาว 30 เซนติเมตร เว้นช่องห่าง 60 เซนติเมตร)

ความหมาย ให้ขับรถในช่องทางจราจรด้านขวาของเส้น

11. เส้นแบ่งเดินรถประจำทาง (เส้นทึบสีเหลืองขนาดกว้าง 20 เซนติเมตร)

ความหมาย รถประจำทางหรือรถบรรทุกคนโดยสารที่อธิบดีกรมตำรวจกำหนด ให้ใช้ช่องทางเดินรถด้านซ้ายของเส้นนี้ รถประเภทอื่นห้ามขับผ่านเข้าไปในช่องนี้

12. เส้นแบ่งภายในช่องเดินรถประจำทาง

ความหมาย ให้รถประจำทางหรือรถที่กำหนดวิ่งในช่องทางได้ทั้ง 2 ช่อง ทั้งซ้ายและขวาของเส้นนี้

13. เส้นแบ่งช่องเดินรถประจำทางสามารถข้ามผ่านได้ (เส้นทึบสีเหลือง ขนาดกว้าง 20 เซนติเมตร ยาว 60 เซนติเมตร เว้นช่องห่าง 30 เซนติเมตร)

ความหมาย รถประจำทางหรือรถบรรทุกคนโดยสารที่อธิบดีกรมตำรวจกำหนด ให้ใช่ช่องเดินรถทางด้านซ้าย ของเส้นนี้ รถประเภทอื่นให้ขับผ่านได้กรณีจะเข้า-ออกจากซอยหรือเลี้ยว

14. จุดเริ่มต้นช่องเดินรถประจำทาง

ความหมาย รถประจำทางหรือรถบรรทุกคนโดยสารที่อธิบดีกรมตำรวจกำหนด ให้ผ่านเข้าไปในช่องเดินรถประจำทางหลังจุดนี้ รถประเภทอื่นห้ามขับเข้าไปในช่องเดินรถประจำทางหลังจุดนี้

15. เส้นแนวหยุด (เส้นขวางถนน เป็นเส้นทึบสีขาว ขนาดกว้าง 40 เซนติเมตร)

ความหมาย ให้ผู้ขับรถหยุดรถก่อนถึงแนวเส้นขวางทุกครั้งเพื่อดูจังหวะรถว่างหรือรอให้คนข้าม ในทางข้ามข้างหน้าผ่านไปก่อน เมื่อปลอดภัยจึงขับรถผ่านไป

16. เส้นให้ทาง (เส้นขวางถนน เป็นเส้นประสีขาว ขนาดกว้าง 40 เซนติเมตร ยาว 60 เซนติเมตร เว้นช่องห่าง 30 เซนติเมตร)

ความหมาย เป็นเส้นประสีขาวข้ามถนนให้ผู้ขับขี่ขับรถให้ช้าลง แล้วดูให้รถอื่นที่ออกจากทางร่วม หรือคนเดินเท้าในทางข้ามที่ขวางหน้าผ่านไปก่อน เห็นปลอดภัยแล้วจึงขับรถผ่านไป

17. เส้นทแยงสำหรับทางแยก (เป็นเส้นทึบสีเหลืองขนาดกว้าง 15 เซนติเมตร ลากทแยงตัดกันทำมุม 45 องศา ห่างกัน 200 เซนติเมตร ภายในกรอบเส้นทึบสีเหลือง ขนาดกว้าง 20 เซนติเมตร )

ความหมาย เป็นเส้นทึบสีเหลืองลากทแยงมุม ห้ามหยุดรถทุกชนิดภายในกรอบเส้นทแยงนี้

เครื่องหมายจราจร ประเภทเครื่องหมายลูกศรบนพื้น

1. ลูกศรตรงไป

ความหมาย ผู้ขับในช่องที่มีลูกศรนี้ต้องขับตรงไป ห้ามขับเลี้ยวซ้ายหรือขวา

 2. ลูกศรเลี้ยวซ้าย

ความหมาย ผู้ขับในช่องที่มีลูกศรนี้ต้องขับเลี้ยวซ้าย ห้ามขับตรงไปหรือเลี้ยวขวา

3. ลูกศรเลี้ยวขวา

ความหมาย ผู้ขับในช่องที่มีลูกศรนี้ต้องขับเลี้ยวขวา ห้ามขับตรงไปหรือเลี้ยวซ้าย

4. ลูกศรเลี้ยวซ้ายกับเลี้ยวขวา

ความหมาย ผู้ขับในช่องที่มีลูกศรนี้ต้องเลี้ยวขับซ้ายหรือเลี้ยวขวา ห้ามขับตรงไป

 5. ลูกศรตรงไป หรือเลี้ยวซ้าย

ความหมาย ผู้ขับในช่องที่มีลูกศรนี้ต้องขับตรงไปหรือเลี้ยวซ้าย ห้ามขับเลี้ยวไปทางขวา

6. ลูกศรตรงไป หรือเลี้ยวขวา

ความหมาย ผู้ขับในช่องที่มีลูกศรนี้ต้องขับตรงไปหรือเลี้ยวขวา ห้ามขับเลี้ยวไปทางซ้าย

7. ลูกศรตรงไปและเลี้ยวซ้าย หรือเลี้ยวขวา

ความหมาย ผู้ขับในช่องที่มีลูกศรนี้ต้องขับตรงไป หรือเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา

8. ลูกศรเลี้ยวกลับ

ความหมาย ผู้ขับในช่องที่มีลูกศรนี้ต้องกลับรถไปใช้ช่องทางในทิศทางจราจรตรงข้าม ห้ามขับตรงหรือเลี้ยวซ้าย (ต้องดูความปลอดภัยในรถที่สวนมาทางจราจรตรงข้าม เมื่อปลอดภัยจึงกลับรถได้)

ขอบคุณข้อมูลจาก : khiansapolice.comdlt.go.th

แหล่งอ้างอิง https://car.kapook.com/view63172.html

แอร์รถไม่เย็น แอร์รถเย็นบ้างไม่เย็นบ้าง เป็นเพราะอะไร?

แอร์รถไม่เย็น แอร์รถเย็นบ้างไม่เย็นบ้าง ปัญหาน่าหงุดหงิดสำหรับคนใช้รถ ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุใด และควรต้องแก้ไขอย่างไรให้กลับมาเย็นฉ่ำดังเดิม

ด้วยสภาพอากาศเมืองไทยที่ร้อนแทบจะ 100% เมื่อต้องเจอกับปัญหาแอร์รถยนต์ไม่เย็น หรือแอร์รถเย็นบ้างไม่เย็นบ้าง สิ่งเหล่านี้ย่อมกวนใจคนใช้รถมากเป็นพิเศษ เพราะการต้องขับรถฝ่าการจราจรโดยระบบปรับอากาศไม่สมบูรณ์คงไม่ใช่เรื่องน่าสนุกนัก

อย่างไรก็ตาม เมื่อแอร์รถไม่เย็นหรือมีส่วนใดส่วนหนึ่งขัดข้อง การแก้ไขด้วยตัวเองอาจเป็นไปได้ยาก แต่หากผู้ขับขี่รู้ถึงลักษณะอาการที่เกิดขึ้นย่อมง่ายต่อการสื่อสารให้ช่างทราบ เพื่อวิเคราะห์แก้ไขได้อย่างรวดเร็วตรงจุดกว่า

แอร์รถไม่เย็นเป็นเพราะอะไร ควรสังเกตอย่างไร

แน่นอนว่าเมื่อแอร์รถไม่เย็น ผู้ขับขี่ควรสังเกตลักษณะอาการที่ผิดปกติที่เกิดนั้นว่าเป็นอย่างไร เช่น แอร์รถไม่เย็นมีแต่ลม ไม่มีลมออกเลย แอร์รถเย็นบ้างไม่เย็นบ้างในช่วงขณะหรือจังหวะใด แอร์รถไม่เย็นต้องปิดแล้วเปิดใหม่ถึงจะกลับมาเย็นเหมือนเดิม หรือแอร์เริ่มไม่เย็น เย็นน้อยลง เป็นต้น

การตรวจสอบหาสาเหตุแอร์รถไม่เย็นเบื้องต้น ด้วยตัวเองก่อน

  • เช็กการทำงานของคอมเพรสเซอร์แอร์ โดยสังเกตการตัด-ต่อของคอมเพรสเซอร์ (ซึ่งรอบเครื่องยนต์จะถูกดึงเล็กน้อย) หรือลองเปิด-ปิดสวิตช์ AC ของระบบปรับอากาศเพื่อจับอาการว่าคอมเพรสเซอร์แอร์ทำงานเป็นปกติหรือไม่
  • ดูระดับน้ำยาแอร์ที่ดรายเออร์ (Receiver Drier) ซึ่งจะมีกระจกใสหรือที่นิยมเรียกกันว่าตาแมว จะมองเห็นการหมุนเวียนของน้ำยาแอร์ หากพบว่าเกิดฟองมาก (ปกติจะมีฟองเพียงเล็กน้อย) แสดงว่าน้ำยาแอร์ในระบบขาด อาจมีรอยรั่วในระบบ ทำให้น้ำแอร์พร่องดูดซับความร้อนในห้องโดยสารได้ไม่เต็มที่
  • ตรวจสอบพัดลมระบายความร้อน ว่าเมื่อเปิดแอร์แล้วพัดลมแอร์ด้านหน้ารถ (สำหรับระบายความร้อนคอยล์ร้อนหรือ Condenser) ทำงานปกติหรือไม่ เพราะถ้าหากพัดลมแอร์ไม่ทำงานหรือทำงานไม่เต็ม (แรงลมอ่อน) จะระบายความร้อนไม่ได้หรือได้ไม่ดี ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้แอร์รถไม่เย็นได้
  • กรณีแอร์ไม่มีลมออก แต่คอมเพรสเซอร์ทำงาน ท่อน้ำยาแอร์ที่เดินเข้ามาภายในรถมีไอเย็นเกาะ อาจเป็นไปได้ว่า Blower หรือพัดลมแอร์ (คอยล์เย็นด้านในรถ) ไม่ทำงาน

แอร์รถเย็นบ้างไม่เย็นบ้าง สาเหตุหลักที่พบบ่อย

ปัญหาส่วนใหญ่ที่แอร์รถไม่เย็นมีแต่ลม หรือแอร์รถเย็นบ้างไม่เย็นบ้าง มักเกิดจากน้ำยาแอร์ขาดเนื่องจากมีจุดรั่วในระบบ ทำให้เย็นน้อยลงเรื่อย ๆ หรือคอมเพรสเซอร์เสื่อมประสิทธิภาพหรือไม่ทำงาน รวมถึงพัดลมระบายความร้อนหน้ารถไม่ทำงาน ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แอร์รถไม่เย็นได้เช่นกัน

วิธีแก้ไขแอร์รถไม่เย็น หรือแอร์รถเย็นบ้างไม่เย็นบ้าง

สำหรับการแก้ไขปัญหาแอร์รถไม่เย็น หรือแอร์รถเย็นบ้างไม่เย็นบ้าง คงต้องขึ้นอยู่กับปัญหาที่พบ ในกรณีน้ำยาแอร์ขาดก็สามารถนำรถไปเติมน้ำยาแอร์เพื่อแก้ไขปัญหาเบื้องต้นก่อนได้

แต่โดยปกติแล้วกรณีน้ำยาแอร์ขาด มักมีการรั่วในระบบ และถ้ารอยรั่วไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อใช้ไปสักพักแอร์ก็อาจกลับมาไม่เย็นอีก ส่วนจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับรอยรั่วในระบบ แต่ถ้าคอมเพรสเซอร์แอร์เสื่อมสภาพ เสียหาย คงต้องซ่อมหรือเปลี่ยนใหม่ เช่นเดียวกับระบบระบายความร้อน

อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในระบบแอร์ก็อาจมีส่วน

นอกเหนือจากส่วนประกอบหลัก ๆ ของระบบแอร์ที่มักมีปัญหาตามที่กล่าวมาแล้ว การที่แอร์รถไม่เย็นอาจเกิดจากส่วนอื่นอย่างระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นกัน โดยเฉพาะรถยนต์รุ่นใหม่ที่มีการทำงานซับซ้อนมากขึ้น

ทั้งนี้ การรู้สาเหตุหรือการสังเกตลักษณะอาการของปัญหาแอร์รถยนต์ เช่น แอร์รถไม่เย็นมีแต่ลม ไม่มีลมออก แอร์รถเย็นบ้างไม่เย็นบ้าง ในช่วงจังหวะเวลาใด ต้องปิดแล้วเปิดใหม่ถึงจะกลับมาเย็นเหมือนเดิม หรือแอร์เริ่มไม่เย็น เย็นน้อยลง แม้จะไม่สามารถแก้ไขด้วยตัวเองได้ก็ตาม แต่หากผู้ขับขี่สามารถบอกอาการที่ชัดเจนแก่ช่างได้ ก็จะช่วยให้การตรวจสอบปัญหาแอร์รถไม่เย็นนั้นทำได้รวดเร็วและตรงจุดมากยิ่งขึ้น

แหล่งอ้างอิง https://car.kapook.com/view253616.html

วิธีขับรถลุยน้ำท่วมหรือน้ำรอการระบายให้ปลอดภัยรอดจากความเสียหาย

เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการของเมืองไทยแล้ว เมื่อครั้งที่แล้ว ทีมงาน BoxzaRacing ได้แนะนำวิธี ตรวจเช็คความพร้อมของรถ ก่อนออกไปตะลุยฝน ให้เพื่อนๆ ได้ดูได้ชมกันไปแล้ว คราวนี้ทีมงานจะแนะนำ วิธีขับรถลุยน้ำท่วม หรือน้ำรอการระบาย ให้ปลอดภัย เป็นที่รู้กันอยู่ว่า ถ้าวันไหนฝนตกหนักๆ บ้านเราบางพื้นที่ ที่เป็นพื้นที่ต่ำ อาจจะมีน้ำสะสมค่อนข้างเยอะ ทำให้น้ำระบายไม่ทัน บางทีก็มาขังบนพื้นถนน ถ้าฝนตกหนักมากๆ น้ำขังเหล่านี้ ก็จะมีปริมาณที่สูงขึ้นตามปริมาณของน้ำฝน ทำให้น้ำท่วมถนนได้ น้ำรอการระบาย และเราต้องขับรถผ่านถนนเส้นนั้นพอดี แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ จะขับรถผ่านอย่างไร ไม่ให้รถเกิดความเสียหาย วันนี้ทีมงาน BoxzaRacing จะมาแนะเคล็ดลับดีๆ ให้เพื่อนๆ ได้ลองทำตามดูกัน 

1.อันดับแรกที่เราเห็นน้ำท่วม หรือน้ำขัง เราควรที่จะประเมินสถานะการณ์ของน้ำที่ท่วมขังเสียก่อน โดยสังเกตจากสภาพแวดล้อมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรถคันหน้า หรือขอบฟุตบาท ซึ่งรถยนต์เป็นพาหนะที่วิ่งทางบก เพราะฉะนั้น รถแต่ละประเภทจะลุยน้ำที่ระดับความสูงไม่เหมือนกัน อย่าง รถเก๋ง ไม่ควรที่จะลุยน้ำท่วมสูงเกิน 25 เซนติเมตร รถกระบะสายซิ่งทั้งหลาย ไม่ควรลุยน้ำท่วมสูงเกิน 40 เซนติเมตร หรือรถกระบะขับเคลื่อนสี่ล้อ 4WD ไม่ควรลุยน้ำท่วมสูงเกิน 50 เซนติเมตร หากระดับน้ำสูงเกินกว่านี้ เราไม่ควรที่จะขับลุยเข้าไป ควรที่จะจอดรอให้ระดับน้ำลดลงเสียก่อนค่อยขับผ่านไป       

          2.ประเมินสถานะการณ์เรียบร้อยแล้ว ถ้าโอเคงั้นขับฝ่าไป แต่ต้องปิดแอร์ ที่ต้องปิดแอร์เพราะว่าถ้าเปิดแอร์ เมื่อถึงอุณหภูมิที่กำหนด พัดลมไฟฟ้าทำงาน พัดลมแอร์ทำงาน ถ้าระดับน้ำถึงระดับใบพัดลม อันดับแรกใบพัดลมแอร์จะพัดเอาน้ำหรือสิ่งสกปรกที่ลอยมากับน้ำกระเด็นขึ้นเครื่องยนต์ได้ และจะทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้าบางอย่างที่อยู่ในห้องเครื่องช็อตหรือเสียหายได้ อันดับต่อมาอาจจะทำให้ใบพัดลมแอร์เสียหายและหักได้ เรียกว่าได้ไม่คุ้มเสียแน่นอน เพราะฉะนั้น ทนร้อนนิดเดียว ดีกว่าเสียหายเยอะ 

3.ต่อมา…ให้ใช้เกียร์ต่ำ อย่าใช้รอบสูงมาก ถ้าเป็นเกียร์ธรรมดาควรใช้แค่เกียร์ 1 หรือ 2 เท่านั้น ส่วนเกียร์อัตโนมัติ ดึงเกียร์มาในตำแหน่ง L ได้ และเวลาขับ ควรเลี้ยงรอบเครื่องยนต์ไว้ไม่ให้เกิน 1,500-2,000 รอบ/นาที ยิ่งถ้าเป็นเกียร์ ธรรมดา เข้าเกียร์ 1 เสร็จ ปล่อยคลัทช์ให้รถค่อยๆ เดินเบาไหลไปเรื่อยๆ เพราะถ้าเราขับเร็ว อาจจะทำให้น้ำกระเด็นสูง และคลื่นน้ำก็จะแรงไปกระทบสิ่งของทำให้เกิดการเสียหายได้ พอเกิดคลื่นแรกอาจจะไปพัดเอาสิ่งของต่างๆ ข้างทางมาโดนตัวรถเราได้

4.พอเราเริ่มขับรถลุยน้ำ อย่าขับจี้คันหน้ามากเกินไป ควรทิ้งระยะห่างเอาไว้ อย่าขับชิดคันหน้าจนเกินไป เพราะว่าถ้าเกิดคันหน้าเบรกฉุกเฉิน เราอาจจะเบรกไม่ทัน เนื่องจากระบบเบรกของรถเราก็แช่อยู่ในน้ำเช่นกัน อีกข้อหนึ่งก็คือ เวลาเจอรถสวนควรที่จะเบาคันเร่ง เพราะลดอาการคลื่นปะทะแรงๆ อาจจะสร้างความเสียหายให้กับรถเราก็ได้ 

ถ้าเครื่องยนต์ดับขณะที่เรากำลังขับลุยน้ำ อย่าสตาร์ทเครื่องตอนนั้นเลย เพราะจะมีแรงดูดจากเครื่องยนต์และดูดน้ำวนเข้าไปทำลายเครื่องยนต์ของเราได้ ถ้าเครื่องยนต์ดับเราควรที่จะเข็น หรือจอด หรือลาก รถออกไปจากพื้นที่น้ำท่วม แล้วค่อยหาวิธีแก้ไขต่อไป ถ้าใครที่ซื้อประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ประกันชั้น 2+ หรือประกันชั้น 3+ เอาไว้คุณจะได้รับความคุ้มครองกรณีน้ำท่วม แนะนำว่ารีบโทรหาบริษัทฯ ประกันของคุณเพื่อแจ้งเหตุ และขอความคุ้มครองได้ทันที และหลังจากที่เราขับรถผ่านพื้นที่น้ำท่วมขัง น้ำรอการระบายแล้ว เราก็มีข้อปฏิบัติดังนี้ 

  1.หลังจากขับผ่านพ้นน้ำท่วมขังออกมาแล้ว อย่าเพิ่งรีบเร่งเครื่อง หรือขับรถเร็วๆ ทันที ให้เราใช้ความเร็วต่ำ และเหยียบเบรก แล้วปล่อย เหยียบแล้วปล่อย เพื่อที่จะไล่น้ำออกจากคาลิเปอร์เบรกและผ้าเบรก อีกทั้งยังเช็คระบบเบรกของเราด้วยว่าทำงานได้ดีอยู่ไหม การเหยียบเบรกแล้วปล่อย เราควรที่จะทำประมาณสัก 50 เมตร แต่ต้องดูรถด้านหลังด้วยนะ

          2.จากที่เราย้ำเบรกเสร็จแล้ว เราควรที่จะขับรถไปอีกประมาณ 20 นาที เพื่อไล่ความชื้นที่ยังคงค้างอยู่ในเครื่องยนต์และรถยนต์ แต่ถ้าจำเป็นต้องจอดรถ หรือถึงที่หมายแล้ว อย่าเพิ่งดับเครื่องยนต์ให้สตาร์ทเครื่องยนต์ทิ้งไว้เสียก่อน เพราะเป็นการไล่ความชื้นของเครื่องยนต์และตัวรถด้วย

3.ต่อมาเราก็มาเช็คความเสียหายของตัวรถ เช็คดูว่ามีอะไรมาเกาะไหม หรือชิ้นส่วนไหนหักหลุดออกไปบ้าง ล้อและยางมีความเสียหายไหมเป็นต้น

  นี่คือ วิธีและขั้นตอนในการปฏิบัติ การขับรถลุยน้ำท่วมและหลังจากที่เราลุยน้ำท่วม น้ำรอการระบายเรียบร้อยแล้ว เราควรที่จะทำอะไรบ้าง ลองเอาไปใช้ดู และอย่าลืมศึกษาเส้นทางที่เราใช้ด้วยล่ะ ว่าเส้นนั้น สภาพถนนเป็นอย่างไร เลี่ยงได้เราก็ควรเลี่ยง แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ก็ควรที่จะปฏิบัติตามขั้นตอนด้านบนได้เลย

แหล่งอ้างอิง http://car.boxzaracing.com/knowledge/32841

คู่มือประจำรถ ที่ปรึกษาตัวจริงของคนใช้รถ

 สำหรับท่านที่ซื้อรถใหม่ เชื่อว่าหลายคนเคยเห็นหนังสือเล่มหนึ่ง ที่อยู่ในช่องเก็บของหน้ารถ นั่นคือ คู่มือประจำรถ และเชื่อว่ามีหลายคนที่ไม่เคยนำออกมาใช้ หรือเปิดดูเลยจนกระทั่งขายรถไป แต่สำหรับบางคนเห็นเป็นเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย เพราะอะไร…เรามีคำตอบ

         วันนี้ทีมงาน BoxzaRacing จะมาพูดถึงความสำคัญของหนังสือที่เรียกว่า คู่มือประจำรถ นี้กัน ว่าแท้จริงแล้ว มีความสำคัญกับการใช้รถมากน้อยขนาดไหน ซึ่งแน่นอนว่าหลังจากได้อ่านบทความนี้แล้ว ต้องมีคนเอามากอดเก็บไว้ไม่ให้ใครแน่นอน สำหรับความสำคัญของคู่มือนี้ มีไม่น้อยเลย เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับรถคันนั้นๆ แล้วจะต้องอยู่ในนี้ทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การใช้งานครั้งแรกว่าจะต้องปรับในส่วนไหน พวงมาลัย กระจกไฟฟ้า เบาะนั่งปรับตรงไหน แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐาน แต่นั่นเป็นเพียงความเคยชิน แต่ว่าขั้นตอนและสิ่งที่ถูกต้องนั้น…อยู่ในคู่มือ การเปลี่ยนชิ้นส่วน อุปกรณ์เล็กๆ น้อยๆ ในหนังสือเล่มนี้ มีบอกให้หมด และที่สำคัญ คือ ถูกต้องทุกขั้นตอน

  หรือแม้แต่การบำรุงรักษา การเติมน้ำหม้อน้ำ น้ำฉีดกระจก ไปจนถึงเรื่องการล้างรถยังมีอยู่ในนี้ ตำแหน่งของฟิวส์ ที่หลายคนยังไม่รู้ว่าติดตั้งอยู่ส่วนไหนของรถ แน่นอนว่ารถรุ่นใหม่ๆ จะอยู่ในห้องเครื่องเก็บรวมอยู่ในกล่อง แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าฟิวส์ตัวไหน ต่อกับอุปกรณ์ตัวใด หากไม่ดูที่ คู่มือประจำรถ ตำแหน่งของการขึ้นแม่แรงว่าควรขึ้นส่วนไหนของรถ แล้วแม่แรงยกรถเก็บไว้ตรงไหน จะรู้ได้อย่างไรหากไม่ดูคู่มือ เรียกว่ามีทุกเรื่องที่เกี่ยวกับรถ ที่เราสามารถหาดูได้ในนี้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องปรึกษาบุคลที่หลายคนชอบเรียกว่า เขา (ก็เขาว่ามา)

 แล้วอะไรในรถอีกที่ต้องอาศัย คู่มือประจำรถ นี้ สังเกตง่ายๆ ว่าอะไรบางที่ต้องอ่านคู่มือก่อนว่าจะใช้งานอย่างไร ให้ดูที่สัญลักษณ์รูปหนังสือ ซึ่งจะมีอยู่ตามจุดต่างๆ ของรถ ไม่ว่าจะเป็นที่พื้นรถ เบาะ ที่บังแดด ตลอดจนกระทั่งในห้องเครื่อง เหล่านี้จะต้องดูคู่มือประกอบทั้งสิ้น ไม่มีความจำเป็นต้องเดาอะไร ไม่เพียงเท่านั้นในการเปลี่ยนอะไหล่ ชิ้นส่วนของรถโดยเฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้า ยกตัวอย่าง หลอดไฟ ไฟหน้า ไฟท้าย ไฟในห้องโดยสาร ยังมีวิธีการเปลี่ยนอยู่ในนี้ อีกทั้งยังมีสเปคของหลอดไฟอีกว่า สเปคไหนเหมาะสมกับรถที่ใช้ ตำแหน่งของจุดยึดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแผงข้างประตู กันชน หรือแผงปกคลุมต่างๆ ที่เป็นพลาสติก งานนี้สามารถรื้อออกทำเองได้ง่ายๆ แบบไม่ต้องกลัวเสียหาย หากตามขั้นตอนที่ระบุในคู่มือ ยังมีเรื่องราวดีๆ อีกมากมาย ที่มีเพียงคู่มือเล่มเดียวก็ทำได้ ลองเปิดดูแล้วทำไป ดีไม่ดี แทบไม่ต้องจ้างช่างมาซ่อมรถเลย เพราะทำเองได้ทั้งหมด   

กระซิบอีกครั้งว่า คู่มือประจำรถ ไม่ได้หาซื้อกันง่ายๆ แต่ถึงแม้จะหาได้ก็มีราคาที่สูงมาก เพราะส่วนใหญ่แล้วเจ้าของรถไม่ย่อมขาย และจะต้องติดอยู่กับรถตลอดเวลา เอาเป็นว่า…วันนี้ได้อ่านบทความนี้แล้ว ลองไปเปิดรถดูว่า หนังสือที่เรียกว่า คู่มือประจำรถ เล่มนี้ ยังมีอยู่ในรถหรือไม่ แล้วลองเปิดอ่านสักเรื่อง เชื่อได้ว่าคุณๆ จะได้ความรู้เรื่องรถมากขึ้น โดยไม่ต้องเรียนหรือปรึกษาช่างเลย

แหล่งอ้างอิง http://car.boxzaracing.com/knowledge/32015

ผ้าเบรคคืออะไร ควรเปลี่ยนตอนไหน แล้วแบบไหนยี่ห้ออะไรถึงจะดีกับรถของเราที่สุด

ในเมื่อเราพูดถึงระบบเบรคของรถยนต์ในรูปแบบต่าง ๆ กันไปแล้ว อีกหนึ่งชิ้นส่วนที่สำคัญและต้องหมั่นดูแลอยู่เป็นพิเศษอีกหนึ่งชิ้นนั่นก็คือ ผ้าเบรค ที่จะต้องเปลี่ยนอยู่เป็นประจำตลอดอายุการใช้งานของตัวรถ ซึ่งในวันนี้เราก็จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับสิ่งนี้กันผ่าน บทความ ผ้าเบรคคืออะไร ควรเปลี่ยนตอนไหน แล้วแบบไหนยี่ห้ออะไรถึงจะดีกับรถของเราที่สุด เรื่องนี้ ที่คนใช้รถยนต์ทุกคนควรที่จะต้องมีความรู้ติดตัวกันเอาไว้บ้าง อย่างน้อยก็ควรที่จะรู้ว่าควรเปลี่ยนผ้าเบรคในตอนไหน แบบไหนปลอดภัยแบบไหนอันตราย เพื่อให้ทุกการเดินทางเต็มไปด้วยความมั่นใจและความปลอดภัย กับทั้งท่านและผู้ร่วมเดินทาง หรือ แม้กระทั่งผู้ใช้รถใช้ถนนท่านอื่น ๆ ด้วย

ผ้าเบรคคืออะไร 

ผ้าเบรคคือ ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่จะช่วยสร้างแรงเสียดทานให้ระบบเบรค คือชิ้นส่วนสำคัญที่ระบบเบรคในทุกรูปแบบจะขาดไปไม่ได้ โดยอุปกรณ์ชิ้นนี้จะทำหน้าที่เป็นตัวกดหรือจับตัวจานดิสก์เบรคที่ติดอยู่กับล้อในขณะที่เราเหยียบเบรค ตัวแม่ปั้มจะคอยดันผ้าเบรคให้มาสัมผัสกับจานที่ยึดติดกับล้อรถเพื่อช่วยชะลอหรือหยุดรถ จนเกิดการทำงานของระบบเบรคนั่นเอง โดยตัวผ้าเบรคนั้นจะทำมาจากวัสดุที่มีเนื้อหยาบกร้านทนทานต่อความร้อน เช่น เส้นใยสังเคราะห์ หรือ เส้นใยเหล็ก และ อีกมากมายหลายชนิด ที่วางจำหน่ายอยู่มากมายหลายยี่ห้อ ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีคุณสมบัติและความสามารถที่แตกต่างกันออกไป นั่นก็รวมไปถึงอายุการใช้งานด้วยเช่นกัน แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าผ้าเบรคแบบไหนจะเหมาะกับรถของเรา แล้วจากยี่ห้อไหนดีที่สุดกัน ซึ่งถ้าถามว่าดีที่สุดไหมเราก็คงจะตอบไม่ได้ เพราะแน่นอนว่าแต่ละแบรนด์ก็มีข้อดีและจุดที่โดดเด่นแตกต่างกันไป ซึ่งก่อนจะไปดูว่าผ้าเบรคมียี่ห้ออะไรบ้างเราไปรู้จักกับ ผ้าเบรคทั้ง4 รูปแบบกันก่อนดีกว่า

ผ้าเบรคมีทั้งหมด 4 รูปแบบ

1.ผ้าเบรคออร์แกนิก คือ ผ้าเบรคที่จะผลิตด้วยใยแก้ว , ยาง และ ไฟเบอร์ โดยจะไม่ใช้ส่วนผสมของโลหะอยู่เลย ซึ่งข้อดีของผ้าเบรคชนิดนี้ คือการที่ไม่มีส่วนผสมของโลหะจะช่วยทำให้เวลาที่ใช้เบรคจะมีความนุ่มเงียบมากเป็นพิเศษโดยจะไม่มีเสียงดังและยังช่วยถนอมจานเบรคได้ในระดับหนึ่งอีกด้วย ส่วนข้อเสียนั้นก็จะมีอายุการใช้งานที่สั้น และ ไม่เหมาะกับการใช้ความเร็วสูง

2.ผ้าเบรคเมทัลลิค คือ ผ้าเบรคที่ทำจากโลหะร้อน โดยจะออกแบบมาให้สามารถทนทานต่อความร้อนได้สูงมาก ๆ และ ตัวผ้าเบรคมีอายุการใช้งานที่มากกว่าผ้าเบรครุ่นอื่น ๆ หรือ จะเรียกว่าเป็นผ้าเบรคที่แข็งแกร่งที่สุดก็ว่าได้ แต่ข้อเสียหลัก ๆ ก็คือด้วยความที่ตัวผ้าเบรคนั้นเป็นเหล็กก็อาจจะทำให้จานเบรคสึกหรอได้เร็วก่อนเวลาอันควร รวมถึงเวลาเบรคก็จะมีเสียงที่ดังกวนใจอยู่บ่อยครั้ง และ ไม่เหมาะกับการใช้ความเร็วสูง

3.ผ้าเบรกเซมิเมทัลลิค คือ ผ้าเบรคที่ผสมระหว่างโลหะกับใยสังเคราห์ โดยจะใช้ส่วนผสมของโลหะในอัตราส่วนที่มากกว่า เป็นผ้าเบรคอีกหนึ่งรูปแบบที่ได้รับความนิยมมาก ๆ ในปัจจุบัน เพราะค่อนข้างอเนกประสงค์ มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน รองรับการใช้งานได้หลากหลายสามารถเบรคบนความเร็วสูงได้ดี เหมาะกับผู้ที่ชื่นชอบความเร็ว แต่ข้อเสียก็จะไม่ค่อยเหมาะกับรถยนต์ที่บรรทุกน้ำหนักเยอะ หรือ ตัวรถที่มีน้ำหนักตัวถังมาก

4.ผ้าเบรคเซรามิก คือผ้าเบรคสมรรถนะสูงที่ทำมาจากเซรามิกผสมกับทองแดง ซึ่งทำให้มีประสิทธิภาพดีที่สุดกว่าผ้าเบรคทุกรูปแบบ ที่ให้ทั้งความนุ่มเงียบในเวลาใช้งานและจะไม่มีเขม่าดำออกมาในเวลาที่เบรกในความเร็วสูง ส่วนข้อเสียของผ้าเบรคชนิดนี้ก็จะเป็นในเรื่องความร้อนที่ตัวผ้าเบรคนั้นจะไม่ดูดซับความร้อนทำให้ความร้อนจะไปอยู่ที่จานเบรคแทน และ ผ้าเบรคชนิดนนี้ก็จะมาพร้อมกับราคาที่สูงมาก ๆ

    ผ้าเบรคควรเปลี่ยนตอนไห

    สำหรับระยะทำงานของผ้าเบรคแต่ละชนิดก็จะมีอายุการใช้งานที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้ผลิตของแต่ละแบรนด์ก็จะมีระยะเวลาที่การันตีมาให้ อยู่ที่ 40,000-100,000 กิโลเมตร แล้วแต่ชนิดของผ้าเบรคที่เลือกใช้ แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ใช่ข้อมูลที่จะสามารถเชื่อและไว้ใจได้ทั้งหมด 100 เปอร์เซนต์ เพราะแน่นอนว่ารถยนต์แต่ละคันนั้น มีอะไรหลาย ๆ อย่างที่แตกต่างกัน ทั้งขนาดของเครื่องยนต์ , ขนาดของตัวรถ ซึ่งนั่นก็ยังไม่รวมไปถึงพฤติกรรมการขับขี่ของแต่ละคน ที่บางคนก็ขับช้าบางคนก็ขับเร็ว หรือ แม้กระทั่งสถานที่ภูมิประเทศที่ใช้งานด้วยว่าต้องขึ้นเขาลงเขาเป็นประจำรึป่าว ซึ่งแน่นอนถ้ายิ่งใช้งานหนักก็จะยิ่งทำให้ผ้าเบรคนั้นหมดไว้ขึ้น อีกสิ่งหนึ่งที่สามารถบ่งบอกได้ว่าเราควรเปลี่ยนผ้าเบรคได้แล้วนอกจากระยะทางในการใช้งาน คือความหนาของปริมาณผ้าเบรค ซึ่งเราสามารถเช็คดูได้ก่อนจะเปลี่ยนว่าตัวผ้าเบรคนั้นมีความหนาในระดับไหน ซึ่งข้อสังเกตุง่าย ๆ เลยถ้าผ้าเบรคที่พึ่งจะแกะกล่องออกมานั้นจะมีความหนาอยู่ที่ 10 มิลลิเมตรขึ้นไป ซึ่งถ้าหากความหนาของผ้าเบรคลดลงมาเหลือ 5 มิลลิเมตร นั่นก็ถือว่าอยู่ในจุดที่ควรเปลี่ยนได้แล้ว และ ถ้าหากพบว่ามีความหนาต่ำกว่า 5 มิลลิเมตร คือช่วงเวลาที่ไม่ควรใช้รถอย่างยิ่ง และ ต้องรีบเปลี่ยนด้วยด่วน

    ผ้าเบรคยี่ห้อไหนดีที่สุด 

    1. Compact Brake ผ้าเบรคคอมแพคท์ คืออีกหนึ่งแบรนด์ผ้าเบรคระดับโลกที่ใครหลาย ๆ คนต่างก็เลือกใช้ โดยจะมีผ้าเบรคคุณภาพมาให้เลือกมากมายหลายรูปแบบดังนี้
    • Compact Primo คือ ผ้าเบรคที่ใช้สำหรับรถยนต์ทั่วไปที่ใช้งานในเมือง สามารถรองรับความเร็วปกติได้ดี
    • Compact Nano X คือผ้าเบรคสำหรับรถสปอร์ต หรือ รถยนต์ที่มีพละกำลังสูง เพราะจะให้ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานที่สูง ช่วยให้ระยะเบรคสั้น ตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว และ สัมผัสที่นุ่มเงียบ
    • Compact Duramax คือผ้าเบรคสำหรับรถกระบะหรือรถบรรทุก ที่ใช้ขึ้นเขาลงเขาเป็นประจำ เพราะจะเป็นผ้าเบรคที่ทนทานต่อความร้อนได้สูง สามารถใช้งานต่อเนื่องได้นาน

    2. Bendix คือ อีกหนึ่งยี่ห้อผ้าเบรคที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน โดยจะมีผ้าเบรคให้เลือกมากถึง 5 รุ่น ได้แก่ 

    • General CT คือผ้าเบรคสำหรับรถยนต์ทั่วไปที่ใช้งานในเมือง และ ใช้ความเร็วอยู่บ้างในบางเวลา
    • Heavy Duty เหมาะกับรถที่ต้องบรรทุกของหนัก หรือ รถตู้ 
    • Metal King Titanium คือผ้าเบรคสมรรถนะสูง ที่เหมาะกับรถสปอร์ตที่ใช้ความเร็วสูงและใช้เบรคอย่างรวดเร็ว
    • 4WD SUV คือผ้าเบรคสำหรับรถยนต์ยกสูงสายลุยแบบ Off-Road สามารถลุยน้ำลุยโคลนได้เต็มที่
    • Premium คือ ผ้าเบรคเซรามิคเกรดพรีเมี่ยม ที่รองรับความเร็วสูงได้ดี มีระยะเบรคที่สั้น ทนทานต่อความร้อน

    3. Nexzter ผู้ผลิตผ้าเบรคยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่น ที่มากับผ้าเบรคทั้งหมด 4 รุ่น ได้แก่

    • Next Spec คือผ้าเบรครุ่นเริ่มต้น สำหรับรถยนต์ทั่วไป
    • MU Spec คือผ้าเบรคสำหรับรถยนต์กึ่งสปอร์ตที่สามารถรองรับความเร็วสูงได้ในระดับหนึ่ง
    • Pro Spec คือผ้าเบรดเกรดรถสปอร์ตสมรรถนะสูง 
    • Race Spec คือผ้าเบรคเซรามิคเกรดสำหรับรถแข่ง

    4. TRW แบรนด์ผ้าเบรคชื่อดังจากเยอรมนี ที่มากับผ้าเบรคทั้งหมด 4 รุ่น ดังนี้

    • COTEC เหมาะกับรถยนต์ยุโรปทั่วไป
    • DETEC เหมาะกับรถเก๋งญี่ปุ่นทั่วไป
    • UTEC เหมาะกับรถกระบะหรือรถบรรทุก
    • ATEC คือผ้าเบรคอเนกประสงค์ที่ใช้ได้ทั้งรถเก๋งและรถกระบะ

    5. Akebono แบรนด์ผ้าเบรคสัญชาติญี่ปุ่น สุดโด่งดังที่ผลิตผ้าเบรคให้กับแบรนด์รถยนต์ชั้นนำทั่วโลกมาแล้วมากมาย โดยจะมีให้เลือกทั้งหมด 3 รุ่น 

    • PRO-ACT คือผ้าเบรคสำหรับรถยนต์ทั่วไป

    ผ้าเบรกที่ได้รับการออกแบบให้ลดเสียงดังรบกวนและการสั่นสะเทือน เพื่อให้คุณภาพการเบรกที่นุ่ม เงียบ มีประสิทธิภาพการใช้งานที่ยาว เหมาะกับการใช้งานทั่วไป

    • Euro คือผ้าเบรคเซรามิคสมรรถนะสูง ที่เหมาะกับรถสปอร์ตจากยุโรป
    • Performance คือ ผ้าเบรคเซรามิคเกรดรถแข่ง โดยจะเหมาะกับรถสปอร์ตและรถยนต์ที่ได้รับการ Modify ทุกรุ่น 

    6. Brembo คือ ผู้ผลิตเบรคอันดับหนึ่งของโลกซึ่งแน่นอนถ้าไม่ใส่เข้ามาด้วยก็คงไม่สมบูรณ์ ซึ่งผ้าเบรคของ Brembo ก็จะมีเพียงรุ่น Brembo Xtra ที่ผลิตมาจากส่วนผสมมากกว่า 30 ชนิด ที่จะช่วยให้ระบบเบรคของคุณมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับรถสปอร์ตสมรรถนะสูงเลย แต่ก็ต้องแลกมากับราคาที่แพงมาก ๆ ด้วยเช่นกัน 

    สรุป

    สำหรับผ้าเบรค ก็เรียกได้ว่าเป็นชิ้นส่วนที่ต้องหมั่นดูแล และ ต้องเลือกใช้ให้ตรงรุ่นตรงคุณสมบัติของรถคุณด้วยเช่นกัน แถมยังเป็นอีกหนึ่งชิ้นส่วนที่ต้องหมั่นดูแลรักษาอยู่ตลอด เพราะถ้าหากเสื่อมสภพหรือเสียหายไปนั่นก็หมายถึงชีวิตได้เลย และ ก่อนจากกันในครั้งนี้ เราหวังว่า บทความ ผ้าเบรคคืออะไร ควรเปลี่ยนตอนไหน แล้วแบบไหนยี่ห้ออะไรถึงจะดีกับรถของเราที่สุด เรื่องนี้ จะมอบประโยชน์ให้กับผู้อ่านได้ทุกท่านนะครับ ส่วนในครั้งหน้าจะเป็นบทความเรื่องอะไรนั้น โปรดติดตามกันด้วยนะครับ

    แหล่งอ้างอิง

    https://mywonderwheel.com/%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b9%87%e0%b8%94%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%a3%e0%b8%96cat/%e0%b8%9c%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b9%80%e0%b8%9a%e0%b8%a3%e0%b8%84%e0%b8%84%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3-%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b5%e0%b9%88/

    แบตเตอรี่รถยนต์มีอายุการใช้งานกี่ปี ?

    หากพูดถึงรถยนต์ในปัจจุบันที่ชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่างๆของรถยนต์จะใช้ระบบไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้นแบตเตอรี่จึงเป็นอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่สำคัญมากๆใช้จ่ายกระแสไฟตั้งแต่ในการสตาร์ทเครื่องยนต์จนไปถึงควบคุมระบบและอุปกรณ์ต่างๆของรถ ซึ่งเชื่อว่าผู้ใช้งานหลายท่านก็ต่างสงสัยกันว่า แบตเตอรี่รถยนต์มีอายุใช้งานได้กี่ปี ถ้าหากแบตเตอรี่เสื่อมจะมีวิธีสังเกตอย่างไร รวมถึงสาเหตุที่ทำให้แบตเตอรี่ของเราเสื่อมสภาพได้ ในวันนี้ผมจะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับวิธีใช้งานแบตเตอรี่ให้มีระยะเวลาตามอายุการใช้งานมากที่สุดกันครับ

    แบตเตอรี่รถยนต์มีอายุการใช้งานกี่ปี ?

    แบตเตอรี่รถยนต์ของเราหากจะให้ระบุชัดเจนว่ามีอายุการใช้งานกี่ปีจะเป็นเรื่องที่ตอบยาก เพราะต้องดูจากปัจจัยหลายๆอย่างตั้งแต่เรื่องของการใช้งานและสภาพอากาศในระหว่างเวลาที่ใช้และเวลาที่จอด รวมถึงเกรดคุณภาพของแบตเตอรี่ที่ใช้งานด้วย โดยปกติจะมีอายุการใช้งานถ้าน้อยที่สุดจะอยู่ที่ประมาณ 2 ปี หากดูแลรักษาอย่างดีไม่เสื่อมสภาพก็จะมีอายุการใช้งานได้มากที่สุด 5 ปี เพราะฉะนั้นควรจะเปลี่ยนในช่วงประมาณ 3-4 ปี น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุด

    สาเหตุที่ทำให้แบตเตอรี่รถยนต์เสื่อมสภาพ

    • สภาพอากาศและอุณหภูมิ หากเจออุณหภูมิที่หนาวจัดและร้อนจัด จะทำให้แบตเตอรี่รถยนต์เสื่อมสภาพได้ ยิ่งถ้าจอดในพื้นที่ดังกล่าวเป็นเวลานานจะทำให้การกักเก็บกระแสไฟทำงานได้ไม่ดีเหมือนสภาพอุณหภูมิปกติ สังเกตได้จากการที่ผู้ใช้งานที่มีรถจอดนานๆแบบไม่ได้ใช้มักจะจอดเก็บในที่ร่มอยู่เสมอ 
    • การต่อขั้วแบตเตอรี่ การต่อขั้วแบตหากต่อไม่ดีหรือต่อหลวมไปจะให้การจ่ายกระแสไฟและการชาร์จไฟทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้แบตเตอรี่รถยนต์เสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควร
    • ความผิดปกติของระบบชาร์จไฟ หากไดร์ชาร์จไฟมีปัญหาก็จะทำให้การจ่ายกระแสไฟที่ต่ำกว่ากำหนดไปยังแบตเตอรี่หรือมีการรั่วไหลของกระแสไฟก่อนไปถึงตัวแบตเตอรี่ก็จะทำให้แบตเตอรี่ทำงานหนักโดยที่มีกระแสไฟส่งมาไม่พอเป็นสาเหตุให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพได้ หรือการที่ดัดแปลงให้จ่ายกระแสไฟมากกว่ากำหนดก็จะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพได้เช่นกัน
    • การเปิดไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าทิ้งไว้ เชื่อว่าหลายท่านก็อาจจะเคยลืมเผลอเปิดไฟหน้ารถทิ้งไว้หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าค้างไว้โดยที่ไม่ได้สตาร์ทเครื่องยนต์นี่ก็จะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้แบตเสื่อมหรือหมดได้เร็วมากขึ้นเพราะการที่ใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าโดยไม่ผ่านการสตาร์ทเครื่องยนต์จะเป็นการดึงพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่โดยตรงโดยที่ไม่มีการปั่นกระแสไฟจากเครื่องยนต์มาทดแทนพลังงานที่เสียไป

    อาการเมื่อแบตเตอรี่รถยนต์เสื่อมสภาพ

    • เครื่องยนต์สตาร์ทติดยากหรือสตาร์ทไม่ติด หากรถยนต์ของคุณใช้เวลาในการสตาร์ทเครื่องยนต์นานขึ้นจนกว่าจะติด เป็นสาเหตุจากการที่แบตเตอรี่เริ่มเก็บประจุไฟไม่ไว้ไม่อยู่ทำให้จ่ายไฟได้น้อยลง และหากสตาร์ทเครื่องยนต์ไม่ติดเลยก็แสดงว่าแบตเตอรี่มีไฟไม่เพียงพอในการสตาร์ทเครื่องยนต์ เป็นข้อสังเกตที่จะเห็นได้อย่างแรกเพราะการสตาร์ทเครื่องยนต์คือการใช้งานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่มากที่สุด 
    • เมื่อสตาร์ทเครื่องยนต์มีกลิ่นผิดปกติ เมื่อสตาร์ทเครื่องยนต์ไปแล้วได้กลิ่นเหม็นไหม้หรือกลิ่นผิดปกติเข้ามาในรถก็อาจจะเกิดจากแบตเตอรี่มีการรั่วไหลหรือชำรุดหากฝืนใช้งานต่อจะสร้างความเสียหายลุกลามไปยังชิ้นส่วนต่างๆได้ ให้รีบเปลี่ยนโดยทันที
    • ฟหน้าส่องสว่างน้อยลง หากในการขับรถในเวลากลางคืนแล้วมีความรู้สึกว่าแสงไฟหน้ารถยนต์ส่องสว่างได้ไม่เหมือนในครั้งก่อน ก็สามารถตั้งข้อสงสัยไปที่การทำงานของแบตเตอรี่ได้เลย
    • แบตเตอรี่ผิดปกติ แบตเตอรี่มีอาการร้อนกว่าปกติหรือเกิดการบวมมากกว่าเดิมนี่ก็เป็นอีกสัญญาณหนึ่งที่บอกว่าแบตเตอรี่ของคุณกำลังเสื่อมสภาพ 
    • สัญลักษณ์บนหน้าจอมาตรวัดหรือบนแบตเตอรี่ โดยรถยนต์รุ่นใหม่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ทางผู้ผลิตมักจะใส่ตาแมวเป็นสัญลักษณ์บอกประสิทธิภาพของแบตเตอรี่มาให้ด้วย หรือ สัญลักษณ์บนหน้าจอมาตรวัดเมื่อแบตเตอรี่ใกล้หมดหรือเริ่มที่จะส่งไฟไม่เพียงพอจะขึ้นรูปแบตเตอรี่สีแดงมาปรากฏกวนใจอยู่บนจอมาตรวัด

    หากแบตเตอรี่รถยนต์หมดควรทำอย่างไร

    หากแบตเตอรี่หมดให้หาสายพ่วงแบตที่เป็นอุปกรณ์ติดรถมาให้แล้วให้ขอพ่วงกับรถที่อยู่ระแวกใกล้เคียง ในการพ่วงแบตแต่ละครั้งต้องให้รถคันที่เราจะพ่วงสตาร์ทเครื่องยนต์ตลอดเวลา จากนั้นให้อ่านขั้วบวกขั้วลบให้ดีแล้วหนีบตัวหนีบเข้ากับขั้วแบตให้แน่นทั้ง 2 คัน โดยในสีแดงจะเป็นขั้วบวก + สีดำจะเป็นขั้วลบ – จากนั้นให้ทำการเร่งเครื่องรถยนต์เล็กน้อยเพื่อกระตุ้นไฟแล้วถึงค่อยสตาร์ทเครื่องยนต์อีกครั้ง หากสตาร์ทติดแล้วให้เข้าร้านตรวจสอบสภาพแบตเตอรี่ให้เรียบร้อย หากสตาร์ทไม่ติดอาจเกิดจากขั้วแบตหลวมหรือเสียบสายพ่วงไม่แน่น หากแก้ไขแล้วยังไม่ติดอีกก็ให้โทรตามช่างเพื่อนำแบตมาเปลี่ยนโดยไม่ต้องเรียกรถสไลด์หรือรถรากไปที่ร้านแต่อย่างใด

    ไม่ว่าจะใช้งานแบตเตอรี่รถยนต์ที่มีเกรดดีแค่ไหนหากใช้งานอย่างไม่ถนอมก็สามารถเสื่อมสภาพได้เช่นกัน หากทุกท่านปฏิบัติตามและเลี่ยงพฤติกรรมที่เราได้มานำเสนอผ่านบทความ แบตเตอรี่รถยนต์มีอายุใช้งานได้กี่ปี ถ้าหากแบตเตอรี่เสื่อมจะมีวิธีสังเกตอย่างไร เรื่องนี้ จะช่วยให้อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ในรถยนต์ที่คุณใช้ไม่เสื่อมสภาพก่อนเวลาได้ครับ หากชอบและถูกใจบทความของเรายังมีบทความที่น่าสนใจอีกมากมายในเว็บไซด์นี้ โปรดเลือกรับชมได้เลยครับ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ให้กับทุกท่านได้อย่างมาก สำหรับวันนี้ต้องขอตัวลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่

    แหล่งอ้างอิง

    https://mywonderwheel.com/%e0%b9%80%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b9%87%e0%b8%94%e0%b8%84%e0%b8%a7%e0%b8%b2%e0%b8%a1%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b9%80%e0%b8%a3%e0%b8%b7%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%a3%e0%b8%96cat/%e0%b9%81%e0%b8%9a%e0%b8%95%e0%b9%80%e0%b8%95%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a3%e0%b8%96%e0%b8%a2%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b9%8c%e0%b8%a1%e0%b8%b5%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%a2%e0%b8%b8%e0%b9%83/

    check-credit