เฉลิมชัย รถบ้าน

ที่สุดด้านคุณภาพและบริการ ต้องเฉลิมชัย รถบ้าน
โทร : 096-242-8639 เปิดทำการทุกวัน
110/4 หมู่ 1 ต.หนองยาว อ.เมือง จ.สระบุรี

Author: admin

สีรถถูกโฉลกตามราศี เสริมดวงดี ขับขี่แล้วมั่นใจ

ชื่อว่ามีหลายคนที่คิดจะซื้อหรือเปลี่ยนรถใหม่โดยเลือกสีตามความชอบของตัวเอง แต่ก็มีไม่น้อยที่เลือกสีรถที่ชอบด้วย และถูกโฉลกกับตัวเองด้วย เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการขับขี่มากขึ้น ดังนั้นวันนี้เราจึงมีเคล็ดลับในการเลือก “สีรถถูกโฉลกตามราศีเกิด” มาแนะนำ ส่วนราศีไหนจะเหมาะกับรถสีอะไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลย 

สีรถถูกโฉลกตามราศี เลือกสีอะไรดี ?

  • ราศีเมษ (Aries) : สีแดง, เหลือง, ส้ม
  • ราศีพฤษภ (Taurus) : สีขาว, เขียว, ดำ
  • ราศีมิถุน (Gemini) : สีแดง, เขียว, เทา
  • ราศีกรกฎ (Cancer) : สีขาว, แดง, เหลือง
  • ราศีสิงห์ (Leo) : สีแดง, เหลือง, ส้ม, ขาว
  • ราศีกันย์ (Virgo) : สีแดง, เขียว, เทา
  • ราศีตุลย์ (Libra) : สีขาว, เขียว, ดำ
  • ราศีพิจิก (Scorpio) : สีแดง, เหลือง, ส้ม
  • ราศีธนู (Sagittarius) : สีแดง, เหลือง, ส้ม, ทองแดง
  • ราศีมังกร (Capricorn) : สีน้ำเงิน, เขียว, เหลือง
  • ราศีกุมภ์ (Aquarius) : สีน้ำเงิน, เขียว, เหลือง
  • ราศีมีน (Pisces) : สีแดง, เหลือง, ส้ม, ทองแดง

รถยนต์ที่ใช้ร่วมกัน ต้องเลือกสีตามราศีของใคร ?

สำหรับในกรณีที่รถคันเดียวแต่แบ่งกันใช้หลายคน อย่างเช่นคู่สามี-ภรรยา ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า แล้วอย่างนี้จะต้องเลือกสีรถตามราศีของใครดีล่ะ ? ซึ่งทางออกก็มีหลายวิธี ประการแรกเลยคือ ให้ลองหาสีที่ตรงกับราศีของทั้งคู่ ยกตัวอย่างเช่น คนหนึ่งเกิดราศีสิงก์ ส่วนอีกคนเกิดราศีมังกร ก็สามารถเลือกรถสีเหลืองได้ เพราะสีเหลืองถูกโฉลกกับทั้งสองราศีนั่นเอง นอกจากนี้ ก็ยังสามารถเลือกสีภายนอกรถตามราศีของคนหนึ่ง แล้วเลือกสีภายในรถตามราศีของอีกคนได้ หรือจะใช้วิธีนำสติ๊กเกอร์อีกสีหนึ่งมาแปะบนรถก็ได้เช่นกัน และในกรณีที่มีคนใดคนหนึ่งใช้รถบ่อยกว่า อาจให้ยึดสีรถตามราศีของคนนั้นเป็นหลักก็ได้

อย่างไรก็ตาม การเลือกสีรถเป็นเพียงส่วนหนึ่งของความเชื่อเรื่องการเสริมดวงชะตาเท่านั้น ซึ่งยังมีหลักอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกสีรถตามวันเกิด , สีรถตามปีเกิด หรือการเลือกเลขทะเบียนรถ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากสีที่ถูกโฉลกกับตัวเองไม่ใช่สีที่ชอบ หรือมีสีที่ชอบในใจแต่ดันไม่ถูกโฉลก เรื่องนี้ก็คงต้องตัดสินใจแล้วล่ะว่าให้ความสำคัญกับสิ่งไหนมากกว่ากัน ซึ่งขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแต่ละบุคคล 

แต่ประเด็นสำคัญที่จะต้องไม่ลืมคือ หากเราขับรถโดยประมาท ถึงแม้จะเลือกสีรถเสริมดวงก็ย่อมอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยทั้งกับตนเองและกับผู้อื่น ควรขับขี่ให้ถูกต้องตามกฎจราจรมากที่สุด รวมถึงมีสติตลอดเวลายามขับขี่นั่นเอง

แหล่งที่มา: เว็บไซต์ car.kapook.com

ฮวงจุ้ยรถยนต์ 2022 กับเคล็ดลับเสริมดวงเพื่อความเป็นสิริมงคล

ฮวงจุ้ย คือ ศาสตร์ความเชื่อที่อยู่คู่กับคนเรามาอย่างยาวนานว่าเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมดวงชะตาให้ชีวิตพบกับความโชคดี ซึ่งนอกจากฮวงจุ้ยบ้านแล้ว เรื่องของ “ฮวงจุ้ยรถยนต์” ก็เป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถหลายท่านให้ความสนใจ เพราะจะนำพาความเป็นสิริมงคลเข้ามาในชีวิต เดินทางปลอดภัยแคล้วคลาด ดวงดี และวันนี้เราจะพาไปดูกันว่ามีวิธีเสริมฮวงจุ้ยรถยนต์อย่างไรบ้างที่คุณเองก็สามารถทำได้ง่าย ๆ

1. ภายในห้องโดยสารต้องไม่รกหรือสกปรก

ลองสำรวจดูว่าภายในห้องโดยสารมีของรกรุงรัง คราบสกปรก หรือเศษขยะอะไรอยู่หรือไม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ตามหลักของฮวงจุ้ยรถยนต์เป็นสิ่งของที่ไม่ควรมี เพราะเป็นบ่อเกิดแห่งความซึมเศร้า ไม่สดใส และอาจส่งผลร้ายทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เสียทรัพย์ได้ ดังนั้นควรทำให้ภายในห้องโดยสารสะอาด ไม่รกรุงรัง ดูโปร่งโล่งสบาย นอกจากจะช่วยให้รถยนต์มีพลังงานที่ดีแล้ว ยังช่วยในเรื่องของสุขอนามัย เพราะขยะเหล่านั้นรวมถึงฝุ่นละอองต่าง ๆ จะเป็นบ่อเกิดของกลิ่นและเชื้อโรค

2. กระจกทุกบานต้องใสและสะอาด

กระจกเป็นส่วนสำคัญของฮวงจุ้ยรถ ดังนั้นการดูแลรักษากระจกให้สะอาดและเงางามอยู่เสมอจะเป็นการเสริมฮวงจุ้ยของรถให้ดูดี ไม่ควรปล่อยให้กระจกหน้าและหลังรถหมอง หรือกระจกรถเป็นฝ้า รวมถึงกระจกหน้าต่างทุกบานต้องสะอาดทั้งด้านนอกและด้านใน เพื่อที่จะได้รับพลังงานบริสุทธิ์จากแสงธรรมชาติ อีกทั้งยังช่วยให้รถของคุณน่ามองและช่วยสร้างทัศนวิสัยในการขับขี่ที่ดีขึ้น

3. ไฟหน้ารถ

ไม่ใช่แค่ทำความสะอาดกระจกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น “ไฟหน้า” ก็เป็นส่วนสำคัญตามหลักฮวงจุ้ย เพราะไฟหน้ารถยนต์ จะเปรียบเหมือนแสงที่ส่องสว่างนำทาง ซึ่งหากไฟที่นำทางไม่มีความสว่างเพียงพอก็จะทำให้การเดินทางไม่ราบรื่น ดังนั้นต้องหมั่นดูแลอย่าให้ไฟหน้าดับหรือขาด โคมไฟหน้ารถต้องไม่เหลืองขุ่นมัว ถ้ามีอาการดังกล่าวให้รีบแก้ไขโดยทันที เพื่อช่วยให้ชีวิตขับเคลื่อนไปได้ด้วยความราบรื่น ที่สำคัญยังช่วยในเรื่องความปลอดภัยขณะขับขี่อีกด้วย 

4. หาน้ำหอมมาติดรถยนต์

น้ำหอมรถยนต์ ก็เป็นสิ่งสำคัญต่อการเพิ่มพลังงานบวกให้กับรถและตัวคุณเอง เพราะถ้าปล่อยให้ภายในรถมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ไม่ว่าจะกลิ่นอาหารที่นำขึ้นไปกิน หรือจะเป็นกลิ่นขยะ กลิ่นควันไอเสีย ที่หลุดรอดเข้ามา ดังนั้นเราจึงควรกำจัดออกไปให้หมด เพื่อให้ได้รับกลิ่นที่บริสุทธิ์และหอมสดชื่น ทั้งการเปิดหน้าต่าง รวมถึงเลือกใช้น้ำหอมรถยนต์เข้ามาช่วย โดยควรหลีกเลี่ยงน้ำหอมกลิ่นเคมีรุนแรง เพราะจะทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน ขาดสมาธิได้

5. ขับรถเปิดหน้าต่าง รับลมและแสงอ่อน ๆ

หากคุณขับรถออกนอกเมืองแล้วพบว่ามีสภาพอากาศที่ปลอดโปร่ง ไร้ฝุ่น แดดร่ม ๆ และเดินทางในสถานที่ที่มีภูมิทัศน์สวยงาม เช่น บนภูเขา ริมทะเล ควรหาโอกาสปิดแอร์แล้วเปิดกระจกหน้าต่างรับลม เพราะการทำเช่นนี้จะช่วยขจัดพลังงานด้านลบที่อยู่ภายในห้องโดยสารตามหลักของฮวงจุ้ย นอกจากนั้นยังสามารถช่วยขจัดความอับชื้น และกลิ่นอับที่หมักหมมอยู่ภายในห้องโดยสารได้ ช่วยให้คุณรู้สึกสบายใจ หายใจเอาอากาศเข้าปอดได้อย่างเต็มที่ 

6. สร้างบรรยากาศด้วยเพลงสบาย ๆ

ในระหว่างขับรถ การฟังเพลงดี ๆ ก็ช่วยสร้างความรู้สึกตื่นตัวทางด้านร่างกายและอารมณ์ ซึ่งเพลงจะช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ ทำให้เพิ่มสมาธิในการขับขี่มากยิ่งขึ้น เพราะสมองจะรู้สึกปลอดโปร่ง บวกกับจิตใจที่เพลิดเพลินไปกับเสียงเพลง แต่อย่าเปิดเสียงดังเกินไปเพราะจะส่งผลร้ายมากกว่าดี ควรเปิดในความดังที่ปกติ

7. จัดท่านั่งขับรถให้ดูดี

การจัดท่านั่งขับรถที่ถูกต้องและดูดีจะช่วยเสริมฮวงจุ้ยให้กับรถและตัวคุณได้ ควรนั่งให้ก้นชิดเต็มเบาะ ปรับพนักพิงหลังให้ตั้งตรง คาดเข็มขัดนิรภัย ซึ่งจะทำให้การขับขี่ดูมั่นคงและยังช่วยเสริมบุคลิกของผู้ขับให้ดูดีด้วย ที่สำคัญคือช่วยให้ผู้ขับมองเห็นเส้นทางอย่างชัดเจน และสามารถขับขี่รถได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย 

8. พกขวดน้ำดื่ม

การมีขวดน้ำดื่มไว้ในรถ นอกจากจะช่วยดับกระหาย เพิ่มความสดชื่นในระหว่างเดินทางแล้ว การมีน้ำอยู่ภายในรถจะมีความหมายถึงความบริสุทธิ์ อุดมสมบูรณ์ สดชื่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มพลังงานบวกและช่วยเสริมเรื่องโชคลาภด้วย ที่สำคัญควรเป็นน้ำเปล่าบริสุทธิ์ ปราศจากน้ำตาลและสารปรุงแต่ง เพื่อมอบความบริสุทธิ์กายบริสุทธิ์ใจทุกครั้งที่เดินทาง และควรระมัดระวังเรื่องของการวางขวดน้ำไว้ใกล้กระจก หรือมีแดดส่องรุนแรง จนอาจจะกลายเป็นเลนส์ที่ก่อให้เกิดเพลิงไหม้ได้ อีกทั้งไม่ควรวางขวดน้ำไว้ที่พื้นเพราะอาจจะหลุดไหลเข้าไปขัดระบบเบรกหรือคันเร่งได้

9. พกเครื่องรางหรือพระไว้ที่รถ

เป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่ใครหลายคนนิยม เพราะทำให้รู้สึกอุ่นใจทุกครั้งในการขับขี่ และถือเป็นสัญลักษณ์ที่คอยเตือนสติ ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจไม่จำเป็นจะต้องเป็นเครื่องรางของขลังหรือพระไว้ที่รถก็ได้ ขอแค่เป็นสิ่งที่คุณนับถือหรือเชื่อว่าสามารถสร้างพลังบวกให้กับตัวเอง ก็สามารถพกติดรถไว้ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ต้องไม่วางอยู่ในตำแหน่งที่บดบังทัศนวิสัยในการมองเห็น เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ 

10. เลือกสีรถให้ถูกโฉลก

นอกจากการปรับตามหลักฮวงจุ้ยที่ตัวรถแล้ว เรื่องของคนกับสีรถที่เลือกใช้ก็สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งหากคิดจะเปลี่ยนรถใหม่สักคัน ควรเลือกสีรถที่ถูกโฉลกกับตัวเอง เพราะจะช่วยเสริมดวงในเรื่องต่าง ๆ ทั้งเรื่องการเงิน การงาน สุขภาพ และความรักได้ ไม่ว่าจะเป็น สีรถตามวันเกิด หรือ สีรถตามปีเกิด และยังช่วยเสริมพลังให้กับผู้ขับขี่อีกด้วย 

รู้อย่างนี้แล้วต้องบอกว่าไม่ยากอย่างที่คิดใช่ไหมครับ เพราะการดูแลและจัดระเบียบรถให้ถูกตามหลักฮวงจุ้ย คุณเองก็สามารถทำได้ง่าย ๆ เพื่อความเป็นสิริมงคล และบางอย่างก็ช่วยให้การขับขี่ของเราห่างไกลจากอุบัติเหตุได้อีกด้วยนั่นเอง

แหล่งที่มา: เว็บไซต์ car.kapook.com

กฎจราจรเบื้องต้น และมารยาทการขับขี่ในชีวิตประจําวัน

อุบัติเหตุส่วนมากที่เกิดขึ้นบนท้องถนนล้วนมีสาเหตุมาจากผู้ขับขี่รถยนต์และมอเตอร์ไซค์ ไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร รวมถึงละเลยหรืออาจเป็นเพราะความเคยชินที่ทำจนเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นเพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนมีความปลอดภัย เราจึงได้รวบรวม กฎจราจรเบื้องต้น ที่ควรรู้ในชีวิตประจําวัน และมารยาทในการขับขี่ต่าง ๆ ที่หลายคนอาจมองข้าม และเผลอทำผิดจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุมาแนะนำกัน ดังนี้ 

1. คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง

ก่อนจะสตาร์ตรถทุกครั้งอย่างแรกที่ควรปฏิบัติคือการคาดเข็มขัดนิรภัย เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุหรือสิ่งที่ไม่คาดติดขึ้นมาขณะขับขี่ การคาดเข็มขัดนิรภัยจะเป็นตัวคอยเซฟและช่วยบรรเทาจากหนักให้เป็นเบาได้ รวมถึงพระราชบัญญัติจราจรทางบกระบุไว้ว่า ผู้ขับรถรวมทั้งผู้โดยสารจะต้องรัดเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะขับรถตลอดเวลา หากฝ่าฝืนจะถือว่ามีความผิด ต้องระวางโทษปรับคนขับ 500 บาท และผู้โดยสารอีก 500 บาท

2. ทางม้าลายต้องหยุดให้คนข้าม

เมื่อเราขับรถบนท้องถนน หากเห็นคนกำลังรอข้ามถนนบริเวณทางม้าลาย ตามกฎหมายนั้นผู้ใช้รถจะต้องหยุดให้คนข้ามทางม้าลายก่อน โดยเมื่อเห็นทางม้าลายควรต้องชะลอความเร็ว ไม่ควรเร่งความเร็ว และห้ามแซงในระยะ 30 เมตร ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 46 และ มาตรา 70 และหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลาย ซึ่งหากไม่หยุดรถจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 21 มีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 1,000 บาท

3. ห้ามจอดรถทับทางม้าลาย

ทางม้าลาย เป็นสัญลักษณ์หรือเส้นทางที่มีไว้เพื่อให้คนเดินข้ามถนน ผู้ใช้รถจะหยุดรถทับทางม้าลายไม่ได้ ถือว่ามีความผิด ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ควบคุมผู้ขับขี่รถยนต์และจักรยานยนต์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทางข้าม ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่จอดรถในทางข้ามหรือในระยะ 3 เมตร จากทางข้าม (มาตรา 57) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับ 500 บาท

4. สำเนาภาพคู่มือจดทะเบียนรถควรมีติดรถไว้

ผู้ขับขี่ควรจะต้องพกหรือมีเล่มทะเบียนรถหรือสำเนาเล่มทะเบียนติดรถไว้ เพราะตามกฎหมายผู้ขับรถต้องพบใบอนุญาตขับรถหรือใบขับขี่ และสำเนาคู่มือจดทะเบียนรถ ในขณะขับขี่ และสามารถแสดงต่อเจ้าหน้าที่เมื่อมีการเรียกตรวจดู หากไม่พกจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 โดยมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

5. ใบอนุญาตขับขี่ต้องมีติดตัว

ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการขับรถ ควรต้องพกใบขับขี่ไว้กับตัวตลอดเวลา เพราะถือว่าเป็นเอกสารทางราชการที่ใช้ยืนยันตัวตนว่าบุคคลนี้มีความสามารถรวมถึงความรู้ในการขับขี่ยานพาหนะแต่ละประเภท และเมื่อขับขี่ยานพาหนะไปบนท้องถนน จำเป็นต้องพกใบขับขี่ตัวจริงติดตัวไปด้วยทุกครั้ง โดยถ้าหากขับรถแล้วไม่มีใบขับขี่ จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 64 ความว่า ผู้ใดขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาตขับรถ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในปัจจุบันสามารถใช้ใบขับขี่รถยนต์อิเล็กทรอนิกส์ แสดงแทนใบขับขี่ตัวจริง ให้แก่เจ้าหน้าที่เมื่อถูกขอดูและตรวจสอบแทนได้

6. เลี้ยวรถต้องเปิดสัญญาณไฟ

ผู้ใช้รถขณะที่จะเลี้ยวรถหรือเปลี่ยนช่องทางจราจรจะต้องเปิดสัญญาณไฟเลี้ยวก่อนทุกครั้ง ซึ่งตามกฎหมายกำหนดว่าควรเปิดก่อนเลี้ยว 30 เมตร และให้รถคันอื่นเห็นได้ในระยะไม่น้อยกว่า 60 เมตร เพื่อให้รถคันหลังที่ตามมาได้รู้ ไม่ควรเลี้ยวหรือเปลี่ยนเลนแบบกะทันหัน เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาได้

7. ขับรถในความเร็วที่กฎหมายกำหนด

ผู้ใช้รถบนถนนจะต้องขับรถตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยความเร็วการใช้รถยนต์ของประเทศไทยยึดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก และพระราชบัญญัติจราจรทางหลวง โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้ 

  • ถ้าขับรถบนถนนในกรุงเทพมหานคร, เมืองพัทยา และเทศบาลทุกจังหวัด จะสามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ไม่เกิน 80 กม./ชม. 
  • ถ้าขับรถอยู่บนทางหลวงระหว่างจังหวัดจะสามารถใช้ความเร็วสูงสุดได้ไม่เกิน 90 กม./ชม. 
  • ส่วนบนทางมอเตอร์เวย์ และวงแหวนกาญจนาภิเษก จะใช้ความเร็วสูงสุดได้ไม่เกิน 120 กม./ชม.

 โดยถ้าหากไม่ปฏิบัติตามกฎ นอกจากจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุแล้ว ยังจะโดนโทษปรับสูงสุด 1,000 บาท

8. ไม่จอดในที่ห้ามจอด

ทุกวันนี้ในขณะที่เราขับรถอยู่บนท้องถนนนั้น สิ่งที่เราจะเห็นได้บ่อยอย่างหนึ่งคือ มักจะมีรถจอดอยู่ในบริเวณที่ห้ามจอด เช่น บริเวณทางร่วมทางแยก, จอดรถด้านขวาของทางเดินรถ, จอดรถบนทางเท้า หรือจอดรถกีดขวางการจราจร เป็นต้น ซึ่งการจอดในลักษณะแบบนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติ เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ที่ใช้ถนนร่วมกัน นอกจากนั้นยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 57 โดยจะมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท อีกด้วย

9. แซงเส้นทึบ

ขณะขับขี่อยู่บนท้องถนนเราจะเห็นเส้นปะและเส้นทึบที่แบ่งช่องจราจร โดยถ้าเป็นเส้นปะ เราจะสามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางจราจรเพื่อทำการแซงรถได้ แต่ก็ควรใช้ความระมัดระวัง แต่ถ้าจะแซงบริเวณเส้นทึบ ซึ่งจะเห็นและพบได้บ่อยแทบจะเกิดขึ้นทุกที่บนท้องถนน โดยการทำลักษณะเช่นนี้นอกจากจะเสี่ยงให้เกิดอันตรายต่อรถเพื่อนร่วมทางที่ขับสวนทางมา ยังถือว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยได้ระบุโทษในข้อหาแซงในเส้นทึบ โดยมีอัตราโทษปรับไม่เกิน 400-1,000 บาท ทางที่ดีควรหลีกเลี่ยงในการขับขี่เร่งแซงในเส้นทึบเพื่อความปลอดภัย

10. ให้รถในวงเวียนไปก่อน

  เมื่อเราขับรถมาถึงบริเวณที่เป็นวงเวียน อย่างแรกควรที่จะชะลอความเร็วของรถลง และตามมารยาทควรให้รถที่อยู่ในวงเวียนด้านขวาขับผ่านไปก่อน ซึ่งถ้าว่ากันตามกฎหมายแล้วก็มีข้อบังคับถูกกำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 70 และมาตรา 71 เมื่อผู้ขับขี่ซึ่งขับรถเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก ทางข้าม เส้นให้รถหยุด หรือวงเวียน ต้องลดความเร็วของรถ รวมทั้งถ้ามีรถอื่นอยู่ในทางร่วมทางแยก ผู้ขับขี่ต้องให้รถในทางร่วมทางแยกนั้นผ่านไปก่อน ซึ่งถ้าฝ่าฝืนมีความผิดและมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท

11. เลี้ยวซ้ายผ่านตลอด

การขับรถในทุกวันนี้หลายคนอาจจะเคยชินและละเลยกฎจราจร อย่างเช่นการขับรถเลี้ยวซ้ายผ่านตลอด เมื่อผู้ขับขี่พบเครื่องหมาย “เลี้ยวซ้ายผ่านตลอด” ควรหยุดรอให้คนข้ามถนนและรถที่มาจากทางด้านขวามือขับผ่านไปก่อน แล้วจึงเลี้ยวซ้ายผ่านไป แต่ถ้าไม่มีป้ายติดไว้แล้วเลี้ยวผ่านไปจะถือว่าผิดกฎจราจร เพราะการเลี้ยวทางแยกต่าง ๆ ต้องรอสัญญาณไฟเขียวเท่านั้นถึงจะเลี้ยวซ้ายได้ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 

12. ฝ่าไฟเหลือง

การฝ่าไฟสัญญาณจราจร โดยเฉพาะไฟเหลือง เป็นเหตุการณ์ที่พบได้บ่อยบนท้องถนน ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายและอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงได้ จากตัวบทกฎหมาย หากผู้ขับขี่เห็นสัญญาณไฟเหลือง ควรแตะเบรกเตรียมหยุดรถ แต่หากเป็นลักษณะคาบเกี่ยวรถเลยเส้นให้หยุดไปแล้ว และสัญญาณไฟเหลืองเพิ่งแสดงขึ้นมา ก็ให้เลยไปได้ อย่างไรก็ตาม หากเป็นกรณีที่ผู้ขับขี่จงใจฝ่าไฟเหลืองเหยียบคันเร่งเมื่อเห็นไฟสัญญาณ ก็จะเป็นดุลยพินิจของเจ้าพนักงานว่าจะต้องรับโทษปรับตามกฎหมายหรือไม่ โดยโทษของการฝ่าไฟเหลืองจะผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา 22 ปรับไม่เกิน 1,000 บาท

13. ไม่ขับรถยนต์แช่ขวา

เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่จะพบบ่อยมากบนท้องถนน ก็คือการขับรถแช่ช่องจราจรด้านขวา ซึ่งถือเป็นการกระทำความผิดในข้อหาขับรถกีดขวางจราจร เพราะไม่ว่าคุณจะขับรถเร็วหรือช้าอย่างไรก็ไม่ควรขับรถในช่องทางขวา เพราะเลนขวามีไว้สำหรับแซงเท่านั้น หากมีรถที่ขับเร็วกว่าต้องหลบให้แซงขึ้นไป โดยผู้ที่ขับแช่เลนขวาจะโดนปรับไม่เกิน 1,000 บาท 

14. ไฟตัดหมอกเปิดใช้เมื่อจำเป็น

ไฟตัดหมอกจะสามารถเปิดใช้งานได้ แต่ก็ไม่สามารถที่จะเปิดอย่างพร่ำเพรื่อได้ โดยกฎหมายระบุไว้ชัดเจนตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 11 ว่าไฟตัดหมอกสามารถใช้ได้ต่อเมื่อรถวิ่งอยู่ในสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย เช่น หมอก ควัน ฝุ่นละออง ฝนตกหนัก รวมถึงมีสิ่งที่เป็นอุปสรรคในการเดินทาง นอกเหนือจากนี้หากเปิดใช้โดยเจ้าหน้าที่พบเห็นอาจมีความผิด โดยปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท

ทั้งหมดนี้เป็นกฎจราจรเบื้องต้นบางส่วนจากข้อกฎหมายทั้งหมดที่ควรรู้ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันบนท้องถนน รวมถึงมารยาทในการขับขี่ต่าง ๆ โดยถ้าผู้ใช้รถทุกคนปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุได้ และที่สำคัญยังจะช่วยประหยัดเงินจากการเสียค่าปรับในการขับรถผิดกฎจราจรได้อีกด้วย

แหล่งที่มา: เว็บไซต์ car.kapook.com

สัญญาณไฟเตือนหน้าปัดรถยนต์ แต่ละสัญลักษณ์มีความหมายอย่างไร? แบบไหนรถมีปัญหา

สัญญาณไฟเตือนหน้าปัดรถยนต์ ถือเป็นสิ่งที่ช่วยตรวจสอบความผิดปกติของรถยนต์ และแจ้งเตือนให้เราทราบ ซึ่งจะดีขนาดไหนหากเรารู้ถึงความหมายของสัญลักษณ์ต่าง ๆ

ทั้งนี้สัญลักษณ์ต่างๆ มีการแบ่งประเภท และความร้ายแรงด้วยสีของสัญญาณเตือน โดยแบ่งได้ 4 ประเภทดังนี้

1.สัญญาณเตือนสีเขียว หมายถึง อุปกรณ์ที่กำลังใช้งานอยู่

2.สัญญาณเตือนสีน้ำเงิน หมายถึง อุปกรณ์ที่กำลังใช้งานอยู่ แต่ไม่ใช่ค่าตั้งต้นจากโรงงาน (เช่น การเปิดไฟสูง)

3.สัญญาณเตือนสีเหลือง หมายถึง การเตือนให้ตรวจสอบ แต่ยังสามารถใช้งานได้อยู่

4.สัญญาณเตือนสีแดง หมายถึง ให้ตรวจสอบโดยทันที หรือหยุดใช้งานเพื่อความปลอดภัย

ความหมายของสัญลักษณ์ต่างๆ

1. ไฟตัดหมอกด้านหน้า

2. ระบบพวงมาลัยเพาเวอร์ (มีการทำงานผิดพลาด)

3. ไฟตัดหมอกด้านหลัง

4. ระดับน้ำล้างกระจกอยู่ในระดับต่ำ

5. ผ้าเบรกมีปัญหา

6. ระะบบควบคุมความเร็วให้คงที่

7. สัญญาณไฟเลี้ยว ซ้าย-ขวา

8. ระบบตรวจจับน้ำฝน และแสงมีปัญหา

9. ระบบความเย็น

10. แสดงผลข้อมูลทั่วไป

11. แจ้งเตือนความร้อนระบบเครื่องยนต์ดีเซล

12. มีหิมะที่พื้นผิวถนน

13. แจ้งเตือนสวิตช์สตาร์ทเกิดการผิดพลาด

14. แจ้งเตือนกุญแจไม่ได้อยู่ในรถ

15. แบตเตอรี่ของกุญแจมีพลังงานต่ำ

16. แจ้งเตือนระยะห่างของรถคันหน้า

17. แรงดันน้ำมันคลัทช์

18. แรงดันน้ำมันเบรก

19. แจ้งเตือนพวกมาลัยล็อก

20. เปิดไฟสูง

21. แจ้งเตือนความดันลมยางอ่อน

22. ไฟด้านข้างถูกใช้งาน

23. สัญญาณไฟภายนอกปัญหา

24. สัญญาณไฟเบรกมีปัญหา

25. แจ้งเตือนตัวกรองน้ำมันของเครื่องยนต์ดีเซลมีปัญหา

26. เตือนการเชื่อมต่อของสายพ่วง

27. เตือนระบบการป้องกันการสะเทือนมีปัญหา

28. รักษาระยะห่างการใช้ทางจราจร

29. เตือนการบำบัดไอเสียผิดปกติ

30. เตือนเข็มขัดนิรภัย

31. ระบบเบรกระหว่างจอดรถเพื่อป้องกันไม่ให้รถไหล

32. แจ้งเตือนพลังงานของแบตเตอรี่

33. ระบบจอดรถอัตโนมัติ

34. ระบบแจ้งเตือนตรวจเช็คสภาพรถ

35. ระบบปรับแสงไฟหน้าอัตโนมัติ

36. ปรับระดับไฟหน้ารถ

37. แจ้งเตือนสปอยเลอร์ด้านหลังมีปัญหา

38. ระบบเปิดหลังคาอัตโนมัติ

39. ระบบเตือนถุงลมนิรภัย

40. แจ้งเตือนเบรกมือ

41. มีน้ำเข้ามาเจือปนในน้ำมันเชื้อเพลิง (รีบแก้ไขโดยด่วน)

42. ปิดการทำงานของถุงลมนิรภัย

43. ควรตรวจสภาพรถ

44. เปิดไฟขอทาง

45. กรองอากาศสกปรก

46. โหมดประหยัดพลังงาน

47. ระบบควบคุมรถขณะลงเขา

48. ระบบเตือนความร้อนของหม้อน้ำ

49. ระบบเบรก ABS

50. ตัวกรองน้ำมันเชื้อเพลิงอุดตัน

51. ประตูรถเปิดอยู่

52. ฝากระโปรงหน้าเปิดอยู่

53. น้ำมันเชื้อเพลิงเหลือน้อย

54. เตือนระบบเกียร์อัตโนมัติ

55. จำกัดความเร็วทำงาน

56. ระบบกันสะเทือนผิดปกติ

57. แจ้งเตือนความดันน้ำมันเครื่องต่ำ

58. ระบบไล่ฝ้าที่กระจกทำงาน

59. กระโปรงท้ายรถเปิดใช้งานอยู่

60. ระบบควบคุมการทรงตัวของรถยนต์

61. เซ็นเซอร์ระบบน้ำฝนถูกใช้งาน

62. แจ้งเตือนเครื่องยนต์ขัดข้อง

63. ระบบไล่ฝ้ากระจกด้านหลัง

64. ที่ปัดน้ำฝนทำงานอัตโนมัติ

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว หากมีสัญญาณไฟแจ้งเตือนสีแดง ที่จะส่งผลต่อความปลอดภัยในการขับขี่ และเป็นอันตรายต่อรถของคุณ ควรนำรถเข้าศูนย์บริการเพื่อแก้ไขปัญหาในทันที

แหล่งที่มา: เว็บไซต์ autostation.com

รถความร้อนขึ้น! เกิดจากอะไร? ควรทำอย่างไรต่อ?

รถความร้อนขึ้น เป็นอาการที่คุณคงไม่อยากพบเจอแน่นอน เพราะมันอาจทำให้เครื่องยนต์ของคุณอาจพังได้ สาเหตุเกิดจากอะไร? และเมื่อ รถความร้อนขึ้น ควรทำอย่างไร?

ปัญหารถความร้อนขึ้น หรือเรียกอีกอย่างนึงว่าเครื่องยนต์โอเวอร์ฮีท (Overheat) นั้นคงเป็นปัญหาที่ไม่มีใครอยากเจอ หลายคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ขับต่ออีกนิดก็คงไม่เป็นไร แต่หารู้ไม่ว่า..เครื่องยนต์ของคุณอาจน็อคพังไปเลย หรือปัญหาอาจลุกลามไปยังชื้นส่วนอื่นๆได้ คำถามคือ สาเหตุเกิดจากอะไร? แล้วถ้าเราเจอปัญหาความร้อนขึ้นระหว่างขับรถควรทำอย่างไร?

เครื่องยนต์โอเวอร์ฮีท หมายถึง ความร้อนของเครื่องยนต์สูงเกินระดับที่ใช้งานปกติ ซึ่งสาเหตุของอาการความร้อนขึ้นสูงผิดปกติจริงๆแล้วมีอยู่หลายข้อ ลองไปดูกัน

รถความร้อนขึ้นอาจเกิดจาก

1.หม้อน้ำรั่ว/แตก หรือ ท่อน้ำรั่ว/แตก เพราะระบบระบายความร้อนอาจมีความผิดปกติหรือมีการรั่วซึมทำให้น้ำในระบบหล่อเย็น (น้ำในหม้อน้ำ) ไม่เพียงพอ อุณภูมิเครื่องยนต์จึงเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น

2.รังผึ้งบริเวณหม้อน้ำมีสิ่งสกปรกไปอุดตัน ความร้อนจะสูงขึ้นขณะที่รถวิ่ง

3.พัดลมหม้อน้ำ, เทอร์โมสวิตช์ หรือรีเลย์พัดลมมีปัญหา ซึ่งถ้าความร้อนขึ้นในขณะที่รถติด และลดลงในขณะที่รถวิ่ง แปลว่าส่วนใดส่วนหนึ่งมีปัญหาหรืออาจมีปัญหาหลายส่วนพร้อมกัน

4.วาล์วน้ำไม่ทำงาน ทำให้ความร้อนเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลาทั้งตอนรถวิ่งและรถหยุด

5.ลืมเติมน้ำในหม้อน้ำ หรือไม่เคยตรวจเช็คน้ำในหม้อน้ำเลยก็อาจทำให้ปัญหาความร้อนขึ้นมาเยือนคุณ

6.ไฟเตือนความร้อนที่หน้าปัดเสีย หรือเข็มแสดงความร้อนเสีย บางครั้งอาจเป็นแค่กรณีไฟเตือนและเข็มความร้อนมีปัญหาเฉยๆ

ซึ่งหากคุณเกิดตกอยู่ในสถานการณ์รถความร้อนขึ้นหรือเครื่องยนต์โอเวอร์ฮีท ควรปฏิบัติตามนี้

1.ให้หาที่จอดรถข้างทางและดับเครื่องยนต์ทันที เพื่อให้ระบบเครื่องยนต์ได้หยุดการทำงานก่อน

2.เปิดฝากระโปรงรถเพื่อระบายความร้อน ห้ามนำน้ำไปราดบนเครื่องยนต์โดยเด็ดขาดเพราะเหล็กที่ร้อนมากๆเจอกับน้ำเย็นแบบฉับพลันจะทำให้เหล็กหดตัวและแตกได้

3.จอดพักจนกว่าความร้อนจะลดลง และอย่าเปิดฝาหม้อน้ำทันที เพราะแรงดันน้ำที่เกิดจากความร้อนสูงอาจทำให้น้ำในหม้อน้ำ (ร้อนมาก) พุ่งออกด้วยความแรงจนจะลวกมือได้ ให้รอประมาณ 15-20 นาที หรือจนกว่าหม้อน้ำจะเริ่มเย็น

4.พอเครื่องยนต์เริ่มคลายความร้อน อุณหภูมิเริ่มลดลง ให้เปิดฝาหม้อน้ำออกทีละนิดโดยใช้ผ้าหนาๆจับระหว่างเปิดฝา

5.หลังจากนั้นลองเติมน้ำกลับเข้าไปให้อยู่ในระดับที่มีขีดสัญลักษณ์กำหนด หากไม่มีความผิดปกติใดๆ และอุณหภูมิคงที่ ก็ยังพอสามารถขับต่อได้ แต่ต้องคอยสังเกตความร้อนตลอดเวลา

6.ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางหลังจากนี้ เช่น ขับกลับไปจอดที่่บ้าน หรือขับไปอู่ ก็ควรจอดพักรถเป็นระยะตามความเหมาะสมระหว่างขับขี่ ห้ามขับทางยาวรวดเดียวโดนไม่พักไม่อย่างนั้นเครื่องพังและลามไปยังปัญหาชิ้นส่วนอื่นๆแน่นอน

จากนี้ถ้าเพื่อนๆคนไหนเจอเหตุการณ์ความร้อนขึ้นอีกก็ไม่ต้องตื่นตกใจแล้วนะครับ แนะนำให้ทำตามขั้นตอนดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเบื้องต้น หรือรีบหาที่จอดรถข้างทางแล้วติดต่อเรียกช่างมาดูจะปลอดภัยที่สุดครับ

แหล่งที่มา: เว็บไซต์ cartrack.co.th

เจาะลึก “กราบรถ” ในวัฒนธรรมไทย หลักฐานทางคติชนแง่พิธีกรรม-ความเชื่อเรื่องพาหนะ

การเดินทางสัญจรเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับมนุษย์เพื่อสนองตอบกิจกรรมต่างๆ ตามประสงค์ ในชั้นแรกมนุษย์ได้อาศัยสัตว์ต่างๆ เป็นพาหนะเพื่อผ่อน แรงในการเดินทาง ภายหลังจึงได้ประดิษฐ์พาหนะในรูปแบบต่างๆ เพื่อประสิทธิภาพของการเดินทางและการขนส่งให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งการเดินทางทางบกและทางน้ำ

อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยที่มีคติเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติ โดยเฉพาะ “ขวัญ” ซึ่งเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตล้วนมี “ขวัญ” อยู่ประจำ พาหนะทั้งสัตว์ เกวียน เรือ จึงย่อมต้องมีขวัญประจำอยู่เช่นกัน และการที่มีผู้มาขี่หรือนั่งทับย่อมอาจทำให้ “ขวัญหาย” อันไม่เป็นสิริมงคลต่อสิ่งๆ นั้น และผู้เป็นเจ้าของ เหตุฉะนี้จึงเกิดพิธีกรรมในการ “ขอสมาอภัย” และแสดงความ “ขอบคุณ” แก่สัตว์พาหนะและขวัญที่ประจำอยู่ในพาหนะต่างๆ เป็นประจำทุกปี

การทำขวัญพาหนะดังกล่าวมาข้างต้น ยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีพัฒนาการของพิธีกรรมคู่ขนานไปกับพัฒนาการของพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง ส่งผลให้เกิดความพยายามในการสร้างสรรค์พิธีกรรมให้เข้ากับบริบทสมัยใหม่ เพื่อตอบสนองความคาดหวังของพิธีกรรมเกิดมีมาก

บทความนี้มุ่งนำเสนอให้เป็นพลวัตและพัฒนาการของพิธีกรรมและความเชื่อที่เกี่ยวกับพาหนะในสังคมและวัฒนธรรมไทยที่มีความเปลี่ยนแปลง และอธิบายผนวกกับทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดยจะได้นำเสนอในประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้

คติความเชื่อเกี่ยวกับ “พาหนะ” ในสังคมไทยโบราณ

คนไทยมีคติความเชื่อเกี่ยวกับพาหนะ ตลอดจนสัตว์พาหนะมาแต่โบราณ เนื่องจากเป็นเครื่องนำพามนุษย์สัญจรไปยังที่ต่างๆ อันก่อให้เกิด “ความเสี่ยง” ต่ออุบัติเหตุได้ ดังนั้น การเลือกพาหนะและการบำรุงขวัญหรือ “ทำขวัญ” พาหนะจึงช่วยสร้างพลังและกำลังใจแก่ผู้เป็นเจ้าของ รวมทั้งคนไทยยังเชื่อว่า “ขวัญ” สถิตอยู่ในที่ทุกที่ไม่เว้นแม้แต่สิ่งไม่มีชีวิต

ฉะนั้น เมื่อได้ใช้งานก็ดี หรือเฆี่ยนตีก็ดี เมื่อถึงคราวขวบปี ถือเป็นหน้าที่ของผู้เป็นเจ้าของที่จะแสดงน้ำใจบำรุงขวัญในฐานะที่เป็นนาย ในที่นี้ผู้วิจัยจะขอแบ่งการทำขวัญออกเป็น 2 ประเภท คือ การทำขวัญสัตว์พาหนะและการทำขวัญพาหนะ

พิธีทำขวัญสัตว์พาหนะ เป็นพิธีกรรมเก่าแก่ที่พบในหมู่ชนชาติไทมาแต่โบราณ ทั้งการทำขวัญควาย ที่ใช้ทั้งไถนาและเทียมเกวียนเพื่อขนส่งสินค้าหรือผู้คน การทำขวัญช้างและทำขวัญม้า สัตว์พาหนะของชนชั้นสูง เป็นต้น ขั้นตอนการทำขวัญจะมีผู้เฒ่า หรือเจ้าพิธีเป็นผู้กล่าวบทสู่ขวัญ มีการตั้ง เครื่องบูชาขวัญ และเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาอำนวยพร ยกตัวอย่างในพิธีสู่ขวัญควายมีขั้นตอนสำคัญอยู่ขั้นตอนหนึ่งที่เป็นการบอกรักควาย นั่นคือขั้นตอนที่หมอขวัญเรียกขวัญ

ในบททำขวัญควายจะสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด การดูแลและเห็นใจกัน ความผูกพันระหว่างคนกับควาย รวมถึงการระลึกถึงคุณของควาย ดังในบทสู่ขวัญควายของภาคเหนือ ความตอนหนึ่งดังนี้

…เจ้ากระทำการไถแผ่นดิน อดหิวลำบาก ข้าก็จักแก้เชือก 2 เส้นกันผูกไว้กับเฝือ (คราด) และไถ…เพื่อจักสมนาคารวะตามแต่โทษ เมื่อมีใจกริ้วโกรธกล้าราวี เอาเชือกฟาดตีด่าหย้อ เป็นกำพร้าพ่อหีแม่ เป็นคำเคียดแก่สะหาว หาคำอดคำหยาบบ่ได้ เป็นคำแสบไหม้แกนหูแห่งท่าน ตูข้าทั้งหลายก็หากมีคำอินดู ก็ขอสมมา ขอหื้อท่านลาโทษ ปลดเสียโทสนโทษ ขออย่าเอาคำกริ้วโกรธไว้ในใจ ขออย่าหื้อเป็นกรรมเวรภัยแก่กันไปภายหน้า พระเจ้าหน่อฟ้าตนโปรดโลกหากเทศนาไว้ว่าบ่ควรแท้ดีหลี (ประเพณีสู่ขวัญควายของลานนาไทย, น. 5)

ส่วนในบททำขวัญควายของอีสาน ก็ได้แสดงความรักต่อควายเช่นกัน มีการพรรณนาความตอนหนึ่งเล่าถึงการขอขมาโทษควาย ที่ขณะทำงานไถนา ลูกควายก็มาล้อมหน้าล้อมหลังจะกินนมแม่ควายทำให้แม่ควายลังเลใจและทำงานช้าลง เมื่อเจ้าของเห็นว่าช้าก็ด่าก็ตี ซึ่งอาจทำให้แม่ควายต้องเศร้าเสียน้ำตา จึงต้องมาขอขมาโทษในครั้งนี้

…วันนี้แม่นวันกล้า ข้อยจึ่งสู่ขวัญควายบักคำอี่เผือกตัวบุญมี อี่เขาปีตัวบุญกว้าง แล่นอ่อมอ้อยแอ่วกินนม ทมๆ ใจจักขาด น้ำตาหลากไหลตก เจ้าจึงคนิงในอกในทรวงจักแตกทะลาย อยู่เหิงหลายสวยพองายแดดแก่กล้า เจ้าจึงต่าวหน้าคืน ข้อยจึงมีใจเคียดค้อย ข้อยจึงบายเอาค้อนน้อยๆ…ดีไปไปบ่ดีข้อยจึงได้ด่าไปซ้าข้อยจึงได้ไล่เร็วไว เจ้าจึ่งไปซีชุดเจ้าจึงไปซีขาด ชิดค่าวขาดเซไป ปลดไถเชาข้อยกะได้ดีช้ำ (ประเพณีโบราณไทยอีสาน, น. 307)

ท้ายบททำขวัญมักมีการอำนวยพรแก่ควาย ให้ควายมีอายุยืน แข็งแรง ออกลูกมากๆ และปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง ตลอดจนขอให้ได้เกิดเป็นมนุษย์

ส่วนการทำขวัญช้างนั้น มีทั้งทำในหมู่ควาญช้างในหมู่บ้านเลี้ยงช้าง ควบคู่ไปกับการไหว้ผีปะกำ และมีในหมู่ช้างหลวงด้วย โดยเฉพาะที่เรียกว่าพิธีขึ้นระวางช้างสำคัญ ในพิธีนี้จะมีการอ่านฉันท์ดุษฎีสังเวย กล่อมช้างเพื่อสอนช้างและสร้างความเป็นสิริมงคล แสดงถึงพระราชอำนาจอันเกริกไกร ต่อไปจึงเป็นตอนกล่าวจูงใจช้างให้ละพยศ อย่าเป็นห่วงพ่อแม่ พี่น้อง ลูกหลานที่ยังอยู่ในป่า ขอให้ตั้งใจไปอยู่ในเมืองเป็นราชพาหนะของพระมหากษัตริย์ ให้คิดว่าเป็นเพราะพระพรหมท่านกำหนดมาดังนี้เองเถิด1

ส่วนการทำขวัญพาหนะ ในอดีตสังคมไทยมีพาหนะที่ใช้งานไม่มาก มีเพียงเกวียนและเรือ ส่วนชนชั้นสูงจะมีราชรถและราชยาน พาหนะเหล่านี้มีความจำเป็นในการประกอบอาชีพ การเดินทางมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยโดยแบ่งออกเป็นการทำขวัญเกวียน การเดินทางของคนไทยในอดีตมักใช้วัวควายเทียมเกวียนเป็นพาหนะในการเดินทางขนส่งสินค้าและเดินทางสัญจร คนไทยจึงสร้างสรรค์พิธีทำขวัญเกวียนขึ้น เพื่อสร้างสิริมงคลต่อการเดินทาง เป็นการให้ความมั่นใจและปลอดภัยในการเดินทาง ค้าขายร่ำรวยมีโชคลาภ

ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นความกตัญญูรู้คุณต่อสิ่งที่ยังประโยชน์ให้ตน ทั้งยังเชื่อว่าจะทำให้เจ้าของเกวียนประสบแต่ความโชคดี ตัวอย่างบททำขวัญเกวียน สำนวนอีสาน ดังนี้

โอกาสะๆ วาจีดิถีฟ้าปีใหม่ เจ้าผู้ใหญ่ถ่ายราศี พระภูมีสุริเยศ เถิงฤดูเขตเดือนสาม นางโสมงาม เกวียนแก้ว อาบน้ำแล้วจึงลาพร ลมพัดวอนแห้งแล้วเขาจึงเอาภาชนะแก้วเบิกคูณขวัญ มีทั้งพลูพันและหมากจีบ ทั้งผ้าผ่อนและบายศรี มีทั้งหวีและต่างแก้ว งามลวดแล้วกระจกแยง ทั้งของหอมและแป้งป่น งามเลิศล้นปลอกแขน มีทั้งแหวนและสายสร้อย ฝูงตู่ข่อยจึงมาหา มีทั้งคาบบุปผาและดอกไม้เทียน ไต้ใส่ใบพา ทั้งสุราและไก่ต้ม หวานส้มข้าวต้มและเผือกมัน สรรพสรรพ์มีทุกสิ่ง กล้วยอ้อยมิ่งนานามีสู่อันสะพาด เขาจึงไปอาราธนาอาจารย์ผู้ฉลาด ขึ้นนั่งอาสน์คูณขวัญ ว่าศรีๆ สิทธิพระพร เกสรหอมฮ่วงเฮ้า ข้อยจักเชิญขวัญเจ้าเกวียนคำ ทั้งกงกำและดุมแอก ทั้งทวยแปรกและคานหลัง ทั้งประทุมและเชือกอ้องหนังผูกค้างอยู่กัวเกวียน มาเยอขวัญเอย ขวัญเจ้าไปเข็นไม้ในดงเดินยาก ขวัญเจ้าไปลากไม้ดงกว้างกว่าไพร ขวัญเจ้าไปเข็นหญ้าปะป่าฮังไม้แจ่งแห่งขวัญเจ้า ไปรับจ้างขนข้าวใส่ฉาง ขวัญเจ้าไปรับจ้างขนหินขนทรายและดินจี ขวัญอย่าไปอยู่ลี้ในถ้ำเถื่อนแถว ให้เจ้าคืนบ้านสถานเฮาเคยอยู่ อย่าไปแกมหมู่ไม้เป็นเหง้าป่งใบ ขวัญทวกให้มาอยู่ทวกทั้งสอง ขวัญคานให้มาอยู่คานล่างง่าง ขวัญกีบให้มาอยู่กีบเป็นวงขวัญกงกำให้มาอยู่กำนำเสียบ ขวัญแปรกให้มาอยู่แปรกทั้งสอง ขวัญดุมให้มาอยู่ดุมล้องค้อง อย่าได้ต้องพยาธิอันใด มื้อนี้แม่นมื้อดี ข้าจักทำบายศรีเกวียนแก้ว ทำขวัญแล้วให้เจ้าค้ำคูณเฮือน เถิงฤดูเดือนขวบเข้า ให้เจ้าฮักบ่าไว้ยังวัวควาย ให้สุขสบายดีบ่ยาก ทางลำบากให้เจ้าค่อยเพียรรอด หนทางคดเดินยากฮากไม้ใหญ่ตันทาง ฮากไม้บางขวางหน้า เจ้าอย่าได้ล้มหักตะแคง ให้เจ้ามีกำลังแฮงดังราชรถ คันเขาบรรทุกหนักให้เจ้าไปค่อย ฝูงเด็กน้อยเข้ามาขี่นำ เขาบ่ฮู้เกรงยำอย่าได้เคียดค้อย ฝูงเด็กน้อยเจ้าอย่าถือชา คนทั้งหลายเขามาว่าจ้าง ให้เจ้าได้อยู่สร้างหลายปี มีรังสีเฮืองฮุ่ง ฝูงตูข้อยให้อยู่เย็นใจ ความจังไรอย่าได้มาบังเกิด ให้เจ้าประเสริฐดั่งรถเทพอินทา มีกำลังวิชาดังพระสังครีพ ใช้ฮีบได้ดั่งใจหมาย ไชยะตุภะวัง ไชยะมังคะละ มหามงคลฯ2

การทำขวัญเรือ มักพบในหมู่ชาวเรือทั้งที่ทำประมง ใช้เรือเพื่อเดินทางสัญจร ตลอดจนเพื่อใช้ในการแข่งขันตามเทศกาล คนไทยมีความเชื่อว่าเรือทุกลำมีอารักษ์รักษาเรือ คอยปกปักรักษาเรืออยู่ หากคนใดปฏิบัติดีจะมีโชคชัย แต่ถ้าปฏิบัติไม่ดีจะทำให้อารักษ์ประจำเรือหนีหายได้ เจ้าของเรือจึงทำขวัญเรือเพื่อเชิญขวัญเรือปลอบใจ อย่าตกใจกลัวเมื่อเกิดพายุเมื่อเดินทางหรือลงแข่งขัน ตลอดจนดลบันดาลให้ผู้เป็นเจ้าของและผู้โดยสารมีความโชคดีปลอดภัย

ตัวอย่างในพิธีทำขวัญเรือของภาคใต้ มีความเชื่อกันว่าไม้ที่นำมาทำเรือได้แก่ ไม้ตะเคียน ไม้พะยอม ไม้ยูง ไม้ยาง เดิมเป็นที่สถิตของเทพารักษ์และนางไม้ เมื่อไม้ถูกตัดโค่นนำมาทำเป็นเรือ ทำให้เทพารักษ์และนางไม้ตกใจพากันหนีจากไป ดังนั้นก่อนจะนำเรือออกจากท่า เจ้าของเรือต้องหาหมอมาประกอบพิธีทำขวัญเรือ เพื่ออัญเชิญเทพารักษ์และนางไม้มาอยู่ประจำเรือลำนั้น เพื่อช่วยรักษาเรือให้ปลอดภัยในการเดินทาง3

การทำขวัญราชรถ-ราชยาน พิธีเป็นของหลวงเป็นการบูชาเทวดาอารักษ์ที่รักษาราชรถและราชยานที่เป็นพระราชพาหนะ เพื่อเป็นสิริมงคลคุ้มครอง และเป็นการแสดงกตเวทิตาคุณต่อเทวดาอารักษ์ผู้สถิตประจำราชรถและราชยานนั้นๆ ด้วย

อนึ่ง นอกจากการทำขวัญเรือหรือรถแล้ว ในสังคมอีสานยังมีตำราเรียกว่าโสกรถหรือเรือ คือโฉลกรถหรือเรือ ซึ่งเป็นพาหนะจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันของคนใช้เดินทางติดต่อค้าขาย เป็นความปลอดภัยและเป็นโชคชัยในชีวิต ถ้ารถหรือเรือไม่ถูกโสก โบราณท่านว่าจะพาให้พินาศ ท่านจึงแนะนำให้ทำหรือซื้อรถหรือเรือให้ถูกโสก โดยมีวิธีการคือให้เอาเชือกวัดความยาวจากหัวรถหรือเรือจนถึงท้ายรถหรือเรือนั้น แล้วให้เอาเท้าผู้จะทำหรือผู้จะซื้อรถหรือเรือนั้นวัด แล้วว่าโสกวนไปตามลำดับถึงที่ดีแล้วให้เอา (ถ้ายาวไปให้บั่น ถ้าสั้นให้ต่อให้พอดี แต่ส่วนมากเขาใช้วิธีต่อ) ดังนี้4

ความโสกรถหรือเรือ
1. ซื้อถืกขายแพง
2. กินแหนงเพราะความเค้า
3. ขี้ข้าเล่าเกิดเป็นไท
4. หินผาไหลแล่นต้อน
5. ก้อนคำแน่นใส่ถง
6. เทียวขึ้นลงคลาดแคล้ว
7. ไปฮอดแล้วย่อมมาดี
8. เป็นเศรษฐีย่อมพลอยไฮ้
9. นอนตื่นได้ถงค่ำ5

อธิบายความหมาย

ถ้าตก ข้อ 1 ท่านว่า ดีบ่ขาดทุน
ถ้าตก ข้อ 2 ท่านว่า จะมีความขุ่นเคืองระหว่างผู้ซื้อรถเรือกับเจ้าของเดิม
ถ้าตก ข้อ 3, 5 ท่านว่า ดีจะพออยู่พอกิน
ถ้าตก ข้อ 4 ท่านว่า ไม่ดีเกรงจักเกิดอุบัติเหตุ
ถ้าตก ข้อ 6 ท่านว่า จะแคล้วคลาดปลอดภัย

ถ้าตก ข้อ 7 ท่านว่า ดีปานกลางไปเรื่อยๆ ไม่รุ่งไม่โรจน์
ถ้าตก ข้อ 8 ท่านว่า ไม่ดีเลยรถเรือจะพาฉิบหาย
ถ้าตก ข้อ 9 ท่านว่า จะมีโชคเสริมอยู่ตลอด6

อย่างไรก็ดี ความเชื่อเกี่ยวกับการทำขวัญพาหนะต่างๆ นั้นจากการสำรวจพบว่ามีพบในชนชาติอื่นๆ และศาสนาอื่นๆ ด้วย เนื่องจากเป็นความคิดสากล ดังเช่นที่ในญี่ปุ่นประชาชนนิยมให้นักบวชมาเจิมรถเพื่อความเป็นสิริมงคลที่ศาลเจ้า หรือในประเทศต่างๆ ที่ให้นักบวชในลัทธิที่ตนนับถือมาทำพิธี

กระนั้นก็ดี หากพูดถึงรถและเรือแล้ว สิ่งที่สำคัญที่จะละเลยไม่ได้คือความเชื่อเรื่อง “แม่ย่านาง” แม่ย่านางนี้เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นอารักษ์ผู้หญิงที่สถิตอยู่หัวเรือ ชาวเรือนิยมบูชาหัวเรือด้วย ผ้าสามสี เครื่องเซ่น มาลัยต่างๆ และจะไม่ข้ามหัวเรือ เนื่องจากเชื่อกันว่าเป็นที่สถิตของแม่ย่านางเรือ ต่อมา เมื่อสังคมพัฒนาขึ้น มีการนำรถเข้ามาใช้มากขึ้น ความเชื่อเรื่องแม่ย่านางจึงติดตามมาอยู่ที่รถด้วย เนื่องจากถือว่าเป็นอารักษ์ที่ประจำอยู่กับพาหนะ ตำนานความเป็นมาของแม่ย่านางนั้น เสฐียร โกเศศ และนาคะ ประทีป เล่าไว้ในหนังสือแม่ย่านางวรรณคดี และราชาวดี7 ว่าในเรื่องนารายณ์สิบปาง ฉบับคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ (พ.ศ. 2466) มีเรื่องเล่าเป็นตำนานแม่ย่านางไว้มีใจความสรุปได้ว่า เมื่อพระอิศวรและพระแม่อุมาเสด็จประพาสทะเล กุ้งได้ออกมาร้องเรียนว่าตนเองเป็นสัตว์ที่ร่างกายมีแต่เนื้อ เปลือกห่อหุ้มบาง ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ ทำให้ถูกบรรดาสัตว์น้ำอื่นๆ จับกินเสียมาก พระแม่อุมาจึงประทานพรให้กุ้งมีเลื่อยสองคมปลายแหลมอยู่บนหัว มีหอกปลายแหลมอยู่ที่หาง เมื่อสัตว์ใดกินเข้าไปจะได้ใช้หางเจาะออกมาให้เข็ดหลาบ ซึ่งอาหารที่กุ้งสามารถกินเองได้ จะต้องเป็นของที่ตายเน่าเปื่อยเท่านั้น

หลังจากนั้นประชากรกุ้งจึงมีมากจนเสียสมดุล กั้งจึงมาชักชวนผสมพันธุ์แล้วออกอุบายให้กุ้งใช้อาวุธติดตัวเจาะท้องเรือสำเภาให้จม เมื่อจีนคนไหนว่ายน้ำไม่เป็นก็จะจมน้ำตายกลายเป็นอาหาร ส่วนหัวกุ้งแบ่งให้กั้ง ส่วนตัวกุ้งเอาไปกิน ด้วยเหตุนี้เรือสำเภาจึงตกเป็นเป้าและได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก พวกนายสำเภาจึงได้วิงวอนขอให้เจ้าหมาจ่อช่วยบอกกล่าวเทพเจ้าให้มาช่วยเหลือ เจ้าหมาจ่อสงสารชาวเรือ จึงบอกให้นำของมาเซ่นไหว้พลีกรรม ได้แก่ ผ้าแพรสีแดง สีทับทิม สิ่งละ 10 พับ กับดอกไม้ธูปเทียน สำหรับเจ้าที่ เมื่อได้รับของถวายเจ้าหมาจ่อจึงให้นายทหารนำของไปถวายเจ้าทั้ง 8 ทิศ แล้วร่วมปรึกษาหารือกันว่าจะนำความไปกราบทูลพระอิศวรและพระแม่อุมาเทวีให้ตัดสินปัญหา

พระแม่อุมาจึงสั่งให้พระอนันตนาคราชไปปราบกุ้งที่ผิดคำสัตย์และใช้อุบายทำให้มนุษย์เดือดร้อน จากนั้นพระอนันตนาคราชรับโองการ ลงไปถึงพระคงคา กุ้งที่ทำผิดก็ร้อนตัวกลัวจนกระเพาะและของเก่าใหม่ขึ้นมาบนสมอง จากนั้นจึงถูกสาปให้เรือสำเภาน้อยใหญ่ที่พวกตนเจาะให้ล่มเข้าไปอยู่ในแก้มซ้ายขวาถ่วงหัวไม่ให้เงยขึ้นมาเจาะเรือสำเภาได้อีก แล้วพระอนันตนาคราชจึงแต่งตั้งให้เจ้าหมาจ่อเป็น “เจ้ายอดสวรรค์” และสั่งให้จีนเดินสมุทรทั้งหลายนับถือเจ้ายอดสวรรค์ ให้คุ้มครองรักษาเรือสำเภาทุกเที่ยวไปมาจนติดมากระทั่งทุกวันนี้

“เจ้าหมาจ่อ” นี้ เสฐียรโกเศศอธิบายว่ามีพบอยู่ในนิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน เมื่อครั้งกรุงธนบุรีด้วยความว่า

เย็นเช้าไหว้เจ้าด้วยมาล่อ
พระหมาจอฟังอึงคะนึงเนื่อง
ครั้นค่ำแขวนโคมเคียงเรียงเรือง
ตลอดเบื้องหน้าท้ายที่รายไป

เสฐียรโกเศศอธิบายว่า พระหมาจออาจเป็นเจ้าของฝ่ายจีน มีมาแต่ครั้งเดินเรือสำเภา เมื่อไม่ได้ใช้เรือสำเภาแล้วจึงค่อยเลือนไป อย่างไรก็ดี ในหนังสือนารายณ์สิบปางยังกล่าวว่า เจ้าหมาจ่อมอบให้ทหาร 2 คน ชื่อ เชยหลีหมัก กับซุ้นฟุ้งหงี นำเอาของไปถวายเจ้าทั้ง 8 ทิศ แล้วกำหนดวันเชิญเจ้าทั้ง 8 ทิศมา ณ ศาลเจ้าจับกวยเล่าหวน เพื่อทำคำร้องทุกข์ไปยื่นต่อพระอิศวร เชยหลีหมักมีตาเห็นได้ไกลถึงพันลี้ เป็นเจ้าของชาวจีนแต้จิ๋ว ส่วนซุ้นฟุ้งหงีมีหูได้ยินตามลม เป็นเจ้าของชาวจีนแคะ หรือกวางตุ้ง เจ้าทั้งสองนี้มีปรากฏในวรรณคดีเรื่องห้องสินด้วย

ส่วนเจ้าหมาจ่อนี้ อาจมาจาก “หมาโจ๊บ๊อ” แปลว่า เจ้าแม่ย่าชวด เจ้าหมาจ่อนี้ เสฐียรโกเศศเล่าว่า เมื่อครั้งราชวงศ์ซ้อง นางอาศัยอยู่ที่จังหวัดเฮงฮั้ว บิดามีอาชีพเดินทะเล วันหนึ่งนางทอผ้าจนหลับไป ฝันเห็นพ่อและพี่ชายสองคนอยู่ในเรือคนละลำ เรือถูกพายุใหญ่จวนจะล่ม โดยพยายามเอาปากคาบเรือของบิดา และมือทั้งสองคว้าเรือของพี่ชายทั้ง 2 คนและพยายามลากเข้าฝั่ง ทันใดได้ยินเสียงแม่เรียกให้ตื่น ก็อ้าปากขานรับและตกใจตื่น แต่ก็วิตกว่าความฝันจะเป็นจริง ต่อมาอีกสองสามวันนางได้ข่าวว่าเรือของบิดาและพี่ชายถูกพายุใหญ่ เรือลำของบิดาอับปางลง ส่วนเรือของพี่ชายมีคนช่วยไว้ได้ นางจึงรู้ได้ว่าผู้ที่ช่วยนั้นคือนางเอง แต่เพราะต้องอ้าปากขานรับมารดาจึงไม่สามารถช่วยบิดาไว้ได้ ต่อมาเมื่อนางตายไปแล้วไปเกิดเป็นเจ้าทะเล นามว่า “เจ้าหมาจ่อ” นั่นเอง

นอกจากนี้เสฐียรโกเศศยังกล่าวว่าหนังสือ Schlegal’s Siamese Studies เสนออีกสันนิษฐานหนึ่งว่า คำว่าแม่ย่านางซึ่งเป็นเทพเจ้าประจำเรือนั้นว่ามาจากภาษาจีนว่า “เหย่เหนียง”

คติความเชื่อเกี่ยวกับ “รถ” ในสังคมไทยปัจจุบัน

ปัจจุบันความนิยมในการใช้สัตว์พาหนะและพาหนะบางประเภทลดลง ยานพาหนะสมัยใหม่มีมากขึ้น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” และ “แม่ย่านาง” ยังคงมีอยู่และทวีความเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจพบว่ามีการสร้างสรรค์วัตถุมงคล เครื่องราง และพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้สามารถแบ่งคติชนที่เป็นผลมาจากความเชื่อเกี่ยวกับรถในสังคมไทยได้ดังนี้

คติชนประเภทความเชื่อคนไทยมีความเชื่อที่สร้างสรรค์ใหม่เกี่ยวกับรถเป็นจำนวนมาก ทั้งความเชื่อที่สร้างสรรค์มาจากคติความเชื่อเดิม และความ เชื่อที่สร้างขึ้นใหม่ คติความเชื่อเหล่านี้ค่อนข้างแพร่หลายและได้รับความนิยมมากในปัจจุบันโดยเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ผู้วิจัยพบว่ามีกลุ่มความเชื่อหลักที่แบ่งได้ 4 กลุ่ม ดังนี้

1. ความเชื่อเรื่องเลขทะเบียนรถ

ความเชื่อเรื่องตัวเลขกับคนไทยมีมาช้านาน ดังเช่นปรากฏเรื่องเลขมงคลต่างๆ เช่น เลข 9 ที่พ้องเสียงกับคำ “ก้าว” เชื่อมโยงไปสู่คำว่าก้าวหน้า หรือการใช้เลขคู่ในการจัดของหมั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตคู่ ความเชื่อเรื่องการนิมนต์พระจำนวนคู่ในพิธีอวมงคล และนิมนต์พระจำนวนคี่ในงานมงคลจำนวนธูปกับการบ่งบอกสถานภาพหรือลำดับชั้นของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องเลขศาสตร์ในโหราศาสตร์ที่ใช้ในการพยากรณ์เรื่องราวต่างๆ ความเชื่อเรื่องตัวเลขนี้สืบต่อมาถึงปัจจุบันและเชื่อมโยงมาถึงเลขทะเบียนรถด้วย ดังปรากฏว่าในปัจจุบันมีการเปิดประมูลเลขทะเบียนรถมงคล ณ สำนักงานขนส่งประจำจังหวัดต่างๆ จากสื่อประชาสัมพันธ์ข้างต้นจะเห็นว่าการประมูลหมายเลขทะเบียนนั้น ไม่ได้พิจารณาเพียงตัวเลขมงคลเท่านั้น หากแต่ยังพิจารณาหมวดอักษรและมีความพยายามในการเพิ่มคำอธิบายมงคลใส่ในหมวดอักษรนั้นๆ ด้วยเพื่อเพิ่มมูลค่าของหมายเลขทะเบียน ตัวอย่าง หมวดอักษร กง หมายถึง การงานมั่นคง การเงินมั่งคั่ง หมวดอักษร กม หมายถึง กิจการมั่งคั่ง ก้าวหน้ามั่นคง
หมวดอักษร กพ หมายถึง กับบุคคลพิเศษ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีการคำนวณเลขทะเบียนรถด้วยการพิจารณาเลขทะเบียนรถนั้นให้ใช้วิธีบวกเลขทั้งหมดบนแผ่นป้ายทะเบียน แล้วนำผลลัพธ์ที่เป็นทั้งเลข 2 ตัวและเลขตัวเดียวมาใช้กับคำทำนายประกอบกัน เช่น เลขทะเบียนรถ 1 ก 6489 ให้บวกดังนี้ 1 + 6 + 7 + 8 + 9 ได้ผลลัพธ์ 31 ให้นำ 3 + 1 = 4

จากนั้นดูคำทำนายที่เลข 4 และเลข 31 แต่หากทะเบียนรถมีความพิเศษ เช่น เลขซ้ำ ให้ดูคำทำนายตรงๆ ที่คำทำนายด้วย เช่น กข 1123 ให้ดูคำทำนายที่เลข 11 และเลข 7 ด้วย (1 + 1 + 2 + 3 = 7)8

ซึ่งมีความเชื่อว่าดวงชะตาของเจ้าของรถจะเป็นไปตามคำพยากรณ์ แต่พลังแฝงของเลขที่จะส่งอิทธิพลโดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่เลขหลักหน่วยและเลขหลักที่ซ้ำในหมายเลขทะเบียนเป็นสำคัญ ในตัวอย่างนี้ให้ดูที่เลข 11 คือเลขซ้ำ เลข 11 จะส่งผลต่อรถคันนี้มาก ส่วนเลขรวมคือเลข 7 จะมีอิทธิพลรองลงมา แต่ถ้าทะเบียนไม่มีเลขซ้ำ เช่น กข 1234 (1 + 2 + 3 + 4 = 10) เลข 10 จะส่งอิทธิพลต่อรถคันนี้มาก

อย่างไรก็ตาม สามารถดูคำทำนายทีละคู่ประกอบกันได้ คือ ดูคำทำนายเลข 12 และดูคำทำนายเลข 349

การคมนาคมระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน ก่อนมีการสร้างทางรถไฟนั้นมีลักษณะทุรกันดาร การเสด็จตรวจราชการของเจ้านายจึงต้องเดินทางด้วยกองคาราวานเกวียน

2. ความเชื่อเรื่องโชคลางและการแก้เคล็ดรถ

ความเชื่อเรื่องการแก้เคล็ดรถเป็นการป้องกัน และปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไปจากรถ ตลอดจนเป็นสัญญาณบอกเหตุให้เกิดความระมัดระวังไม่ประมาท ดังเช่นความเชื่อเรื่องสัตว์วิ่งตัดหน้ารถ 6 รูปแบบ ดังนี้12

สัตว์ตัดหน้า จากซ้ายไปขวา จะมีโชคลาภ
สัตว์ผ่านตัดหน้า จากขวาไปซ้าย ไม่ดีจะมีภัย

สัตว์มาชนรถ จากด้านหน้า ไม่ดี ให้หาที่จอดรถริมทางสักพัก แล้วค่อยเดินทางต่ออีกใน 15-30 นาที
สัตว์มาชนรถ ทางด้านขวา ไม่ดีไม่ร้าย แต่ให้เดินทางช้าลง และเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น
สัตว์มาชนรถทางด้านซ้าย ไม่ดี ให้หยุดพักกราบดิน เพื่อขอขมาและขอพรพระแม่ธรณีก่อนเดินทางต่อไป
สัตว์ชนรถทางด้านหลัง ถือว่าดี ให้เร่งเดินทางจะได้ประสบโชคลาภ

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องการห้อยตุ๊กตาไว้ที่ท่อรถ หรือท้ายรถด้านล่าง ซึ่งมีความเชื่อว่าการห้อยตุ๊กตารูปเด็กหรือรูปคนไว้ที่ท่อรถจะช่วยกันที่ไม่ให้วิญญาณติดไปกับรถ หรือรถมือสองที่ไม่แน่ใจว่าก่อนซื้อรถเคยประสบอุบัติเหตุและเคยลากศพติดมากับรถหรือไม่ การติดตุ๊กตาไว้เชื่อว่าจะช่วยกันพื้นที่ไม่ให้วิญญาณเข้ามาอาศัยอีก ภายหลังการห้อยตุ๊กตาได้คลี่คลายจากรูปเด็กหรือรูปคนเป็นตัวการ์ตูนต่างๆ ด้วย13

3. ความเชื่อเรื่องฤกษ์ยามในการออกรถ

ฤกษ์ยามถือเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของคนไทย เชื่อกันว่าวันและเวลาที่เกี่ยวกับรถจะสัมพันธ์กับดวงชะตาของผู้เป็นเจ้าของ ด้วยเหตุนี้จึงมีความ
เชื่อเรื่องรถกับฤกษ์ยาม ดังนี้

ก. วันมงคลออกรถถูกโฉลกตามวันเกิด14 ดังตัวอย่าง

เกิดวันจันทร์
ออกรถวันอาทิตย์ จะมีอุปสรรค
ออกรถวันจันทร์ เสริมเรื่องเพื่อนพ้อง เสน่ห์
ออกรถวันอังคาร เสริมเรื่องการกินดีอยู่ดี
ออกรถวันพุธ เสริมเรื่องอำนาจบารมี
ออกรถวันพฤหัสบดี เสริมเรื่องทรัพย์สินมีหลักฐานดี
ออกรถวันศุกร์ เสริมเรื่องแรงสนับสนุน ผู้ใหญ่ค้ำจุน มีลาภยศ
ออกรถวันเสาร์ เสริมเรื่องโชคลาภ ความมั่งมี
ศรีสุข

ข. ฤกษ์งาม ยามดี วัน-เวลาสำหรับออกรถ ดังตัวอย่าง
ออกรถวันอาทิตย์เวลานำโชคคือ
1. ช่วงเช้า 6 โมงถึงก่อน 9 โมง
2. ช่วงบ่าย บ่ายโมงครึ่งถึงบ่าย 3

ค. วันดี-ร้าย เกี่ยวกับรถยนต์

วันห้ามซื้อรถ
วันอาทิตย์ เพราะเป็นวันร้อน
วันอังคาร เพราะเป็นวันดุ วันติดขัด
วันพุธ เชื่อว่าจะทำให้ร้อนเงิน
วันพฤหัสบดี เชื่อว่าจะทำให้เหนื่อยๆ วุ่นๆ
วันเสาร์ เชื่อว่าเป็นวันแรง จะมีอุปสรรคมาก
วันพระ เชื่อว่าจะทำให้ป่วย

วันซื้อรถ
วันจันทร์ เป็นวันเสน่ห์ โชคดี
วันศุกร์ เชื่อว่าเสริมเงินทอง โชคลาภ และ
ความราบรื่น

ง. ทิศทางนำโชควันออกรถ
เมื่อจะออกรถในวันแรก ควรขับไปในทิศมงคลเพื่อจะได้มีโชคดีตลอดไป
วันอาทิตย์ ทิศตะวันออกเฉียงใต้
วันจันทร์ ทิศตะวันตก
วันอังคาร ทิศตะวันตกเฉียงใต้
วันพุธ ทิศใต้
วันพฤหัสบดี ทิศเหนือ
วันศุกร์ ทิศตะวันออก
วันเสาร์ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

4. ความเชื่อเรื่องโฉลกสีรถ

สีมงคล มีอยู่ในคติคนไทยมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ปรากฏอยู่ในสวัสดิรักษา ด้วยเชื่อว่าจะเป็นสิริมงคล โดยสีที่กล่าวถึงในตำราสวัสดิรักษานั้น

กล่าวเฉพาะสีในการนุ่งห่มประจำวัน รวมถึงสีในการออกศึก อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันความเชื่อดังกล่าวได้นำมาประยุกต์ใช้ในการเลือกซื้อรถด้วย
ดังนี้

ก. สีรถต้องกับโฉลกวันเกิด15

การเลือกสีรถ เจ้าของรถอาจเลือกสรรตามความพึงพอใจของตัวเองเป็นสำคัญ หากแต่เชื่อกันว่าสีรถที่ถูกโฉลกกับวันเกิดย่อมจะช่วยเสริมมงคล
โชคลาภได้ คนที่เกิดในแต่ละวันนั้นมีสีสันที่ถูกโฉลกกับวันของตนหลายสี แต่ละสีก็เสริมส่งพลังมงคลในด้านต่างๆ หลายทาง อีกทั้งยังมีบางสีสันที่
เราควรหลีกเลี่ยงด้วย ดังตัวอย่าง

เกิดวันอาทิตย์

สีแดง สีส้ม เสริมด้านบริวาร พวกพ้อง
สีชมพู สีม่วง เสริมบารมี ลาภยศชื่อเสียง
สีเทา สีน้ำตาล เสริมด้านความราบรื่นและแรงสนับสนุน
สีเขียว สีขาว เสริมโชคลาภ เสน่ห์ ปลอดภัย แคล้วคลาด
สีดำ เสริมทรัพย์สิน หลักฐานฐานะ
สีน้ำเงิน ไม่ถูกโฉลก

มองสังคมไทยผ่าน “กราบรถ” และ “คติชนของคนมีรถ”

ความเคลื่อนไหวของ “คติชนของคนมีรถ” อย่างต่อเนื่องดังที่นำเสนอมาแล้วข้างต้น ทำให้มองเห็นความเชื่อมโยงของคนไทยที่มีวิธีคิดแบบกระบวนทัศน์ (Paradigm) และนำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาต่อยอด ขณะเดียวกันก็มีความพยายามในการสร้างสรรค์พิธีกรรมขึ้นใหม่ ทั้งเพื่อสนองตอบความเชื่อใหม่และเพื่อธุรกิจความเชื่อที่ทวีความรุ่งเรืองในสังคมไทย โดยผู้วิจัยจะได้อภิปรายในประเด็นเชิงวิเคราะห์สังคมไทยผ่าน “คติชนของคนมีรถ” ดังนี้

กระบวนทัศน์เรื่อง “พาหนะ” กับการดำรงอยู่ของความเชื่อเกี่ยวกับพาหนะในสังคมไทย

ตามที่ผู้วิจัยได้กล่าวไว้ในเบื้องต้นว่า คนไทยมีความคิดเรื่องพาหนะในเชิงกระบวนทัศน์ (Paradigm)กล่าวคือ คนไทยมองว่าการทำขวัญในแบบดั้งเดิม คือ ขวัญเกวียน ขวัญเรือ และขวัญสัตว์พาหนะนั้น อยู่ในกระบวนทัศน์เดียวกันคือ “พาหนะ” ดังนั้น เมื่อสังคมไทยเจริญพัฒนาก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น มีพาหนะแบบใหม่ขึ้น เช่น รถจักรยานยนต์ รถยนต์ เครื่องบิน ฯลฯ ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบกระบวนทัศน์เดิมคือ “ยานพาหนะ” ดังนั้นจึงย่อมสามารถ “หยิบยืม” พิธีกรรมที่เกี่ยวกับพาหนะแบบดั้งเดิมมาประยุกต์ใช้ได้แบบไม่ขัดเขิน

ขณะเดียวกันภายในกระบวนทัศน์นี้ก็ยังมีความเชื่อใหญ่ที่ดำรงอยู่ว่า ยานพาหนะย่อมมี “ขวัญ” หรือ “แม่ย่านาง” สถิตอยู่ ดังนั้นไม่ว่าโลกจะพัฒนาไปไกลเพียงใด หากคนไทยยังคงยึดถือกระบวนทัศน์นี้ พาหนะทุกชนิดทั้งที่เคยมีอยู่ กำลังมีอยู่ และต่อไป จะมีก็ย่อมจะต้องมี “ขวัญ” หรือ “แม่ย่านาง” สถิตอยู่เช่นกัน

นอกจากนี้ผู้วิจัยมีข้อสังเกตว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของรถมีการย้ายหรือแปลงรูปความคิด (Transform) จากความเป็น “พาหนะ” ไปสู่ความเป็น “สัตว์เลี้ยง” กล่าวคือ เจ้าของรถมองรถในฐานะสัตว์เลี้ยง ด้วยเหตุนี้ ความเชื่อเรื่องพาหนะจึงไปเชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องดวงชะตาและโฉลกของเจ้าของกับสัตว์เลี้ยงที่ต้องสัมพันธ์กัน คล้ายกับตำราดูลักษณะสัตว์ ที่สี และลักษณะบางประการ ควรเสริมชะตา และเสริมบารมีแก่ผู้เป็นเจ้าของ อันจะช่วยสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ครอบครอง

การดำรงอยู่ของความเชื่อเรื่องพาหนะในสังคมไทยภายใต้กรอบของกระบวนทัศน์เรื่อง “พาหนะ” เป็นสิ่งที่หยั่งรากฝังลึกในสังคมไทยสืบมาและเชื่อว่าจะยังคงดำรงอยู่และพัฒนารูปแบบขนานไปกับความเจริญทางวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้งเช่นกัน พลวัตและความคิดสร้างสรรค์ของการทำขวัญพาหนะ

ข้อมูลการสำรวจพิธีกรรมเกี่ยวกับรถดังนำเสนอมาก่อนหน้าจะเห็นว่ามีความพยายามในการพัฒนาพิธีทำขวัญพาหนะรูปแบบเดิม ให้เหมาะสมกับ สังคมปัจจุบัน เช่น จากเดิมการทำขวัญพาหนะต้องเชิญหมอขวัญมาทำพิธีแบบผสมสานระหว่างผีและพราหมณ์ ซึ่งหาหมอขวัญยากในสังคมเมืองรวมทั้งยังต้องจัดเครื่องสังเวย เตรียมบายศรี ซึ่งต้องใช้เวลาตระเตรียมและเป็นเรื่องซับซ้อนเกินไปสำหรับคนรุ่นใหม่ จึงมีการปรับรูปแบบพิธีให้กระชับและตอบโจทย์ “ความปลอดภัย” เช่น การให้พระเจิมและรดน้ำมนต์ การไหว้พร้อมกับเทศกาลไหว้ผีบรรพบุรุษ เป็นต้น

ขณะเดียวกันก็มีความพยายามในการสร้างสรรค์พิธีกรรมใหม่โดยเชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่อง “แม่ย่านาง” มีการจัดเป็นเทศกาล (Event) เฉพาะ เช่น พิธีปลุกเสกรถยนต์ พิธีเชิญแม่ย่านางสถิต พิธีผูกขวัญแม่ย่านาง เทศกาลเหล่านี้สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่โดยมีการนำอนุภาค (motif) ของพิธีกรรมต่างๆ มาใช้ในการสร้างสรรค์ใหม่ นอกจากนี้ยังเกิดการออกแบบงานศิลปะต่างๆที่สร้างสรรค์ขึ้นให้สอดคล้องกับรถ เช่น การออกแบบพวงมาลัย ริบบิ้น สำหรับแขวนบูชาแม่ย่านางหน้ารถซึ่งเป็นของที่ออกแบบขึ้นใหม่ แผ่นป้ายสติ๊กเกอร์วงกลมรูปยันต์ โมบายพระเกจิ หรือเทวรูปลอยองค์ใส่กรอบ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความคิดสร้างสรรค์ในการปรับปรุงรูปแบบ ให้ตอบโจทย์ของ “คนมีรถ” และยังใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งรถที่สวยงาม และกลายเป็นของสะสมอีกด้วย นับเป็นความสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ

ธุรกิจความเชื่อที่ตอบสนองความต้องการของ “คนมีรถ”

ในวิทยานิพนธ์ของ ณัฐจรี สุวรรณภัฏ เรื่อง “แท็กซี่” กระบวนการเข้าสู่อาชีพและประสบการณ์ชีวิตประจำวัน สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2545 ศึกษาชีวิตของ “แท็กซี่” หรือคนขับรถโดยสารไม่ประจำทางซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับรถไม่น้อย มองว่าการขับรถโดยสารไม่ประจำทางดังกล่าวในปัจจุบันมีความเสี่ยงสูง กล่าวคือ ความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ ความเสี่ยงจากผู้โดยสาร ความเสี่ยงจากตำรวจ ความเสี่ยงจากการถูกจี้ปล้น ฯลฯ ทั้งนี้ปัญหาความเสี่ยงดังกล่าวค่อนข้างใกล้เคียงกับ “คนใช้รถ” ในปัจจุบันมาก สอดคล้องกับในวิทยานิพนธ์ของสิรินาฏ ศิริสุนทร เรื่องวิถีชีวิตคนขายพวงมาลัย สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2548 ที่ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจการขายพวงมาลัยดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยความเชื่อของคนขับรถต่างๆ ที่ต้องการที่พึ่งหรือที่ยึดเหนี่ยวเพื่อให้รอดพ้นจากความเสี่ยงบนท้องถนน

ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ไม่คาดคิดระหว่างขับรถ หรือความเสี่ยงที่จะถูกขโมยรถ ล้วนเป็นความกังวลและความไม่มั่นคงในจิตใจ จึงทำให้ต้องแสวงหาเครื่องบำรุงขวัญและกำลังใจมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อช่วยในการบริหารความเสี่ยง (Risk management) เป็นเสมือนภูมิคุ้มกันทางจิตใจ จึงเกิดธุรกิจเพื่อตอบสนองความเชื่อและความกังวลของ “คนมีรถ” มีการสร้างวัตถุมงคลและยันต์ต่างๆ

ขณะเดียวกัน เลขทะเบียนสวยก็ถูกทำให้กลายเป็น “สินค้ามีราคา” ที่จะต้องประมูลในราคาสูง นอกจากนี้ยังพบว่าเกิดธุรกิจการเป็น “ที่ปรึกษา” ในการช่วยบริหารความเสี่ยงกับอำนาจเหนือธรรมชาติ สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาศึกษาตำรา หรือผู้ที่ต้องการความมั่นใจ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดมีซินแสรับดูฮวงจุ้ยรถเกิดขึ้นธุรกิจเกี่ยวกับความเชื่อของคนมีรถนั้น ปัจจุบันมีการสร้างความน่าสนใจหรือการพยายามสร้างส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มเติม โดยการสร้าง และโฆษณาผลิตภัณฑ์ ทั้งวัตถุมงคลและยันต์ ให้เป็นสินค้าความเชื่อที่มีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มเติมนอกเหนือจาก “ความปลอดภัย” ซึ่งเป็นความต้องการเบื้องต้น เช่น ความโชคดี ความร่ำรวย ความมีชื่อเสียง ขณะเดียวกันผู้สร้างเองก็มีความพยายามในการรับประกันหรือควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ (Quality Control) โดยการเผยแพร่เรื่องเล่าปาฏิหาริย์จากผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น การรอดตายจากอุบัติเหตุ การมีชีวิตที่ดีขึ้น หลังจากที่ใช้ผลิตภัณฑ์นี้กับรถ เป็นต้น วิธีคิดของสังคมไทยที่ได้จาก “คติชนของคนมีรถ” ดังที่ได้นำเสนอข้างต้น จะเห็นว่าเป็นผลควบคู่มากับการพัฒนาของยานยนต์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น ความเร็วสูงขึ้น ปริมาณรถบนท้องถนนมากขึ้น อุบัติเหตุจึงย่อมเกิดมีมากขึ้น ความตายเป็นสิ่งที่ใกล้ตัว นอกจากการขับรถถูกกฎขับขี่อย่างปลอดภัยแล้ว การบริหารความเสี่ยงกับอำนาจเหนือธรรมชาติก็เป็นเรื่องจำเป็น ถือเป็นความไม่ประมาทอย่างหนึ่งตามวิธีคิดแบบไทยเช่นกัน

ความส่งท้าย

ความเชื่อเกี่ยวกับรถ (Automobile folklore) มิได้มีเพียงในประเทศไทยเท่านั้น ยังพบบ้างในต่างประเทศ เช่น โบลิเวีย จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ หากแต่ไม่โดดเด่นเท่ากับประเทศไทย คติชนของคนมีรถในประเทศไทยแสดงให้เห็นอัตลักษณ์ของสังคมไทยที่เน้นบริหารความเสี่ยงของชีวิตควบคู่ไปทั้ง “โลกสามัญ” และ “โลกศักดิ์สิทธิ์” ผ่านความเชื่อเหนือธรรมชาติ ดังที่เคยมีอาจารย์และช่างภาพชาวต่างประเทศให้ความสนใจ คือ เดล คอนสแตนซ์ (Dale Konstanz) และจัดนิทรรศการภาพถ่ายในหัวข้อ “เครื่องรางในรถแท็กซี่ไทย” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2557

ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับคติชนของคนมีรถ ที่เป็นการเจาะลงไปอีกคือ คติชนของคนขับรถแท็กซี่ ที่เป็นความเชื่อเกี่ยวกับรถและเป็นความเชื่อเฉพาะกลุ่มคนขับรถแท็กซี่ ซึ่งมีความน่าสนใจมาก เพราะรถไม่ได้เป็นเพียงพาหนะ แต่กลายเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ จึงทำให้มีการใช้วัตถุมงคลที่สัมพันธ์กับมิติการค้าด้วย เช่น นิยมแขวนลอบไซขนาดเล็กที่กระจกหน้า เพื่อหวังอำนาจเหนือธรรมชาติให้มีลูกค้า การบูชาชูชก เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่า เมื่อออกมาให้บริการในแต่ละวันหากผู้โดยสารคนแรกว่าจ้างให้ไปที่ใดต้องไป ไม่เช่นนั้นวันนั้นทั้งวันจะไม่มีผู้โดยสารหรือดวงไม่ดี หรือหากผู้โดยสายคนแรกของวันว่าจ้างให้ไปในระยะทางไกล เชื่อว่าเป็นลางบอกเหตุว่าวันนั้นจะโชคดีมีผู้โดยสารมาก เป็นต้น

“คติชนของคนมีรถ” เป็นตัวอย่างหนึ่งของการศึกษาคติชนสังคมเมือง (Urban Folklore) ที่ทำให้เห็นว่าคติชนยังดำรงอยู่ทั้งในสังคมชนบทและสังคมเมือง เป็นเรื่องที่มีอยู่รอบตัวเรา เมื่อสังคมพัฒนาก้าวหน้าไป คติชนก็มีการปรับแปลงให้สอดรับกับสังคมที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน หากเราทำความเข้าใจถึงปรากฏการณ์และรู้เท่าทันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้เป็นทิศทาง หรือกลยุทธ์ในการพัฒนา หรือแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไปในกรอบวิถีแบบไทย

หมายเหตุ: คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “‘กราบรถ’ : หลักฐานทางคติชนว่าด้วยการ ‘กราบรถ’ ในวัฒนธรรมไทย” โดย อภิลักษณ์ เกษมผลกูล จาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2562


เชิงอรรถ

1 กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. ประชุมคำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง. (กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, 2533), น. 79.
2 จ.เปรียญ. ตำราสูตรขวัญโบราณต่างๆ. (กรุงเทพฯ : อำนวยสาส์นการพิมพ์, ม.ป.ป.), น. 198-197.
3 พ่วง บุษรารัตน์. “ทำขวัญเรือ,” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 7. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย, 2542), น. 3340.
4 สวิง บุญเจิม. ตำรามรดกอีสาน. (อุบลราชธานี : มรดกอีสาน, 2554), น. 717.
5 เรื่องเดียวกัน, น. 717.
6 เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
7 เสฐียรโกเศศ และนาคะประทีป. แม่ย่านาง วรรณคดีและราชาวดี. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์โท พระอุปกรศิลปศาสตร์ (เจริญ
อากาศวรรธนะ) ณ วัดจักรวรรดิ์ราชาวาส วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481. น.1-15.
8 ชารีฟ วนปาล. รถโชคดี รถโชคร้าย ทำนายจากทะเบียนรถ. (กรุงเทพฯ : ไพลิน, 2548), น. 9-10.
9 เรื่องเดียวกัน, น.10-11.
10 เรื่องเดียวกัน, น.13.
11 เรื่องเดียวกัน, น. 20.
12 “6 วิธี แก้เคล็ด สัตว์วิ่งตัดหน้ารถ! ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน” เข้าถึงเมื่อ 15 เมษายน 2559. เข้าถึงได้จาก Horoscope.mthai.com
13 “บทสรุปการห้อยตุ๊กตาท้ายรถ” เข้าถึงเมื่อ 3 มกราคม 2559 เข้าถึงได้จาก http://2g.pantip.com/cafe/ratchada/topic/V5296659/V5296659.html
14 ชารีฟ วนปาล. รถโชคดี รถโชคร้าย ทำนายจากทะเบียนรถ. น. 94.
15 เรื่องเดียวกัน, น. 105.
16 เรื่องเดียวกัน, น. 90.
17 คาถาป้องกันภัยเมื่อเดินทาง เข้าถึงเมื่อ 3 มีนาคม 2559 เข้าถึงจาก http://www.mhodoo.com/khata_view.php?id=116
18 คาถาป้องกันภัยเมื่อเดินทาง เข้าถึงเมื่อ 3 มีนาคม 2559 เข้าถึงจาก http://www.buddha-dhamma.com/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&No=1173215

บรรณานุกรม

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. ประชุมคำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, 2533.

จ.เปรียญ. ตำราสูตรขวัญโบราณต่างๆ. กรุงเทพฯ : อำนวยสาส์นการพิมพ์, ม.ป.ป.

ชารีฟ วนปาล. รถโชคดี รถโชคร้าย ทำนายจากทะเบียนรถ. กรุงเทพฯ : ไพลิน, 2548.

ณัฐจรี สุวรรณภัฏ. “แท็กซี่” : กระบวนการเข้าสู่อาชีพและประสบการณ์ชีวิตประจำวัน. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545.

ประชุมเชิญขวัญ, พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2556.

พ่วง บุษรารัตน์. “ทำขวัญเรือ,” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ เล่มที่ 7. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย, 2542.

ส. พลายน้อย. เกิดในเรือ บันทึกความทรงจำของ ส. พลายน้อย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552.

สวิง บุญเจิม. ตำรามรดกอีสาน. อุบลราชธานี : มรดกอีสาน, 2554.

สิรินาฏ ศิริสุนทร. วิถีชีวิตคนขายพวงมาลัย. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548.

เสฐียรโกเศศ และนาคะประทีป. แม่ย่านาง วรรณคดี และราชาวดี. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพอำมาตย์โท พระอุปกรศิลปศาสตร์ (เจริญ อากาศวรรธนะ) ณ วัดจักรวรรดิ์ราชาวาส วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481.

อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. “เมื่อคน ‘บอกรัก’ ควาย : วาเลนไทน์ของควายกับคน,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 28 ฉบับที่ 4 (กุมภาพันธ์ 2550), น. 28-32

แหล่งที่มา: เว็บไซต์ silpa-mag.com

15 ผลไม้ต้องห้าม! อย่านำมาไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์

1.ละมุด : เชื่อกันว่า ทำอะไรแล้ว มักไม่โดดเด่น ปิด ๆ ซ่อน ๆ 

2.มังคุด : เชื่อกันว่า ทำอะไรแล้วไม่ได้ดีเท่าที่ควร ไปไม่ถึงที่สุด ไม่โดดเด่น

3.พุทรา : เชื่อกันว่า ทำอะไรแล้วดีในช่วงแรกๆ ช่วงหลังๆ ซาซา

4.มะเฟือง : เชื่อกันว่า ทำอะไรแล้ว มักผืดเคือง ไม่อะไรก็อะไร สักอย่าง

5.มะไฟ : เชื่อกันว่าทำอะไรแล้วมักต้อง เร่งๆ รีบๆ เหมือนไฟลน ไม่ได้คุณภาพ

6.น้อยหน่า : เชื่อกันว่า ทำอะไรแล้ว มักมีปัญหาอุปสรรคเล็กน้อย อยู่เสมอ ทำแล้วได้ผลเพียงน้อยนิด

7.น้อยโหน่ง : เชื่อกันว่า ทำอะไรแล้ว ได้ผลสมบรูณ์เพียงน้อยนิด มีอุปสรรคปัญหา ไม่สมบรูณ์แบบ

8.มะตูม : เชื่อกันว่า ทำอะไรแล้วไม่เจริญก้าวหน้า เช่นเดียวกับชื่อที่ตูมอยู่ตลอด ไม่ก้าวหหน้า ไปไม่ได้ไกล

9.มะขวิด : เชื่อกันว่า ทำอะไรแล้วมักจะประสบปัญหา ไม่ครบ ขาดโน่น ขาดนี่เสมอ

10.ลูกจาก : เชื่อกันว่า ทำอะไรแล้ว มักจะไม่ยั่งยืน

11.ลูกพลับ : เชื่อกันว่า ทำอะไรแล้ว ผลงานต้องโดนเก็บใส่ลิ้นชัก ไม่ได้แสดงผลงาน ไม่ก้าวหน้า

12.ลูกท้อ : เชื่อกันว่า ทำอะไรแล้ว ท้อแท้ เบื่อหน่าย ไม่มีกำลังใจ

13.ระกำ : เชื่อกันว่า ทำอะไรแล้ว มักจะไม่ประสบความสำเร็จ

14.กระท้อน : เชื่อกันว่า ทำอะไรแล้ว สิ่งที่ดีๆ ที่ต้องการเผยแพร่ออกไป กลับสะท้อนมายังจุดเดิม

15.ลางสาด : เชื่อกันว่า เป็นผลไม้ที่มียาง ทำอะไรแล้วมักจะมีเรื่อง ยุ่งยากวุ่นวาย

  อาจะดูเยอะไปสักนิดนะคะ แต่ถ้าหากคุณหลีกเลี่ยงได้ก็จะเป็นการดี และยังจะช่วยเสริมความเป็นมงคลได้ดียิ่งขึ้นด้วยค่ะ ขอให่ทุกท่านโชคดี เฮง ๆ มีแต่โชคลาภนะคะ

แหล่งที่มา: เว็บไซต์ sanook.com

สิ่งของอัปมงคลที่ไม่ควรมีในรถ

ว่าด้วยเรื่องความเชื่อเกี่ยวกับรถยนต์ เชื่อว่าก่อนที่จะออกรถ หลายๆ คนก็คงจะหาฤกษ์ หาวันที่เหมาะสม เพื่อเสริมความสิริมงคล และเมื่ออกรถเรียบร้อยแล้วสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่จะต้องอยู่คู่ประจำรถ เพื่อช่วยเสริมการเดินทางอย่างแคล้วคลาดปลอดภัย ซึ่งนอกจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในรถแล้ว ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับของที่ไม่เป็นมงคลที่ไม่ควรมีอยู่ในรถด้วย มาสำรวจดูกันว่ามีสิ่งของเหล่านี้อยู่ในรถหรือไม่

สิ่งของที่มีรอยร้าว

  • เชื่อว่าจะทำให้มีเรื่องบาดหมางกับคนใกล้ชิด มีเรื่องให้ต้องเดือดเนื้อร้อนใจ และเสียน้ำตา

นาฬิกาตาย

  • เชื่อว่าจะทำให้พบเจอแต่เรื่องทุกข์ เรื่องร้ายๆ และการสูญเสีย

พวงมาลัยแห้ง

  • หากซื้อพวงมาลัยดอกไม้สดมาแขวนรถ เมื่อพวงมาลัยแห้งแล้วควรนำออกจากรถ เพราะเพราะพวงมาลัยสดเปรียบเสมือนเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยก่อนออกเดินทางให้มีแต่ความราบรื่น แต่เมื่อพวงมาลัยแห้งเชื่อว่าจะทำให้การเดินทางลำบาก ไม่ราบรื่น

สิ่งของของคนเสียชีวิตไปแล้ว

  • เชื่อว่าจะทำให้มีเรื่องให้ต้องไม่สบายใจ จมอยู่กับความเครียด

สตางค์ร่วงหล่นในรถ 

  • เชื่อว่าจะทำให้เก็บเงินไม่อยู่ เงินไหลออกมากกว่ารับ

อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นความเชื่อส่วนบุคคลเท่านั้น และแม้ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะช่วยให้เรารู้สึกอุ่นใจเวลาขับรถ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นก็คือสติ การเตรียมร่างกายให้พร้อม และหมั่นตรวจเช็กสภาพรถออกเดินทางด้วยนะคะ~

แหล่งที่มา: เว็บไซต์ sanook.com

8 ระบบของเหลวในรถ ที่ควรหมั่นตรวจเช็คเป็นประจำ ยืดอายุการใช้งานของรถให้ยาวนาน

ระบบของเหลวในรถ ก็มีอายุการใช้งานเหมือนอุปกรณ์อื่นๆ ทั่วไปในรถยนต์ เช่น น้ำมันเครื่อง น้ำมันเบรก น้ำมันเกียร์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้หากปล่อยให้แห้งให้หมดไป แน่นอนผลที่ตามมาคือกาารทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพเต็มทีี่ของอุปกรณ์ส่วนนั่นๆ เพราะฉะนั้นเราควรหมั่นตรวจเช็คระบบของเหลวส่วนต่างๆภายในรถส่วนอยู่เป็นประจำ เพื่อป้องกันการเสียหายจากจุดเล็กๆ ก่อนจะรุกรามทำให้รถเสียหายหนักมากขึ้นกว่าเดิม

น้ำมันเครื่อง
ควรตรวจเช็คอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1ครั้ง เเละควรทำหลังจากดับเครื่องยนต์มากกว่า 5นาที ด้วยการจอดรถบนพื้นราบจากนั้นดึงก้านวัดระดับน้ำมันเครื่องออกมา ใช้ผ้าสะอาดเช็ดคราบน้ำมันที่ก้านเเล้วเสียบกลับเข้าไปอีกครั้ง โดยก้านวัดระดับแบ่งออกเ็นสองระดับบคือ MIN ต่ำสุด เเละ MAX มากสุด ระดับของน้ำมันเครื่องที่ดีควรอยู่ระหว่างกึ่งกางของทั้งสองจุด หากต่ำก่า MIN น้ำมันเครื่องน้อยเครื่องยนต์จะสึกหรอเร็ว แต่ถ้าเกินจุด MAX จะทำให้เกิดควันขาวมากเพราะมีการเผาไม้ที่เกินพอดี หลังเติมน้ำมันเครื่องควรสตาร์ทเครื่องยนต์ให้น้ำมันเครื่องได้หมุนเวียนในเครื่องยนต์เเละดับเครื่อง เเละควรเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเมื่อรถวิ่งถึงระยะ 8,000 – 10,000 ก.ม. หรือทุกๆ 6 เดือน ถ้ารถใช้งานบ่อยก็อาจเปลี่ยนทุกๆ 5,000 ก.ม. หรือทุก 3 เดือน

น้ำมันเพาเวอร์
น้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์สำหรับรถที่ไม่ได้ใช้ระบบพวงมาลัยไฟฟ้าแต่ยังใช้พวงมาลัยเพาเวอร์ไฮดรอลิคอยู่ น้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์จะลดระดับลงช้ามากฉะนั้นควรตรวจเช็คทุกๆ 1ปี หรือทุกๆ 80,000 กิโลเมตร เพราะหากนานกว่านั้นอาจส่งผลเสีย เช่น การบังคับเลี้ยวจะทำได้ยากขึ้น นอกจากนี้ ปั๊มหรือชุดเฟืองขับและเฟืองสะพานอาจได้รับความเสียหายเมื่อไม่มีน้ำมันช่วยลดแรงกระแทก การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการเปลี่ยนปั๊มพวงมาลัยเพาเวอร์หรือชุดเฟืองขับและเฟืองสะพาน

น้ำมันเบรก
แม้น้ำมันเบรกจะมีการลดลงน้อยในการใช้งานแต่ก็ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกในทุกๆ 1ปี หรือ เปลี่ยนทุก ๆ 40,000 กม. สามารถตรวจปริมาณน้ำมันเบรกได้จากในกระปุกน้ำมันเบรกที่ห้องเครื่อง น้ำมันเบรกที่มีขายในท้องตลาดแบ่งระดับจุดเดือดตามตัวย่อ DOT ไว้ที่ 3, 4 เเละ 5 สำหรับรถยนต์บ้านทั่วไป ควรเลือกใช้ DOT3 หรือ DOT4 ก็พอเพราะเป็นน้ำมันที่เหมาะกับความร้อนการทำงานของจานเบรก

น้ำมันเกียร์
ระบบเกียร์คือส่วนที่ต้องดูเเลในรถเป็นพิเศาเพราะหากเกิดการสึกหรอหรือเสียหายบอกได้เลยว่าการซ่อมแซมต้องใช้เงินมากกว่าการดูเเลเสียอีก ควรเปลี่ยนน้ำมันเกียร์ทุก 20,000-30,000 กิโลเมตร แต่ถ้าคุณมีพฤติกรรมการขับรถที่ต้องเปลี่ยนเกียร์บ่อยๆ ควรเปลี่่ยนทุกระยะทาง 10,000 – 20,000 กิโลเมตร หรือทุกๆ 1 ปี

น้ำมันคลัทช์
สำหรับรถเกียร์ธรรมดาทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนน้ำมันคลัทช์ (ใช้น้ำมันเบรคชนิดเดียวกัน) ควรเปลี่ยนพร้อมน้ำมันเบรค การเปลี่ยนน้ำมันคลัทช์ทุกปีช่วยยืดอายุชิ้นส่วนเหล่านี้ได้มากควรเปลี่ยนถ่ายทุก 1-1 ปีครึ่ง

น้ำหม้อน้ำ
ไม่ควรเติมแต่น้ำอย่างเดียวในหม้อน้ำ ควรเติมน้ำยาหล่อเย็นบ้างในบางครั้งเพื่อป้องกันไม่ให้สนิมเกาะหมอน้ำ การเลือกใช้น้ำยาหล่อเย็นควรศึกษาให้ดีเพราะน้ำยาหล่อเย็นจะมีให้ทั้งสูตรผสมกับน้ำหรือไม่ผสมกัับน้ำ ควรหมั่นตรวจสอบระดับน้ำในหม้อน้ำทุกๆ สัปดาห์ เเละควรล้างหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกๆ 6เดือนหรือ 9เดือน

น้ำฉีดกระจก
ระดับควมพร่องของน้ำฉีดกระจกขึ้นอยู่กับพฤติกรรมปริมาณการใช้งานของคุณ หากคุณเป็นคนที่มักใช้ระบบน้ำฉีดกระจกบ่อยๆ ควรตรวจเช็คระดับน้ำสัปดาห์ละ 1ครั้ง เเละควรผสมน้ำยาทำความสะอาดแบบเจือจางเข้าไปด้วยเพื่อเพิ่มความสะอาดขณะที่ก้านปัดน้ำฝนกำลังทำงาน

น้ำกลั่นแบตเตอรี่
สำหรับรถที่ใช้แบตเตอรี่แบบต้องเติมน้ำกลั่น ควรหมั่นตรวจสอบระดับน้ำกลั่นทุกสัปดาห์ เวลาเติมควรเติมทุกจุด โดยระดับน้ำกลั่นที่เหมาะสมควรท่วมแผ่นธาตุเล็กน้อย แบตเตอรี่รถยนต์ส่วนใหญ่จะมีอายุการใช้งาน 2-3 ปี ทุกครั้งที่คุณเริ่มรู้สึกได้ว่าระบบไฟในรถยนต์เริ่มรวน เสียงแตรฟังเเล้วขัดๆ ไม่ชัดเจน นั่นหมายถึงอาการของแบตเตอรี่เสื่อมเริ่มมาเเล้ว ควรเปลี่ยนแบตเตอรี่แต่เนิ่นๆ ก่อนที่กำลังไฟในรถของคุณจะหมดกลางทาง

แหล่งที่มา: เว็บไซต์ auto.mthai.com

ติดฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์แบบไหนเหมาะกับแดดเมืองไทย

ด้วยภาวะโลกร้อนหรือ (Global Warming) ที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกมีค่าที่สูงขึ้นจนเกิดปรากฏการณ์ทางธรรมชาติบางอย่าง เช่น ความผันแปรของการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์ ที่ส่งผลต่อการเพิ่มอุณหภูมิของชั้นบรรยากาศโลก ทำให้มนุษย์มีความต้องการเครื่องมือที่จะช่วยบรรเทาความร้อน มากขึ้น เครื่องปรับอากาศ หรือ อุปกรณ์ที่ช่วยบรรเทาความร้อนต่าง ๆ ไม่ให้แผ่กระจายเข้าสู่พื้นที่อาศัย

ภายในรถยนต์ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ต้องการได้รับการปกป้องจากอุณหภูมิความร้อนและแสงแดด เช่นเดียวกัน จึงมีนวัตกรรมฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์ หรือ โพลีเอสเตอร์ มีคุณสมบัติเหนียว บางเรียบ ไร้รอยย่น ยืดหยุ่นน้อย มีความทนทานต่อสภาพอากาศ สามารถยยึดเกาะกับเนื้อกระจกได้อย่างเรียบสนิทโดยใช้กาวที่มีความบางใสเป็นตัวเชื่อม ในเนื้อฟิล์มกรองแสงจะมีวัสดุที่ใช้เพื่อป้องกันความร้อน ฉะนั้นฟิล์มกรองแสงจึงช่วยลดความร้อน ลดรังสีอินฟราเรด และรังสียูวีที่เข้ามากระทบได้เป็นอย่างดี

ทำไมรถยนต์ต้องติดฟิลม์กรองแสง?

ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวของฟิล์มกรองแสงจึงนิยมนำมาใช้ในรถยนต์เพื่อลดแสง ลดความร้อน ให้กับภายในรถยนต์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ ปัญหารถยนต์ที่จะตามมา การดูแลบำรุงรถยนต์ เพื่อยืดระยะเวลาการใช้งาน  โดยสรุปได้เป็นหัวข้อหลัก ๆ ดังนี้

1.การลดความร้อน ซึ่งฟิล์มกรองแสงที่ดีสามารถลดอุณหภูมิภายในรถลงได้กว่า 60%

2.ป้องกันผิวหนังและดวงตา โดยการติดฟิล์มกรองแสงสามารถลดรังสีอัลตร้าไวโอเลตหรือยูวีได้กว่า 99% ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งผิวหนังและต้อกระจก

3.ลดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ฟิล์มกรองแสงที่ดีจะสามารถยึดกระจกไม่ให้แตกกระจายเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ปลอดภัยจากความคมของเศษกระจก หรือเศษจากกระจกนิรภัย กระเด็นเข้าตา

4.เพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ การติดฟิล์มกรองแสงสามารถลดแสงจ้าจากดวงอาทิตย์, แสงไฟจากรถที่วิ่งสวนทาง ทำให้ช่วยเพิ่มวิสัยทัศน์ในการขับขี่ที่ดีขึ้น

5.สร้างความเป็นส่วนตัวและปลอดภัย การติดฟิล์มกรองแสงที่มีความทึบแสงจะช่วยบดบังผู้ประสงค์ร้ายภายนอก และบดบังทรัพย์สินภายใน

6.การติดฟิล์มกรองแสงจะช่วยปกป้องรถคุณ ไม่ให้อุปกรณ์ภายในรถไม่ว่าจะเป็นแผงหน้าปัด, คอนโซน, พวงมาลัย ฯลฯ ซีดจางและแตกร้าวเร็ว

7.ประหยัดพลังงาน การติดฟิล์มกรองแสงที่ดีสามารถช่วยประหยัดพลังงานและลดภาวะโลกร้อนได้ โดยการป้องกันความร้อนที่เข้ามาในตัวรถ ทำให้ระบบปรับความเย็นในรถ ทำงานน้อยลงจึงเป็นการช่วยประหยัดพลังงาน รวมถึงค่าดูแลรักษาระบบปรับความเย็นอีกด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ภูมิอากาศของแต่ละที่ในโลกมีความแตกต่างกัน ในประเทศที่มีอุณภูมิเฉลี่ยที่ไม่สูงและแสงแดดที่ไม่จัด ก็อาจใช้เพียงฟิล์มติดรถยนต์มาตรฐานธรรมดา ๆ เพียงเท่านั้น แต่สำหรับในประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อน มีแดดจัดตลอดทั้งปี ต้องติดฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์แบบไหน ถึงจะเหมาะสมกันบ้างสามารถป้องกันความร้อนจากแสงแดดได้เราจะมาแนะนำกัน

ฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

1.ฟิล์มแบบย้อมสี

ฟิลม์ย้อมสี

การเลือกฟิล์มติดรถยนต์แบบย้อมสี มีคุณสมบัติช่วยลดแสง ลดความร้อนจากแสงแดดที่ส่องมายังตัวรถยนต์ ฟิล์มติดรถยนต์แบบย้อมสี มีลักษณะเป็นสีรุ้ง เมื่อใช้เป็นระยะเวลานาน จะมีการเปลี่ยนสีเป็นสีม่วง ซึ่งการใช้งานขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล

2.ฟิล์มติดรถยนต์แบบมาตรฐาน ลดความร้อน

Nano Film

ฟิล์มติดรถยนต์แบบมาตรฐาน เป็นฟิล์มที่สามารถพบเห็นตามรถยนต์ทั่วไป เพราะส่วนใหญ่มีคุณสมบัติช่วยลดความร้อน และทำหน้าที่สะท้อนความร้อนได้เป็นอย่างดี  สามารถแบ่งออกได้ดังนี้

– ฟิล์มเคลือบโลหะ หรือ ฟิล์มปรอท

ฟิล์มประเภทนี้มีความใส แสงส่องผ่านมากถึง 60 % แถมยังทนความร้อนได้เป็นอย่างดี  เมื่อแสงมาตกกระทบไม่เกิดเงา และที่สำคัญมีราคาแพงมาก

-ฟิล์มนิรภัย

เป็นเทคโนโลยีล่าสุดของฟิล์มกรองแสงรถยนต์ในปัจจุบัน เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีการผลิตฟิล์มกรองแสง ได้พัฒนาขึ้นมาอย่างไม่หยุดยั้ง จากสมัยก่อนที่ต้องมีการย้อมสีฟิล์มเพื่อเพิ่มความเข้ม เพิ่มเฉดสี หรือเคลือบสารโลหะต่างๆ เช่น ทอง เงิน อลูมิเนียม เพื่อใช้ในการสะท้อนความร้อน หรือที่เรียกกันว่า ฟิล์มปรอท มาในปัจจุบัน มีการใช้สารอนุภาคนาโนในรูปแบบต่างๆ เช่น เซรามิค มาช่วยเสริมเข้าไปในเนื้อฟิล์มกรองแสง ทำให้ฟิล์มกรองแสงในปัจจุบันนั้น มีคุณสมบัติโดดเด่นหลากหลายประการ โดยเฉพาะการกันความร้อน เพราะอนุภาค นาโน มีคุณสมบัติในการตัดรังสีความร้อนได้โดยเฉพาะ โดยไม่ต้องอาศัยการสะท้อนของแสงเหมือนฟิล์มสมัยก่อน ผลที่ได้ทำให้ฟิล์มนาโนเซรามิค ที่มีการสะท้อนแสงน้อย ไม่เงา ไม่มีปรอท ทำให้เวลาขับรถไม่ว่าจะเป็นกลางวันหรือกลางคืน ความคมชัด จะดีกว่าฟิล์มกรองแสงทั่วๆไป และอนุภาคนาโนยังมีความทนทานต่อความร้อนสูง สามารถคงอนุภาคนาโนได้นาน ไม่เสื่อมสภาพ ทำให้ฟิล์มที่ทำจากนาโนเซรามิคนั้น มีความทนทานกว่าฟิล์มทั่วๆไป ที่สำคัญ สีฟิล์มจะไม่ซีดจาง และการป้องกันความร้อนก็จะป้องกันได้สม่ำเสมอ ตลอดอายุการใช้งาน

ฟิล์มเซรามิค

เส้นใยนาโนเซรามิกเป็นวัสดุที่ได้รับความสนใจอย่างมากในการนำไปประยุกต์ใช้งานที่ หลากหลายด้วยสมบัติที่ขึ้นกับพื้นที่ผิวที่เพิ่มขึ้นและขนาดที่เล็กลงของวัสดุ นอกจากนี้เส้นใยนาโนยังมี สมบัติพิเศษทั้งทางด้านฟิสิกส์ เคมี

เทคนิคการเลือกฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์

  • ขับรถเฉพาะช่วงกลางคืน / ขับกลางคืนบ่อย หรือมีปัญหาเรื่องสายตา เราแนะนำให้ติดเป็นฟิล์มใสลดความร้อน
  • หากต้องการความเป็นส่วนตัว ชอบฟิล์มสีทึบ และไม่มีปัญหาเรื่องสายตา สามารถเลือกฟิล์มสีทึบ จะเคลือบโลหะหรือเป็นฟิล์มเคลือบสารพิเศษก็ได้
  • หากต้องใช้อินเตอร์เน็ตจากมือถือ หรือต้องใช้ระบบ GPS ในการนำทาง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ฟิล์มที่มีส่วนผสมของโลห
  • ถ้ากระจกรถของคุณมีสีค่อนข้างทึบจากโรงงานผู้ผลิต หรือต้องการที่จะโชว์วัสดุอุปกรณ์ในการแต่งภายในรถ เราแนะนำให้ใช้ฟิล์มใสลดความร้อน เป็นต้น

จากการเลือกซื้อฟิล์มกรองแสง พบว่า ส่วนหนึ่งของผู้ซื้อยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับฟิล์มกรองแสง โดยเฉพาะความเข้าใจระหว่างความทึบแสงกับความสามารถในการป้องกันความร้อน ความเข้าใจที่ว่า ฟิล์มที่มีสีเข้มหรือทึบ ช่วยลดความร้อนได้ดี ในความจริงแล้ว สีหรือความทึบของฟิล์มกรองแสงไม่ได้เป็นตัวช่วยลดความร้อน แต่กลับเป็นสารเคลือบตัวอื่นๆ ที่ทำหน้าที่หลักนี้ต่างหาก ลองมาดูว่าส่วนประกอบจากความร้อนที่เราได้รับมีอะไรบ้าง

โดยส่วนประกอบของความร้อนที่เราได้รับนั้นมีสัดส่วนและแบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ ความสว่างของแสง(Visible Light) มีสัดส่วน 44% รังสีอินฟาเรด(รังสีใต้แดง – Infrared) มีอยู่ 53% รังสียูวี(รังสีเหนือม่วง, รังสีอุลตร้าไวโอเลต – Ultra violet หรือ UV) มีอยู่ 3% ดังนั้นฟิล์มกรองแสงที่สามารถลดความร้อนได้ดีควรจะลดรังสีทั้ง 3 ส่วนได้มากๆ ตัวอย่างเช่น หากท่านติดฟิล์มกรองแสงที่มีความทึบแสงมากๆ แต่ฟิล์มกรองแสงนั้นๆ เป็นประเภทฟิล์มย้อมสีหรือเป็นฟิล์มกรองแสงที่ไม่ได้มีส่วนผสมของโลหะหรือสารพิเศษใดๆ ท่านจะรู้สึกถึงความร้อนที่ผ่านชั้นผิวของฟิล์มกรองแสงเข้ามา นั่นก็คือฟิล์มกรองแสงนั้นๆสามารถลดได้แค่ช่วงความสว่างของแสงที่มีสัดส่วนอยู่ 44% แต่รังสีอินฟาเรดยังสามารถผ่านทะลุเข้ามาได้จนรู้สึกถึงความร้อน ในทางกลับกันหากท่านติดฟิล์มกรองแสงที่มีส่วนผสมพิเศษไม่ว่าจะเป็นส่วนผสมของโลหะหรืออื่นๆ แต่ฟิล์มกรองแสงนั้นๆ มีค่าความทึบแสงน้อย(แสงส่องผ่านเข้าไปได้เยอะ) ท่านก็จะรู้สึกถึงความร้อนจากความสว่างของแสงที่ส่องผ่านฟิล์มกรองแสงเข้ามา ส่วนรังสียูวีนั้นเป็นส่วนประกอบน้อยมากของความร้อน (3%) ซึ่งฟิล์มกรองแสงเกือบทั้งหมดสามารถลดรังสียูวีได้มากกว่า 95% อยู่แล้ว

สุดท้ายการเลือกฟิล์มกรองแสงรถยนต์ ควรเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้รถมากที่สุด แต่สำหรับสภาพอากาศในบ้านเราจากที่ให้ข้อมูลเบื้องต้นมาทั้งหมด ฟิล์มเคลือบโลหะ  , ฟิล์มปรอท และ ฟิล์มเซรามิค น่าจะเหมาะสมมากที่สุด เพราะสามารถกันความร้อนได้ถึง 90% หาซื้อง่ายมีหลากหลายราคาตามยี่ห้อและคุณภาพ

ฟิล์มกรองแสงที่เหมาะสมกับเมืองไทย

อย่างไรก็ตามก่อนที่จะเลือกซื้อฟิล์มกรองแสงรถยนต์มาติดตั้งควรปรึกษาช่างผู้ชำนาญในเรื่องการติดฟิล์มกรองแสง และร้านรับติดฟิล์มที่มีคุณภาพ แม้จะต้องจ่ายค่าแรงที่สูงแต่ก็คุ้มค่าที่จะลงทุนเพื่อยืดอายุรถยนต์คันเก่งของเราให้ใช้งานได้ไปนาน ๆ

แหล่งที่มา: เว็บไซต์ chobrod.com

check-credit