เฉลิมชัย รถบ้าน

ที่สุดด้านคุณภาพและบริการ ต้องเฉลิมชัย รถบ้าน
โทร : 096-242-8639 เปิดทำการทุกวัน
110/4 หมู่ 1 ต.หนองยาว อ.เมือง จ.สระบุรี

Author: admin

เช็กราคาประกันรถยนต์ชั้น1

เช็กราคาประกันรถยนต์ชั้น 1 บริษัทไหนจ่ายเบี้ยเท่าไร คุ้มครองอะไรบ้าง

กำลังจะทำประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 แต่ไม่รู้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไร เช็กเลย ! ราคาประกันรถยนต์ชั้น 1 ของแต่ละบริษัท ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยต่อปีกี่บาท  และได้รับความคุ้มครองอะไรบ้าง คุ้มกับเงินที่จ่ายหรือไม่

ทุกวันนี้ใครที่ใช้รถยนต์ นอกจากประกันภัย พ.ร.บ. ที่บังคับให้เจ้าของรถทุกคันต้องทำพร้อม ๆ กับการต่อภาษีแล้ว ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจก็เป็นการทำประกันอีกรูปแบบหนึ่งที่หลายคนนิยมทำ โดยเฉพาะประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 เพราะประกันภัยดังกล่าวจะให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมมากกว่าประกันภัยภาคบังคับที่รับผิดชอบเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น

แต่แน่นอนว่าการรับผิดชอบความเสียหายที่ครอบคลุมมากขึ้น ย่อมมากับค่าเบี้ยประกันที่สูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งแต่ละบริษัทประกันก็มีเรตราคาที่แตกต่างกันออกไปโดยขึ้นอยู่กับยี่ห้อรถ รุ่น ปีที่ผลิต หรือแม้แต่ประวัติการเคลมล้วนมีผลต่อเบี้ยประกันทั้งสิ้น

ประกันภัยรถยนต์ คืออะไร

ประกันภัยรถยนต์ คือการประกันวินาศภัยประเภทหนึ่งที่ให้ความคุ้มครองรับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แก่ผู้เอาประกันภัยเมื่อเกิดความสูญเสียหรือความเสียหายที่เกิดจากการใช้รถยนต์ เช่น ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ ความเสียหายที่รถยนต์ได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่ชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก รวมทั้งบุคคลที่โดยสารอยู่ในรถยนต์นั้น ซึ่งประกันภัยรถยนต์ที่มีในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

  • ประกันรถยนต์ภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. เป็นประกันภัยรถยนต์ที่ทางภาครัฐบังคับให้เจ้าของรถยนต์ทุกคันต้องทำเพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองตัวบุคคลที่ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอกหากเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้บาดเจ็บ สูญเสียอวัยวะ ทุกพลภาพ หรือเสียชีวิต 
  • ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ คือ ประกันภัยที่ทำโดยความสมัครใจของเจ้าของรถ เป็นประกันภัยที่อยู่นอกเหนือประกันภัยภาคบังคับ สำหรับประกันภัยภาคสมัครใจนั้นจะให้ความคุ้มครองที่ครอบคลุมมากกว่า ซึ่งจะคุ้มครองตัวบุคคลทั้งตัวผู้ขับขี่เอง ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอก รวมไปถึงทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : ประกันภัยรถยนต์ มีกี่ประเภท

ทั้งนี้ ประกันภัยรถยนต์แบบสมัครใจที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุมมากที่สุดนั่นก็คือ ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ประกันภัยชนิดที่จะให้ความรับผิดชอบ ดูแลค่าใช้จ่ายในส่วนต่าง ๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาลของผู้เอาประกันภัย ผู้โดยสารและบุคคลภายนอก รับผิดชอบค่าเสียหายของทรัพย์สิน ค่าซ่อมรถยนนต์ทั้งของผู้เอาประกันภัย คู่กรณี ซึ่งความคุ้มครองนี้ไม่ได้คุ้มครองเฉพาะกรณีเกิดอุบัติเหตุแบบมีคู่กรณีเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมการเกิดเหตุแบบไม่มีคู่กรณีเช่นเดียวกัน

วันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับราคา เบี้ยประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 จากบริษัทประกันภัยต่าง ๆ มาให้ดูกัน ใครที่ยังไม่รู้ว่าจะเลือกประกันภัยรถยนต์บริษัทไหนดี มาเช็กราคาได้เลย

เช็กราคาประกันรถยนต์ชั้น 1

1. วิริยะประกันภัย

ภาพจาก : viriyah.com

วิริยะประกันภัยดำเนินกิจการในเมืองไทยมากว่า 70 ปี มีศูนย์ซ่อมและอู่ในเครือกว่า 600 แห่ง นอกจากประกันภัยรถยนต์แล้ว วิริยะยังมีประกันภัยอื่น ๆ ได้แก่ ประกันภัยบ้าน ประกันภัยธุรกิจ และประกันภัยสุขภาพอีกด้วย

ราคาประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ของวิริยะประกันภัยจะแบ่งตามลักษณะประเภทของรถและสถานที่ในการเข้าซ่อม ส่วนการคุ้มครองนั้นจะครอบคลุมทั้งตัวผู้เอาประกันและบุคคลภายนอก เช่น ค่าความเสียหายต่าง ๆ ของรถยนต์ ความเสียหายต่อทรัพย์สิน 5,000,000 บาท/ครั้ง ค่ารักษาพยาบาล ชีวิต ร่างกาย 1,000,000 บาท/คน หรือ 10,000,000 บาท/ครั้ง นอกจากนี้ ยังรวมถึงกรณีรถสูญหาย น้ำท่วม หรือไฟไหม้ และหลักทรัพย์ประกันตัวผู้ขับขี่ 200,000 บาท/ครั้ง ประกันภัยรถยนต์ของวิริยะนั้นจะให้ความคุ้มครองที่เหมือนกัน จะแตกต่างตรงที่ซ่อมอู่หรือซ่อมห้างเท่านั้น

  • รถเก๋ง รถกระบะ 4 ประตู ซ่อมอู่ ราคาเบี้ยเริ่มต้นที่ 13,000 บาท
  • รถเก๋ง รถกระบะ 4 ประตู ซ่อมห้าง ราคาเบี้ยเริ่มต้นที่ 15,000 บาท
  • รถกระบะ 2 ประตู ไม่เกิน 3 ตัน ซ่อมอู่ ราคาเบี้ยเริ่มต้นที่ 16,500 บาท
  • รถกระบะ 2 ประตู ไม่เกิน 3 ตัน ซ่อมห้าง ราคาเบี้ยเริ่มต้นที่ 20,000 บาท

2. กรุงเทพประกันภัย

ภาพจาก : bangkokinsurance.com

บริษัทประกันภัยรถยนต์ที่ได้รับความนิยมทั้งในเรื่องประกันรถยนต์ และประกันภัยด้านอื่น ๆ ที่มีให้เลือกหลายประเภทด้วยกัน อาทิ ประกันภัยการเดินทาง, ประกันภัยอุบัติเหตุ, ประกันภัยสำหรับทรัพย์สิน และประกันภัยอื่น ๆ

สำหรับประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ของกรุงเทพประกันภัยมีให้เลือกมากมายหลายแบบแผน ทั้งตามลักษณะของการใช้งานรถยนต์, ช่วงอายุของผู้ชับชี่ หรือรถที่มีอายุมากกว่า 6-12 ปี ก็สามารถทำประกันภัยชั้น 1 ได้ ส่วนการคุ้มครองนั้นจะครอบคลุมทั้งผู้เอาประกัน บุคคลภายนอก และทรัพย์สินต่าง ๆ รวมถึงกรณีรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ น้ำท่วม พายุ ลูกเห็บ หรือภัยจากการก่อการร้ายก็ให้ความคุ้มครองเช่นกัน

ราคาประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ของกรุงเทพประกันภัยจะมีให้เลือกหลายรูปแบบตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ซึ่งจะมีข้อแตกต่างที่ราคาเบี้ยประกันและความคุ้มครองบางอย่างที่ไม่เหมือนกันเพียงเล็กน้อย ผู้ที่สนใจควรสอบถามรายละเอียด เงื่อนไขของประกันภัยชั้น 1 แต่ละแผนให้ดีก่อนตกลงทำประกัน

  • ประกันรถยนต์ชั้น 1 ประเภทเลือกทุนเองได้ ตั้งแต่ 100,000-300,000 บาท ให้ความคุ้มครองทุกอุบัติเหตุ ทั้งรถชน รถหาย ไฟไหม้ นํ้าท่วม มีบริการช่วยเหลือ 24 ชั่วโมง พร้อมศูนย์ซ่อมมาตรฐาน (อู่ในเครือ) ให้เลือกหลากหลาย ราคาเบี้ยเริ่มต้น 11,000 บาท
  • ประกันรถยนต์ชั้น 1 ประเภท Motor by Region คิดเบี้ยประกันภัยตามภูมิภาคต่าง ๆ รับประกันรถที่มีอายุไม่เกิน 15 ปี และเป็นรุ่นรถที่บริษัทฯ กำหนดเท่านั้น สามารถเลือกศูนย์บริการ หรืออู่ซ่อมได้ ราคาเริ่มต้นต้องสอบถามกับตัวแทนประกันภัยเพราะขึ้นอยู่กับสถานที่ที่อยู่อาศัย และรุ่นรถของผู้เอาประกันภัย
  • ประกันรถยนต์ชั้น 1 ประเภท Motor Gen X ให้ความคุ้มครองแบบตรงใจสำหรับกลุ่มคนอายุ 35-45 ปี โดยไม่ต้องระบุผู้ขับขี่ สามารถเลือกศูนย์บริการ หรืออู่ซ่อมได้ มีบริการช่วยเหลือ 24 ชั่วโมง ราคาเบี้ยเริ่มต้น 12,780 บาท 
  • ประกันรถยนต์ชั้น 1 ประเภท Used Car Special รองรับสำหรับรถยนต์อายุ 6-12 ปี ได้รับทุนประกันภัยสูงสุดถึง 500,000 บาท ให้ความคุ้มครองครอบคลุมทั้งกรณีรถชน รถหาย ไฟไหม้ ทั้งแบบมีคู่กรณีและไม่มีคู่กรณี เข้าซ่อมที่ศูนย์ซ่อมมาตรฐานกรุงเทพประกันภัย ราคาเบี้ยเริ่มต้น 15,480 บาท
  • ประกันรถยนต์ชั้น 1 ประเภท คุ้มครอง-คุ้มค่า ประกันภัยรถยนต์ที่เหมาะสำหรับผู้ที่รักรถ และมีประวัติการขับขี่ที่ดี เบี้ยประกันภัยราคาเบาๆ แต่จะต้องเสียค่าเสียหายส่วนแรก 5,000 บาท/ครั้ง เมื่อเคลมแบบไม่มีคู่กรณีหรือเป็นฝ่ายผิด ราคาเบี้ยเริ่มต้น 8,100 บาท บาท

หมายเหตุ : ราคาของเบี้ยประกันภัยรถยนต์ในทุกกลุ่มจะมีการลดลงโดยขึ้นอยู่กับอายุของตัวรถ

3. ไทยศรี ประกันภัย

ภาพจาก : thaisri.com

บริษัทประกันภัยที่เปิดให้บริการมาแล้วกว่า 60 ปี มีศูนย์บริการ อู่ในเครือที่ได้มาตรฐาน และยังมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยอื่น ๆ นอกเหนือจากประกันภัยรถยนต์ ได้แก่ ประกันภัยทรัพย์สิน, ประกันภัยอุบัติเหตุ, ประกันการเดินทาง, ประกันภัยทางทะเล, ประกันภัยเบ็ดเตล็ด และประกันภัยสุขภาพ

สำหรับประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ของไทยศรี ประกันภัย จะแบ่งออกเป็นตามแต่ละประเภทของรถ เช่น รถยนต์ รถกระบะ และรถมอเตอร์ไซค์ ส่วนความคุ้มครองนั้นถือว่าครอบคลุมทั้งตัวผู้เอาประกันภัย บุคคลภายนอก และทรัพย์สิน พร้อมบริการช่วยเหลือฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง

ราคาประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ของไทยศรี ประกันภัย แบ่งออกเป็น ดังนี้

  • ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 สำหรับรถเก๋ง รถยนต์นั่งส่วนบุคคล รวมถึงรถปิคอัพจดทะเบียนเป็นรถนั่งส่วนบุคคล ที่นั่งไม่เกิน 7 ที่นั่ง โดยให้ความคุ้มครองตัวรถยนต์คันเอาประกันภัยและรถคู่กรณี (ตามทุนประกันภัย) คุ้มครองทรัพย์สินบุคคลภายนอก สูงสุด 5,000,000 บาท คุ้มครองชีวิตร่างกาย อนามัย ของบุคคลภายนอก สูงสุด 10,000,000 บาท คุ้มครองอุบัติเหตุส่วนบุคคล ค่ารักษาพยาบาล สูงสุด 300,000 บาท/คน พร้อมหลักทรัพย์ประกันตัวผู้ขับขี่ สูงสุด 400,000 บาท/ครั้ง ราคาเบี้ยเริ่มต้น 11,000 บาท
  • ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 สำหรับรถกระบะ คุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถคันเอาประกันภัยกรณีชน และรถยนต์สูญหาย /ไฟไหม้ รวมทั้งความคุ้มครองชีวิตร่างกาย อนามัยและทรัพย์สินบุคคลภายนอก นอกจากนี้ ยังมีความคุ้มครองเพิ่มเติมอื่น ๆ เช่น คุ้มครองทรัพย์สินบุคคลภายนอก สูงสุด 1,000,000 บาท/ครั้ง คุ้มครองชีวิต ร่างกาย อนามัย ของบุคคลภายนอก สูงสุด 10,000,000 บาท มีหลักทรัพย์ประกันตัวผู้ขับขี่ 200,000 บาท/ครั้ง และค่ารักษาพยาบาล สูงสุด 100,000 บาท/คน ราคาเบี้ยเริ่มต้น 14,000 บาท

4. ธนชาตประกันภัย

ภาพจาก : thanachart-insurance.co.th

บริษัทประกันภัยที่ก่อตั้งมาเมื่อปี 2540 มีประกันภัยรถยนต์ให้เลือกหลากหลายแบบทั้งชั้น 1 ชั้น 2+ และชั้น 3+ นอกจากประกันภัยรถยนต์ก็ยังมีประกันภัยชนิดอื่น ๆ เช่น ประกันภัยอุบัติเหตุ และประกันภัยโรคมะเร็ง

ราคาประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ของธนชาตประกันภัยมีให้เลือก 2 แผนด้วยกัน ได้แก่ 

  • ประกันภัยรถยนต์ประเภท1 One Lite ประกันภัยชั้น 1 ที่ให้ความคุ้มครองทุกภัย เหมาะสำหรับผู้ขับขี่มั่นใจ ขับรถปลอดภัย ไม่มีเคลม ราคาเริ่มต้นที่ 10,000 บาท
  • ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 Single Rate ประกันภัยชั้น 1 สำหรับผู้ขับขี่มือใหม่ ที่ต้องการความคุ้มเป็นพิเศษ มีบริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง ราคาเริ่มต้นที่ 14,000 บาท

5. ทิพยประกันภัย

ภาพจาก : tipinsure.com

ทิพยประกันภัย บริษัทประกันภัยรถยนต์ที่มีอู่ซ่อมและศูนย์ในเครือทั่วประเทศ มีประกันภัยรถยนต์ให้เลือกหลากหลายแผนโดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง Tip Lady ที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้หญิงที่ต้องขับรถคนเดียว

ราคาประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ของทิพยประกันภัยมีให้เลือกหลายแผน โดยจะแบ่งตามลักษณะของการใช้งาน ได้แก่

  • ประกันรถยนต์ชั้น 1 TIP Premium ประกันภัยรถยนต์ที่เหมาะกับคนใช้รถเป็นประจำ ชอบเดินทางไกล หรือมือใหม่หัดขับ ราคาเริ่มต้นที่ 12,000 บาท
  • ประกันรถยนต์ชั้น 1 TIP Premium+ ประกันภัยรถยนต์ที่ให้ความคุ้มครองทุกกรณี พร้อมได้รับเงินชดเชยกรณีเข้าซ่อมไม่ว่าจะเป็นฝ่ายถูกหรือผิด ราคาเริ่มต้นที่ 13,000 บาท
  • ประกันรถยนต์ชั้น 1 Tip Lady ประกันภัยสำหรับผู้หญิงที่ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินส่วนตัว ค่าศัลยกรรมจากอุบัติเหตุ และสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเมื่อเดินทางออกจากบ้านเกิน 100 กม. กรณีรถขัดข้องหรืออุบัติเหตุจนไม่สามารถขับต่อได้ ราคาเริ่มต้นที่ 12,000 บาท
  • ประกันรถยนต์ชั้น 1 Tip Rainbow ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองมากขึ้น เหมาะสำหรับทุกลักษณะการใช้รถ ขับมากขับน้อย ขับเร็วขับช้า มือเก่ามือใหม่ เพิ่มเติมค่าศัลยกรรมสูงสุด 2 ท่าน และ บริการช่วยเหลือฉุกเฉิน 24 ชม. ราคาเริ่มต้น 13,000 บาท 

6. เมืองไทยประกันภัย

ภาพจาก : muangthaiinsurance.com

อีกหนึ่งบริษัทประกันภัยที่หลายคนน่าจะคุ้นหู ซึ่งนอกจากประกันภัยรถยนต์แล้วยังมีประกันภัยชนิดอื่น ๆ ได้แก่ ประกันอุบัติเหตุ ประกันสุขภาพ ประกันการเดินทาง ประกันอัคคีภัยและทรัพย์สิน

ราคาประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ของเมืองไทยประกันภัยมีให้เลือกทั้งแบบซ่อมห้าง ซ่อมอู่ และประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า

  • ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 แบบพันธุ์แกร่ง เหมาะสำหรับรถ SUV และกระบะส่วนบุคคล ให้ความคุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถยนต์ ทั้งรถชน รถหาย ไฟไหม้ น้ำท่วม ภัยธรรมชาติ หรือรถยนต์เสียหายจากอุบัติเหตุ ภัยก่อการร้าย คุ้มครองผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอก เพิ่มความคุ้มครองรับเงินชดเชยเมื่อต้องนำรถเข้าอู่กรณีรถชนรถและเป็นฝ่ายถูก และยังให้ความคุ้มครองทรัพย์สินภายในรถยนต์เมื่อถูกโจรกรรมมีรอยงัดแงะ ราคาเบี้ยเริ่มต้น 15,000 บาท
  • ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 แบบ OK Type1 ประกันภัยรถยนต์แบบซ่อมอู่ คุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถยนต์ ทั้งรถชน รถหาย ไฟไหม้ น้ำท่วม ภัยธรรมชาติ หรือรถยนต์เสียหายจากอุบัติเหตุ ภัยก่อการร้าย คุ้มครองผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และบุคคลภายนอกสูงสุด 1,000,000 บาท ราคาเบี้ยเริ่มต้น 13,500 บาท 
  • ประกันภัยรถยนต์ ชั้น 1 สำหรับรถไฟฟ้า ที่ให้ความคุ้มครองต่อชีวิตและร่างกายของบุคคลภายนอกสูงสุด 10,000,000 บาท รับผิดชอบต่อรถเอาประกันภัย กรณีชนกับยานพาหนะ สูญหาย ไฟไหม้ ตามทุนประกัน พร้อมค่ารักษาพยาบาล 100,000 บาท/คน และยังมีความคุ้มครองหลักทรัพย์ประกันตัวผู้ขับขี่ 300,000 บาท/ครั้ง ครอบคลุมไปถึงภัยก่อการร้าย รวมถึงอุปกรณ์ตกแต่งราคาเบี้ยเริ่มต้น 25,999 บาท

อย่างไรก็ตาม นอกจากบริษัทประกันภัยรถยนต์ที่เรานำมาให้ดูกันแล้วก็ยังมีบริษัทอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น LMG insurance, ไอโออิ กรุงเทพ ประกันภัย, โตเกียวมารีน ประกันภัย และ MSIG ประกันภัย ใครที่กำลังมองหาประกันภัยรถยนต์ สามารถตรวจเช็กเบี้ยประกันหรือรายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติมกับบริษัทประกันภัยได้โดยตรง และควรศึกษาเงื่อนไขรายละเอียดคุ้มครองต่าง ๆ ให้เรียบร้อยจะได้ไม่เสียประโยชน์เมื่อเกิดอุบัติเหตุ

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก : thaisri.comtipinsure.comthanachart-insurance.co.th,
bangkokinsurance.comviriyah.commuangthaiinsurance.commuangthaiinsurance.com

แหล่งอ้างอิง https://car.kapook.com/view255323.html

ขับรถชนของหลวงผิดแค่ไหน ?

ขับรถชนของหลวง ต้องจ่ายค่าชดใช้เป็นเงินกี่บาท และประกันจะช่วยจ่ายหรือไม่ ?

เพราะอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และหากวันหนึ่งคุณดันขับรถแล้วไปชนกับสิ่งของข้างทางที่เป็นของหลวงเสียหายเข้า รู้หรือไม่ว่าต้องจ่ายค่าเสียหายเท่าไหร่ ประกันจะจ่ายไหม ?

 อุบัติเหตุทางรถยนต์ อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อหากประมาท หรือพลาดพลั้ง นำมาซึ่งความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นของส่วนตัวหรือของผู้อื่น รวมถึงทรัพย์สินสาธารณะหรือที่เรียกว่า “ของหลวง” อาทิ เสาไฟฟ้า ต้นไม้ข้างทาง ป้ายจราจร ราวสะพาน และเสาสัญญาณไฟ เป็นต้น และนั่นคือที่มาของคำถามว่า ผู้ที่ขับขี่รถชนจะต้องจ่ายค่าเสียหายเท่าไหร่ และประกันรถยนต์ที่ทำไว้จะรับผิดชอบหรือไม่ วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบกัน

ขับรถชนของหลวง มีความผิดหรือไม่?

เมื่อผู้ใช้รถเกิดประสบอุบัติเหตุขับรถชนจนทำให้ของหลวงเสียหาย ไม่ว่าจะเป็น เสาไฟฟ้า หรือป้ายจราจร จะมีหน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้รับผิดชอบดูแลของหลวงในส่วนนั้น ๆ อาทิ เสาไฟฟ้า อยู่ในความดูแลของหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรการไฟฟ้า หรือป้ายจราจร จะอยู่ในความดูแลของกรมทางหลวง ซึ่งผู้ใช้รถจะต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่หน่วยงานนั้น ๆ

โดยเมื่อหน่วยงานรับเรื่อง ก็จะมีทีมงานส่งไปตรวจสอบความเสียหายโดยรอบ พร้อมคำนวณค่าเสียหาย และค่าแรงสำหรับการซ่อมแซมหรือรื้อถอน จากนั้นจึงส่งเป็นใบแจ้งหนี้ที่ได้คำนวณค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามความเสียหายที่เกิดขึ้น

อีกทั้งยังมีความผิดจากการสร้างความเสียหายสาธารณสมบัติ โดยจะอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา หมวด 7 ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ในมาตรา 360 “ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

ขับรถชนของหลวง เสียค่าปรับเท่าไหร่

อุปกรณ์แต่ละชิ้นจะมีราคาไม่เท่ากัน ซึ่งหากผู้ใช้รถขับรถชน ก็จะต้องมีการจ่ายค่าเสียหายควบคู่กับค่าปรับอื่น ๆ โดยชดใช้ในราคาที่แตกต่างกันตามสภาพความเสียหาย อย่างไรก็ตามราคาทั้งหมดนี้เป็นเพียงการประเมินในเบื้องต้นเท่านั้น เพราะในสถานที่เกิดเหตุจริง อาจมีความเสียหายอื่น ๆ ที่ทำให้ถูกคิดค่าเสียหายเพิ่มเติม รวมทั้งราคาอาจจะมากกว่า – น้อยกว่า ก็ขึ้นอยู่กับหน่วยงานผู้รับผิดชอบแต่ละหน่วยจะเป็นผู้ชี้แจง ว่าของแต่ละชนิดมีค่าเสียหายที่ต้องจ่ายอยู่ที่เท่าไหร่ อาทิ

  • เสาไฟฟ้า เสาไฟ้าถือเป็นทรัพย์สินของหน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรการไฟฟ้าที่ขึ้นอยู่แต่ละพื้นที่โดยจะมีทั้งการไฟฟ้านครหลวงหรือส่วนภูมิภาค หากเกิดการเสียหายจากอุบัติเหตุ จะต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยจะดูจากความสูงของเสา และประเภทกำลังไฟ เช่น เสาไฟฟ้าแรงสูง เสาไฟฟ้าแรงกลาง และเสาไฟฟ้าแรงต่ำ สายไฟ หม้อแปลง หลอดไฟ รวมถึงค่าแรงที่จะต้องรื้อถอน และติดตั้งใหม่ จะมีราคาประมาณ 50,000-150,000 หรือถ้าเป็นเสาไฟไฮแมส หรือ เสาสูง (HIGH MAST POLE) ที่มีขนาดสูงตั้งแต่ 15-30 เมตร จะมีราคาสูงถึง 10,000- 300,000 บาท ทั้งนี้ถ้าหากเสาไฟฟ้าดังกล่าวพ่วงสายโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ตจากเอกชนด้วย ก็จะมีการเพิ่มค่าเสียหายร่วมด้วย 
  • เสาไฟจราจร หากได้รับความเสียหาย จะมีราคาราว ๆ 8,000-15,000 บาท ต่อต้น ตามสภาพความเสียหายและขนาดของเสา
  • ป้ายจราจร ถือเป็นทรัพย์สินที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมทางหลวง ถ้าไปขับรถไปชนจนได้รับความเสียหาย จะมีราคาความเสียหายประมาณ 1,000-3,000 บาท ต่อต้น ตามสภาพความเสียหายและขนาดป้าย
  • แบริเออร์ จะมีราคาราว ๆ 800-1,500 บาท ต่อชิ้น ขึ้นอยู่กับประเภทวัสดุ และจำนวนที่เสียหาย
  • แผงกั้นจราจรแบบเหล็ก หากได้รับความเสียหาย จะมีราคาราว ๆ 1,000-5,000 บาท ต่อแผง ขึ้นอยู่กับขนาด หรือวัสดุ
  • กรวยจราจร จะมีราคาอยู่ที่ 200-800 บาท ต่อชิ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับขนาดของกรวย และจำนวนที่เสียหายทั้งหมด
  • เสาสีส้มล้มลุก หากได้รับความเสียหาย จะมีราคาราว ๆ 500 บาท ต่อต้น
  • ต้นไม้ จะมีสำนักงานเขตแต่ละเขต เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ และมีเทศบาลท้องถิ่นนั้น ๆ หากได้รับความเสียหาย จะขึ้นอยู่ที่เขตและเทศบาลเป็นผู้ประเมินราคา

ขับรถชนของหลวง ประกันรับผิดชอบ และจ่ายชดเชยไหม

อีกหนึ่งข้อสงสัยที่ผู้ใช้รถอยากรู้ก็คือ หากเกิดชนทรัพย์สินของหลวงเสียหาย ประกันจะสามารถจ่าย
ได้หรือไม่ ?

ซึ่งหากผู้ใช้รถทำประกันเอาไว้ บริษัทประกันสามารถเป็นผู้ชดใช้ในส่วนของค่าเสียหายได้ ทั้งเคลมส่วนของรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย และทรัพย์สินราชการภายนอก หรือของหลวงได้ แต่จะขึ้นอยู่กับวงเงิน และเงื่อนไขในกรมธรรม์ที่กำหนด หากเกินกำหนด เจ้าของรถก็จะต้องรับผิดชอบส่วนที่เหลือเพิ่มเติมด้วยด้วยตนเอง โดยประกันแต่ละประเภท จะมีเงื่อนไขคุ้มครองค่าเสียหายจากการชนของหลวงที่แตกต่างกันดังนี้

  • ประกันรถยนต์ชั้น 1 บริษัทประกันต้องเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของค่าเสียหายทั้งหมด ไม่ว่าจะชนอะไรก็ตาม แต่ขึ้นอยู่กับวงเงิน และสัญญาตามกรมธรรม์ที่ระบุในสัญญา หากเกินกำหนดเจ้าของรถก็จะต้องรับผิดชอบส่วนที่เหลือเพิ่มเติมด้วยด้วยตนเอง
  • ประกันรถยนต์ชั้น 2 บริษัทประกันจะรับผิดชอบเพียงบางส่วน โดยเจ้าของรถที่สร้างความเสียหายต้องรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งภายในสัญญาและกรมธรรม์ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าแต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบส่วนไหน

แต่สำหรับผู้ที่ถือประกันรถยนต์ประเภทอื่น ๆ ที่ประกันภัยไม่คุ้มครอง จะต้องรับผิดชอบทั้งหมด หากเกิดความเสียหาย แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าคุณจะมีประกันชั้นไหนก็ตาม ถ้าในกรณีเมาแล้วขับรถไปชนของหลวง จะถือว่าผิดตามสัญญาที่มีไว้ในกรมธรรม์ ทางบริษัทจะไม่รับผิดชอบในทุกกรณี

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูล และราคาคร่าว ๆ ของทรัพย์สินสาธารณะสมบัติบนท้องถนนหรือของหลวง หากเกิดการขับรถชนจนเสียหาย ซึ่งยังไม่รวมถึงค่ารักษาพยาบาล ค่าปรับ และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่จะตามมาเป็นหางว่าวหากเจ้าของรถพลาดพลั้งไปชนเข้าไม่ว่าจะเป็นเหตุสุดวิสัย หรือจงใจก็ตาม

สิ่งสำคัญของการขับรถที่ปลอดภัยคือตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท เมาไม่ขับ และควรมีประกันรถยนต์ติดตัวไว้เพื่อช่วยเหลือในตอนเกิดอุบัติเหตุ ลดภาระค่าใช้จ่าย นอกจากนั้นการขับรถอย่างมีสติ ปฏิบัติตามกฎจราจร จะเป็นการลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อย่างดีที่สุด

ขอบคุณข้อมูลจาก : krisdika.go.thpea.co.thdoh.go.th

แหล่งอ้างอิง https://car.kapook.com/view249226.html

M-folw คืออะไร ?

M-Flow คืออะไร ต่างจาก M-Pass/Easy Pass อย่างไร ? พร้อมเปิดใช้งานเต็มรูปแบบ 4 ด่าน 15 ก.พ. นี้

M-Flow ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น พร้อมใช้งานเต็มรูปแบบ 4 ด่าน ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2565

 หลังกรมทางหลวงได้เปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียนและทดลองใช้ระบบ M-Flow ซึ่งเป็นระบบเก็บค่าผ่านทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือมอเตอร์เวย์ โดยไม่จำเป็นต้องหยุดรถเพื่อจ่ายเงินและไม่มีไม้กั้น เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดหน้าด่านเก็บค่าผ่านทาง และลดการสัมผัสเงิน ตั้งแต่วันที่ 29 ต.ค. 2564 ที่ผ่านมานั้น

 ล่าสุด M-Flow พร้อมใช้งานเต็มรูปแบบแล้ว 4 ด่าน ได้แก่ ด่านธัญบุรี 1, ด่านธัญบุรี 2,  ด่านทับช้าง 1 และ ด่านทับช้าง 2 ตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2565 เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป

ระบบ M-Flow คืออะไร

ระบบ M-Flow คือ ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น ที่ใช้เทคโนโลยี AI และระบบเทคโนโลยี Video Tolling ในการตรวจจับป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ โดยที่ผู้ใช้งานไม่ต้องชะลอความเร็วเมื่อเข้าสู่ด่านจ่ายเงิน สามารถวิ่งผ่านด่านได้ด้วยความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ไม่เกิน 120 กม./ชม.

ผู้ที่ต้องการใช้งานระบบ M-Flow เพียงลงทะเบียนใช้บริการและวิ่งผ่านด่าน ระบบจะบันทึกข้อมูลไว้ โดยเป็นการวิ่งก่อน-จ่ายทีหลัง รองรับการใช้งานกับรถยนต์ทุกประเภทที่ได้รับอนุญาตให้วิ่งบนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหรือทางพิเศษ ทั้งรถยนต์ 4 ล้อ, รถยนต์ 6 ล้อ และรถยนต์มากกว่า 6 ล้อขึ้นไป ชำระค่าธรรมเนียมผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หลังการใช้บริการ หรือระบบ Post Paid ทั้งแบบชำระเป็นรายครั้งหรือชำระตามรอบบิล รวมไปถึงการชำระผ่านเว็บไซต์หรือโมบายแอปพลิเคชันของระบบ M-Flow ตลอดจนการชำระด้วยระบบ QR Code และการชำระผ่านระบบตัดเงินอัตโนมัติ

ระบบ M-Flow สมัครอย่างไร

สำหรับผู้ที่ต้องการสมัครใช้ระบบ M-Flow สามารถลงทะเบียนสมัครได้ง่าย ๆ ผ่าน 3 ช่องทาง ดังนี้

1.เว็บไซต์ : mflowthai.com

2.แอปพลิเคชัน : MFlowThai

3.ไอดีไลน์ : @mflowthai

เอกสารในการลงทะเบียนสมัคร ระบบ M-Flow

  • หมายเลขโทรศัพท์มือถือสำหรับใช้ในการลงทะเบียน
  • ข้อมูลตามบัตรประจำตัวประชาชน
  • บัตรประชาชนและภาพถ่ายคู่กับบัตรประชาชน
  • รายละเอียดที่อยู่ตามทะเบียนบ้านและที่อยู่ปัจจุบัน
  • ข้อมูลรถ
  • ภาพถ่ายคู่มือจดทะเบียนรถหน้าแรก
  • รูปถ่ายรถด้านหน้ารถ (ด้านข้างและด้านหลังรถ ถ้ามี)

โดยให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล ที่อยู่ติดต่อ อีเมล แจ้งหมายเลขทะเบียนรถที่จะนำมาใช้ และยืนยันตัวตนด้วยหมายเลขโทรศัพท์มือถือ พร้อมแจ้งวิธีการชำระเงิน ว่าจะเลือกชำระเป็นรายครั้งหรือชำระตามรอบบิล และให้เลือกรูปแบบชำระเงินที่ต้องการ

ยังไม่ได้เป็นสมาชิก M-Flow สามารถใช้งานได้ไหม ?

หากยังไม่เป็นสมาชิก M-Flow ก็สามารถใช้งานได้ ด้วยการวิ่งก่อนจ่ายทีหลังภายใน 2 วัน แต่ถ้าเนียนไม่จ่ายจะมีการเสียค่าปรับ ดังนี้

  • หากไม่จ่ายภายใน 2 วัน 

ค่าผ่านทางตามจริง+ค่าปรับ 10 เท่า (30+300 = 300 บาท)

  • หากไม่จ่ายภายใน 12 วัน

ค่าผ่านทางตามจริง+ค่าปรับ 10 เท่า+ปรับเพิ่ม (30+300+200 = 530 บาท) และจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ป้ายทะเบียนแบบไหน ห้ามใช้ M-Flow

  • รถยนต์ที่ป้ายทะเบียนซีดจาง, ดัดแปลง, มีสิ่งบดบัง
  • รถยนต์ป้ายแดง
  • รถยนต์ทดสอบก่อนผลิต (TC) และรถยนต์ทดสอบคุณภาพก่อนจำหน่าย (QC)
  • รถยนต์ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน

ระบบ M-Flow ต่างจากระบบ M-Pass/Easy Pass อย่างไร?

ระบบ M-Flow จะมีความต่างจากระบบ M-Pass/Easy Pass ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ดังนี้

ระบบ M-Flow

  • ไม่มีไม้กั้นที่ช่องทางเก็บเงิน
  • ไม่ต้องชะลอความเร็ว ขับรถได้ตามปกติ
  • ใช้เทคโนโลยี Video Tolling ระบบกล้องตรวจจับป้ายทะเบียนอัตโนมัติ
  • ใช้ได้กับรถทุประเภท ที่สามารถวิ่งได้ตามกฎของมอเตอร์เวย์
  • มีรูปแบบและช่องทางชำระเงินที่หลากหลาย วิ่งก่อน จ่ายทีหลัง

ระบบ M-Pass/Easy Pass 

  • มีระบบไม้กั้นที่ช่องทางเก็บเงิน
  • ต้องชะลอความเร็ว หรือจอดรอ และถอยหลัง หากไม้กั้นไม่เปิด
  • ใช้ Tag ติดกับตัวรถเพื่อรับส่งสัญญาณ บางครั้งมีปัญหาไม้กั้นไม่เปิดทำให้รถติด
  • รองรับเฉพาะรถยนต์ 4 ล้อ
  • มีรูปแบบและช่องทางชำระเงินรูปแบบเดียว เติมเงินก่อนล่วงหน้า

ทั้งนี้ M-Flow ถือเป็นระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้นที่สร้างความสะดวกให้กับผู้ใช้ทาง อย่างไรก็ตาม ควรขับขี่ด้วยความไม่ประมาทและปฏิบัติตามกฎจราจร เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเองและผู้อื่น

ขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก mflowthailand

แหล่งอ้างอิง :https://car.kapook.com/view248171.html

จอดรถขวางบ้านบ้านคนอื่น ผิดกฎหมายไหม ?

จอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่น ผิดกฎหมายไหม แจ้งความจับได้หรือเปล่า ? อีกหนึ่งคำถามที่หลายคนสงสัย วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบกัน

การจอดรถขวางหน้าบ้านผู้อื่น ถือเป็นปัญหาที่หลายครั้งนำมาสู่การทะเลาะวิวาท ถึงขนาดขึ้นโรงขึ้นศาล และเป็นเรื่องราวใหญ่โตตามมา จนทำให้หลายคนเกิดข้อสงสัยว่าจริง ๆ แล้วการจอดรถบนถนนขวางบริเวณหน้าบ้านคนอื่นสามารถทำได้หรือไม่ ถ้าจอดไปแล้วเจ้าของบ้านสามารถเอาผิดเจ้าของรถได้หรือเปล่าและผิดกฎหมายข้อไหน

จอดรถขวางหน้าบ้านผิดกฏหมาย อาจโดนทั้งจำทั้งปรับ

หากผู้ใช้รถจอดรถขวางทางเข้า-ออกบ้านของผู้อื่น เจ้าของบ้านที่ถูกรถจอดกีดขวางสามารถแจ้งความเพื่อเอาผิดได้ โดยเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 วรรคสอง ฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญ มีอัตราโทษจำคุก ไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยผู้เสียหายยังสามารถเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง ตามมาตรา 420 และถ้าเป็นที่สาธารณะยังมีโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก เจ้าหน้าที่สามารถออกใบสั่งได้อีกด้วย

ซึ่งตามกฎหมายไทยนั้นได้กำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการจอดรถเอาไว้ชัดเจนแล้วว่า ว่าผู้ขับขี่รถยนต์ไม่มีสิทธิ์จอดรถกีดขวางทางเข้า-ออกบ้านผู้อื่น ไม่ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นพื้นที่เอกชนหรือทางสาธารณะ เพราะถือเป็นความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 55 (6) ที่ระบุไว้ว่า ห้ามมิให้ผู้ขับขี่หยุดรถ

1.ในช่องเดินรถ เว้นแต่หยุดชิดขอบทางด้านซ้ายของทางเดินรถในกรณีที่ไม่มีช่องเดินรถประจำทาง

2.บนทางเท้า

3.บนสะพานหรือในอุโมงค์

4.ในทางร่วมทางแยก

5.ในเขตที่มีเครื่องหมายจราจรห้ามหยุดรถ

6.ตรงปากทางเข้า-ออกของอาคารหรือทางเดินรถ

7.ในเขตปลอดภัย

8.จอดในลักษณะกีดขวางการจราจร

จอดรถอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย ?

เมื่อรู้แล้วว่าการจอดรถขวางหน้าบ้านผู้อื่นผิดกฎหมาย ทั้งกฎหมาย พ.ร.บ.จราจรทางบก และผิดกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งอาจทำให้มีสิทธิ์ติดคุกได้ ดังนั้นก็ควรทำทุกอย่างให้ถูกต้อง โดยเรามีคำแนะนำเกี่ยวกับการจอดรถที่ถูกกฎหมายมาแนะนำ ซึ่งถ้าทำตามนี้รับรองไม่ถูกจับแน่นอน

  • ห้ามจอดรถบนทางเท้า
  • ห้ามจอดรถบนสะพานหรืออุโมงค์
  • ห้ามจอดรถในทางข้าม หรือระยะ 3 เมตร จากทางข้าม หรือทางม้าลายนี่แหละห้ามจอด
  • ห้ามจอดรถในทางร่วมทางแยก หรือในระยะ 10 เมตร จากทางร่วมทางแยก
  • ห้ามจอดรถในเขตที่มีเครื่องหมายจราจร “ห้ามจอดรถ”
  • ห้ามจอดรถในระยะ 3 เมตร จากท่อน้ำดับเพลิง
  • ห้ามจอดรถในระยะ 15 เมตร จากทางรถไฟผ่าน
  • ห้ามจอดรถในระยะ 15 เมตร จากที่ติดตั้งสัญญาณจราจร
  • ห้ามจอดรถซ้อนคันกับรถอื่นที่จอดอยู่ก่อนแล้ว นอกจากทางห้างจะทำช่องพิเศษไว้ให้ และห้ามดึงเบรกมือ
  • ห้ามจอดรถตรงปากทางเข้า-ออกของบ้าน อาคาร ทางเดินรถ หรือในระยะ 5 เมตร จากปากทางเดินรถ
  • ห้ามจอดรถระหว่างเขตปลอดภัยกับขอบทาง หรือในระยะ 10 เมตร นับจากปลายสุดของเขตปลอดภัยทั้งสองข้าง
  • ห้ามจอดรถในที่คับขัน
  • ห้ามจอดรถในระยะ 15 เมตร ก่อนถึงเครื่องหมายหยุดรถประจำทาง และเลยเครื่องหมายไปอีก 3 เมตร
  • ห้ามจอดรถในลักษณะกีดขวางการจราจร ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม
  • ห้ามจอดรถในระยะ 3 เมตร จากตู้ไปรษณีย์

รู้อย่างนี้แล้วผู้ขับขี่ทุกท่านคงต้องระมัดระวังเรื่องการหาที่จอดรถมากขึ้น อย่าเผลอไปจอดขวางทางเข้า-ออกบ้านใครเข้า เพราะอาจถูกแจ้งความได้ แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องจอดขวางจริง ๆ ควรทิ้งเบอร์ติดต่อไว้ที่หน้ารถ เผื่อมีกรณีฉุกเฉิน เจ้าของบ้านจะได้ติดต่อได้สะดวก

ขอบคุณข้อมูลจาก : moj.go.thkrisdika.go.thmoj.go.thtrafficpolice.go.th

แหล่งอ้างอิง : https://car.kapook.com/view247136.html

ทำไมต้องวางพระไว้หน้ารถ ?

วางพระหน้ารถ ควรหันหน้าไปทางไหน หันหน้าเข้าหรือออก

ความเชื่ออย่างหนึ่งที่อยู่คู่กับชาวพุทธโดยเฉพาะคนที่ต้องขับรถเดินทางไปไหนมาไหน มักกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือเพื่อความเป็นสิริมงคลก่อนออกเดินทาง บางคนอาจจะยกมือไหว้แม่ย่านาง บางคนอาจจะมีเครื่องรางของขลังพกติดไว้ในรถ รวมถึงบางคนอาจนำพระมาตั้งหรือวางที่หน้ารถ เพื่อให้ท่านช่วยคุ้มครองระหว่างเดินทางอย่างปลอดภัย

แต่การนำพระมาตั้งบูชาที่หน้ารถนั้น ก็ยังมีคนสงสัยว่าจริง ๆ แล้วเราควรตั้งพระให้หันหน้าไปทางไหนกันแน่ ระหว่างหันไปทางด้านหน้าตัวรถ หรือหันเข้ามาภายในตัวรถ และการนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่น ๆ เข้ามาบูชาในรถควรวางหรือเก็บไว้บริเวณใดไปหาคำตอบกัน

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในรถที่คนนิยมบูชา

1. พระพุทธรูป

ถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนส่วนใหญ่มักจะมีติดรถไว้เป็นอันดับต้น ๆ เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ปกป้อง และคุ้มครองให้เกิดความแคล้วคลาดปลอดภัยตลอดการเดินทาง

2. แม่ย่านาง

เทพเทวดาที่มีความเชื่อว่าเป็นผู้ที่ปกปักรักษา คุ้มครองยานพาหนะต่าง ๆ เช่น เรือ เครื่องบิน และรถยนต์ ซึ่งผู้ที่มีความเชื่อและเคารพบูชามักจะนำพวงมาลัย ผลไม้ หมากพลู ข้าว และน้ำดื่ม มาถวายตามโอกาสเทศกาลต่าง ๆ

3. วัตถุมงคล ของขลังต่าง ๆ

วัตถุมงคลอื่น ๆ นอกเหนือจากพระที่คนนิยมบูชา ได้แก่ กุมารทอง ผ้ายันต์ และสิ่งของอื่น ๆ ตามความเชื่อของแต่ละบุคคล

การตั้งบูชาวัตถุมงคลภายในรถ

หากใครที่เชื่อในหลักของฮวงจุ้ย การตั้งพระหน้ารถนั้นควรตั้งหันหน้าออกไปทางหน้ารถหรือทิศทางเดียวกับคนขับ ตามความเชื่อคือเพื่อเป็นการเสริมดวง ให้พระได้เห็นในทิศทางเดียวกับเราเพื่อเป็นการปกป้อง คุ้มครองจากภัยอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งตามหลักฮวงจุ้ยการตั้งพระหันหน้าเข้ามาในตัวรถอาจทำให้เกิดความขัดแย้งกับคนรอบตัวได้

สำหรับคนที่ไม่เชื่อเรื่องหลักฮวงจุ้ยการตั้งพระให้หันหน้าเข้ามาในตัวรถก็สามารถทำได้ ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะบางคนอาจรู้สึกสบายใจ มีสติตื่นตัว เป็นเครื่องเตือนใจขณะขับขี่เมื่อได้เห็นด้านหน้าขององค์พระ นอกจากนี้ยังมีความเชื่อที่ว่าการไหว้พระเราควรไหว้ต่อหน้าท่าน จึงเป็นเหตุผลหนึ่งในการหันหน้าองค์พระเข้ามาในตัวรถ

ข้อควรระวังในการตั้งพระหรือวัตถุมงคลในรถ

1. เลือกขนาดให้เหมาะสม

หากต้องการที่จะตั้งพระหน้ารถ หรือบูชาวัตุมงคลต่าง ๆ ภายในรถ ควรเลือกขนาดให้เหมาะสม ไม่ใหญ่เกินไปจนบดบังทัศนวิสัยในการมองเห็น เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายขณะขับขี่ได้ 

2. จัดวางในตำแหน่งที่ปลอดภัย

การวางหรือตั้งพระที่หน้ารถนั้นควรวางในตำแหน่งที่ปลอดภัย ไม่ควรตั้งทับบนแอร์แบ๊กหรือถุงลมนิรภัยเพราะหากเกิดอุบัติเหตุ พระที่ตั้งอยู่อาจถูกแรงอัดจากถุงลมนิรภัยกระเด็นมาโดนคนขับหรือผู้โดยสารภายในรถได้ ที่สำคัญควรหาที่ยึด เช่น กาวสองหน้าหรือแผ่นยางกันลื่นมาติดกับองค์พระ เพื่อป้องกันการตกหล่นในขณะที่รถกำลังเคลื่อนที่ หากเป็นแบบแขวนควรเลือกขนาดให้เหมาะสมไม่ใหญ่หรือมีน้ำหนักมากเกินไป เวลารถเลี้ยวจะได้ไม่เหวี่ยงไปกระแทกกับกระจกหน้ารถ

3. ไม่ควรมีจำนวนมากเกินไป

การเชื่อมั่นเคารพบูชาในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เรานับถือนั้นไม่ใช่เรื่องผิด แต่เราไม่ควรนำพระ หรือวัตุมงคลต่าง ๆ เข้ามาไว้ในรถมากจนเกินไป เพราะนอกจากจะทำให้รถดูอึดอัดคับแคบแล้ว ยังเสี่ยงอันตรายหากเกิดอุบัติเหตุ และยิ่งถ้าพระ-วัตถุมงคลต่าง ๆ มีมูลค่าสูง ก็อาจถูกโจรกรรมได้

ทั้งนี้การตั้งบูชาพระหน้ารถ หรือบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ตามความเชื่อนั้นสามารถทำได้ไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว แต่ควรบูชาให้เหมาะสม และที่สำคัญไม่ว่าพระที่เราบูชาจะมีชื่อเสียง หรือบารมีแค่ไหนหากเราขับรถด้วยความประมาท อุบัติเหตุก็สามารถเกิดได้ทุกเมื่อ ดังนั้นควรขับขี่อย่างมีสติ ไม่ประมาท ใช้ความเร็วตามกฎหมายกำหนดก็สามารถช่วยลดอุบัติเหตุได้

แหล่งอ้างอิง : https://car.kapook.com/view250379.html

ไฟหรี่มีไว้ทำไม

หน้าที่หลักของระบบไฟหน้า คือการให้ทัศนวิสัยในการขับขี่ที่ชัดเจนในกรณีที่ภายนอกมีแสงน้อยหรือเข้าสู่ช่วงกลางคืน พร้อมกับแจ้งเตือนทิศทางให้คันข้างหน้าได้ทราบ ซึ่งมีหลายฟังก์ชันให้คุณได้ใช้งานเพื่อช่วยเหลือเจ้าของรถและผู้โดยสารในสถานการณ์ต่าง ๆ และหนึ่งในนั้นคือ ไฟหรี่ ที่หลายคนอาจเคยได้ยิน แต่น้อยคนที่จะใช้งานเป็น ดังนั้นเพื่อเป็นการคลายข้อสงสัยว่า ไฟหรี่รถยนต์ คืออะไร และมีไว้ทำไม เราไปทำความรู้จักพร้อม ๆ กันเลย 

ไฟหรี่รถยนต์ คืออะไร

ไฟหรี่รถยนต์ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Sidelights จะเป็นไฟขนาดเล็กที่อยู่ด้านข้างไฟหน้า โดยหน้าที่ของมันคือการเพิ่มทัศนวิสัยในการมองเห็นพื้นที่ที่มีไฟน้อย แต่ไม่ต้องการใช้แสงที่สว่างมาก เช่น การขับรถในอุโมงค์ หรือการค้นหาที่จอดรถในลานจอดรถ หรือต้องการเปิดไว้เพื่อบอกให้รถคันอื่นทราบว่ามีรถจอดอยู่ เป็นต้น สำหรับไฟหรี่รถยนต์จะต้องใช้ไฟสีขาวหรือสีเหลืองเท่านั้น และต้องเหมือนกันทั้ง 2 ข้าง หากเป็นสีอื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ถือว่าผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ที่มีการแก้ไขดัดแปลงโคมไฟหน้าให้เป็นแสงสีอื่น หรือดัดแปลงอุปกรณ์ส่วนควบเพิ่มเติมส่วนหนึ่งส่วนใดเข้าไป ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท

ไฟหรี่รถยนต์มีประโยชน์อย่างไร

เนื่องจากเป็นไฟที่มีกำลังต่ำ ช่วยควบคุมปริมาณแสงไฟไม่ให้สว่างมากเกินไป ซึ่งทำให้คุณสามารถมองเห็นพื้นที่ระยะใกล้ได้ดีกว่าการใช้ไฟหน้าหรือไฟสูงเพียงอย่างเดียว นอกจากนั้นยังไม่เป็นการรบกวนผู้สัญจรคนอื่น หรือคนในชุมชนที่กำลังพักผ่อนในเวลากลางคืน โดยเฉพาะการเปิดไฟหรี่เพื่อส่องประตูหน้าบ้าน หรือส่องกะระยะจอดรถในที่มืดหรือโรงรถ 

อีกทั้งเมื่อขับรถบนท้องถนนที่มีมากกว่า 2 เลน หากรถคุณไม่มีเทคโนโลยีปรับไฟสูง-ต่ำอัตโนมัติ หรือ Auto High Beam การใช้ไฟหรี่จะช่วยให้ไม่รบกวนรถที่อยู่ด้านหน้า หรือรถที่วิ่งสวนทางมา เนื่องจากให้ความสว่างที่เพียงพอ รวมถึงยังมีประโยชน์ใช้เป็นชุดสำรองเมื่อชุดไฟหลักขาด

ในบางประเทศได้มีการกำหนดเป็นข้อกฎหมายของการเปิดไฟหรี่รถยนต์ อาทิ ในสหราชอาณาจักร ผู้ใช้รถต้องเปิดไฟหรี่เมื่อขับด้วยความเร็วไม่เกิน 30 ไมล์/ชม. หรือราว 48 กม./ชม. หากฝ่าฝืนจะมีความผิดฐานละเมิดระเบียบข้อบังคับด้านแสงสว่างสำหรับยานพาหนะบนถนน ปี 1989 ซึ่งจะต้องเสียค่าปรับตั้งแต่ 35-75 ปอนด์ หรือ 1,500-3,300 บาท

ไฟหรี่รถยนต์ ต่างจากไฟส่องกลางวันอย่างไร

ไฟหรี่จะช่วยเพิ่มระยะการมองเห็น และสามารถมอบทัศนวิสัยในการมองได้ในทุกสภาวะโดยไม่ต้องเปิด-ปิดไฟบ่อย ๆ เช่น เจอฝุ่นควัน หรือเมฆบังแดด แต่อาจจะส่งผลให้ลดอายุขัยของหลอดไฟได้ หรือกินพลังงานจนแบตเตอรี่หมดไว จึงทำให้ผู้ผลิตได้พัฒนาไฟส่องกลางวัน หรือ Daytime Running Light (DRLs) โดยใช้หลอด LED ที่นอกจากช่วยเพิ่มการมองเห็นในการขับขี่เวลากลางวันแล้ว ยังทำให้รถคุณดูดีอีกด้วย ซึ่งความแตกต่างของไฟ Daytime Running Light กับไฟหรี่ นอกจากจะเป็นในส่วนของรูปทรงแล้ว ความสว่างก็ยังแตกต่างกันด้วย โดยไฟ Daytime Running Light จะส่องสว่างมากกว่าไฟหรี่

แม้ในปัจจุบันการพัฒนารถใหม่ได้ให้ความสำคัญแก่ระบบโคมไฟหน้า ไฟตัดหมอก และไฟท้ายที่ทันสมัย ปรับความเข้มของแสงได้หลากหลาย หรือไฟหน้ารถบางรุ่นสามารถทำงานได้หลากรูปแบบตามโหมดระบบส่องสว่าง หรือสามารถหันได้ตามองศาการเลี้ยว แน่นอนว่าก็มีโหมดไฟหรี่รถยนต์ที่ผู้ใช้รถสามารถปรับเลือกได้ หรือหากใครที่ใช้รถรุ่นเก่าที่ไม่มีเทคโนโลยีมากมายนัก การใช้ไฟหรี่ก็เป็นการช่วยอำนวยความสะดวกในระหว่างขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้มองเห็นเส้นทาง และระหว่างจอดรถก็ช่วยสร้างความปลอดภัยได้ในหลากหลายสถานการณ์ อีกทั้งยังจะเป็นไฟสำรองได้ในกรณีที่ไฟหลักของรถขาด 

แต่เหนือสิ่งอื่นใด การศึกษาคู่มือรถยนต์เพื่อให้ได้รู้จักหน้าที่ของระบบไฟแต่ละชนิด และหมั่นใช้งานจริงอย่างสม่ำเสมอ นอกจากจะช่วยเพิ่มความอุ่นใจในการใช้รถใช้ถนนแล้ว ยังทำให้ชีวิตคุณง่ายขึ้นอีกเยอะเลยครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก : autobulbsdirect.co.ukpowerbulbs.comrac.co.ukdlt.go.thkrisdika.go.th

แหล่งอ้างอิง : https://car.kapook.com/view250379.html

ล้างรถอย่างถูกวิธีทำไงนะ

ทุกวันนี้กิจการหนึ่งที่เราเห็นผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ดทุกวันคงไม่พ้นกิจการร้านล้างรถ ที่ทำให้ชาวคนรักรถหลายคนแวะเวียนไปขัดสีฉวีวรรณรถของตัวเอง แต่แม้มันจะง่ายและได้เสียเงินกัน ทว่า บางครั้งเราก็ควรจะล้างรถด้วยตนเองด้วย และมันอาจจะทำให้เราเรียนรู้อะไรบางอย่างเกี่ยวกับรถของเราไปพร้อมกันด้วย
การล้างรถ ฟังดูก็เป็นเรื่องง่ายๆ แค่สายยาง น้ำ และแชมพูก็น่าจะสิ้นเรื่องแล้ว แต่ความจริง การที่ธุรกิจล้างรถผุดขึ้นมานั้น ก็เนื่องจากเรื่องง่ายอาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะเรื่องสำคัญของการล้างรถคือการใส่ใจในรายละเอียด และถ้าวันนี้ใครยังไม่เคยรู้ว่าการล้างรถจริงๆควรจะทำอย่างไร วันนี้เราจะมาเรียนรู้การล้างรถอย่างถูกวิธีกัน

1.ฉีดน้ำมือถู ..เรื่องที่ควรทำก่อนเริ่มกระบวนการ หลายคนที่เคยไปตามร้านล้างรถคงจะพอรู้ขั้นตอนการล้างรถดี แล้วมันก็เริ่มจากการฉีดน้ำลงบนตัวรถ ซึ่งการฉีดน้ำไม่ได้มีเหตุผลในการเตรียมลงน้ำยามแชมพูล้างรถ แต่คือการขจัดคราบดิน ฝุ่น และ สิ่งสกปรกอื่นๆ ออกจากรถก่อนที่จะลงมือปฏิบัติการ ซึ่งตามร้านเหล่านั้นจะมีเครื่องปั้มน้ำแรงดันสูง ทำให้แค่เพียงฉีดคราบสกปรกก็หายไป แต่ถ้าเราที่บ้านน้ำที่ไม่แรงมาก ทำให้เราควรจะใช้มือถูตามไปกับการราดน้ำพร้อมกัน ซึ่งขั้นตอนนี้จะเป็นการขัดฝุ่นและคราบสกปรกก่อน ในส่วนใดที่มีคราบเกาะติดแน่นให้ใช้การฉีดน้ำร่วมแล้วนำมือถูด้วย

2.รู้จักแชมพูที่จะใช้ อันที่จริงถ้ารถคุณไม่ได้สกปรกมาก จากขึ้นตอนแรกจะพบว่า สีรถจะสวยขึ้นมาทันตาเห็น แน่นอนว่าการล้างรถด้วยน้ำเปล่าอย่างเดียวก็สามารถทำให้สะอาดได้ และไม่กินเวลามากนัก แต่อย่าใช้วิธีการนำผ้าชุบน้ำเช็ดรถเด็ดขาดเพราะจะทำให้เกิดรอยขนแมวตามมา (รอยขนแมวคือ รอยขีดข่วนที่เกิดขึ้นบนผิวแลกเกอร์ของตัวรถ ทำให้เป็นรอยเล็กๆเยอะๆ เมื่อส่องไฟ) แม้เราจะบอกว่าน้ำสะอาดก็พอแต่การที่เราจะล้างรถได้หมดจด โดยเฉพาะคราบฝุ่นที่มองไม่เห็นด้วยเปล่านั้น ต้องอาศัย น้ำยาล้างรถ ซึ่งปัจจุบันมี 2 แบบที่นิยมกัน คือ แชมพูและโฟม ซึ่งมีจุดประสงค์เดียวกัน ขจัดคราบเหมือนกัน แต่ต้องเข้าใจก่อน

แชมพู – เชื่อว่าหลายคนคงจะรู้จักแชมพูล้างรถเป็นอย่างดีอยู่แล้ว ยี่ห้อที่หลากหลายออพชั่นที่ผสมแว็กมากมาย สรุปสุดท้ายก็เหมือนกันอยู่ดี คือมันมีหน้าที่ ในการขจัดคราบเป็นสำคัญ แชมพูล้างรถก็ไม่ต่างอะไรจากแชมพูสระผมนัก แต่อย่าเข้าใจผิดว่าใช้แทนกันได้ …นะครับ แชมพูสระผมจะขจัดคราบดีเมื่อเทลงไปบนหัว แต่กลับกันตัวแชมพูล้างรถจะต้องผสมน้ำก่อนในอัตราส่วนที่กำหนดแล้วแต่ยี่ห้อ ซึ่งการใช้งานก็คือจุ่มทั้งฟองและน้ำยาถูไปบนตัวรถเลย สิ่งที่ต่างคือตัวน้ำยาจะมีความลื่นนั่นเอง แต่เหล่าโปรล้างรถบอกว่าแชมพูจะให้รายละเอียดสู้โฟมไม่ได้ แต่ก็พอใช้ได้ถ้าล้างเอง

โฟม – ในช่วงหลายปีมานี้โฟม ถูกพูดถึงมาก เราเห็นร้านล้างรถติดป้ายกันประจำ ทว่าอันที่จริงโฟมนั้น คือฟองที่เกิดจากการใช้หัวเชื้อผสมลงไปแล้ว แล้วนำเอาฟองโฟมมาใช้ในการทำความสะอาดรถ ซึ่งปัจจุบันมีน้ำยาล้างรถบางยี่ห้อทำออกมาในแบบเดียวกัน สำหรับคนที่ชอบล้างรถเอง

การใช้โฟมล้างรถนั้นมีข้อดีที่ฟองโฟมที่มีคุณภาพจะให้เนื้อฟองที่แน่นและละเอียด ทำให้ขจัดคราบได้ดีกว่าแชมพู แต่แน่นอนการใช้โฟมล้างรถ คือการใช้ฟอง ขจัดคราบสกปรกเป็นสำคัญ

3.ถูอย่างระวังเมื่อเลือกน้ำยาล้างรถได้ และจัดการผสมตามสัดส่วนแล้ว ขั้นตอนที่สำคัญต่อมาคือการถูอย่างระมัดระวัง การถูกแชมพูหรือโฟมนั้นต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก และจุดประสงค์มันคือการกระจายน้ำยาให้ทั่วบริเวณ ซึ่งหากเป็นไปได้อาจจะใช้ผ้า หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ให้หาซื้อฟองน้ำอย่างดี ราคาแพงเล็กน้อยแต่ใช้ยาว

หลายคนมักเข้าใจผิดว่าการลงน้ำยาคือการถูเพื่อขจัดคราบสกปรก ทั้งที่จริงๆ เราใช้น้ำยาและน้ำเป็นตัวช่วยขจัดคราบ ซึ่งตรงนี้ไม่ต้องถูแรงมากนัก แค่ถูธรรมดาเท่านั้น และเช่นเดิม ควรเริ่มจากหลังคาก่อน เพราะเป็นจุดสูงที่สุดของตัวรถ จากนั้นไล่ลงมาที่บอดี้ของตัวรถ แล้วค่อยเก็บรายละเอียดเล็กๆที่เหลือ เช่นซอกมุมต่างๆ

4.อย่าทิ้งนาน หลายครั้งที่การล้างรถของเราที่บ้านทำคนเดียว แน่นอนว่ารถ 1 คัน จะลงน้ำยาเสร็จทั้งคันคนเดียวก็ใช้เวลานานอยู่ แต่หากคุณต้องทำคนเดียว ควรจะเลือกลงน้ำยาและล้างไปเป็นส่วนๆ เพื่อลดการที่นำยาจับตัวเป็นคราบแห้ง และ เมื่อล้างไปตามส่วนอื่นๆ อย่าลืมฉีดน้ำในส่วนที่ทำความสะอาดแล้วด้วย เพื่อไม่ให้ก่อตัวเป็นคราบน้ำ ก่อนที่เราจะเช็ดแห้ง

5.เช็ดแห้ง..จุดตกม้าตายของหลายคนมาถึงตรงนี้ในที่สุดเราก็มาถึงขั้นสุดท้ายของการล้างสีรถภายนอกแล้ว หลายคนมักคิดว่าการล้างรถง่ายนิดเดียว แต่ท้ายที่สุดเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเช็ดแห้งคือการชีชะตาผมงานว่าจะออกมาหมู่หรือจ่า กัน

การเช็ดแห้งนั้น ควรใช้ผ้าที่มืเนื้อนุ่มซับน้ำง่าย หากงบน้อยแนะนำผ้าสำลี หรือมีงบเพิ่มขึ้นมาหันไปคบผ้าไมโคไฟเบอร์สังเคราะห์ หรือ ชาร์มัวร์สังเคราะห์ ทว่าก็ต้องมีหลายผืนหน่อยเพราะผ้ามักจะอุ้มน้ำ แต่ถ้าดีที่สุดต้องเป็นผ้าชามัวร์ เนื่องจากสามารถซับน้ำได้ดีเร็ว และ ทำให้ลดเวลาในการเช็ดได้มากและไม่ค่อยเกิดเป็นคราบน้ำ ที่สำคัญควรมีผ้า 2 ผืนเพื่อเช็ด แล้วเช็ดแห้งตามทันที

การเช็ดแห้งควรเริ่มทำทันทีหลังจากล้างคราบน้ำยางล้างรถออก ให้เริ่มจากบนลงล่างเช่นเดิม โดยการเช็ดควรดูเช็ดให้รายละเอียด ให้ใช้เวลานานในการเช็ด ที่สำคัญห้ามลืมในการใส่รายละเอียดตามซอกประตู ฝาถังน้ำมัน ซึ่งน้ำจะเข้าไปซุกและเป็นคราบได้ในท้ายที่สุด

แม้จะเป็นเรื่องที่ฟังแล้วไม่ยากแต่การล้างรถนั้น สิ่งสำคัญคือการใส่ใจในรายละเอียดการล้างรถ ซึ่งการล้างรถที่ดีนั้นต้องใช้เวลากับมันพอสมควร เพื่อขจัดคราบสกปรกได้อย่างหมดจดจริงๆ

ขอบคุณเนื้อหาจาก auto.sanook.com

แหล่งอ้างอิง : https://www.107motor.com/17042227/%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%96%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B0

เมื่อไหร่ควรเปลี่ยนยาง

ยางรถยนต์ไม่ได้หมดอายุจากการสึกของดอกยางเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้ยางหมดอายุได้ โดยแบ่งเป็น 6 ลักษณะ คือ ดอกหมด ไม่เกาะ เนื้อแข็ง โครงสร้างกระด้าง เสียงดัง หรือแก้มบวม ถ้าเกิดขึ้นเพียงลักษณะเดียวหรือควบคู่กัน ก็ถือว่ายางนั้นหมดอายุ การเปลี่ยนยาง ควรเปลี่ยนพร้อมกันทั้ง 4 เส้น เพราะยางผ่านการใช้งานมาเท่ากัน ย่อมมีการสึกหรอและสภาพภายในที่ใกล้เคียงกัน โดยควรเลือกใช้ยางรุ่น และขนาดเดียวกันทั้ง 4 ล้อ
สาเหตุของการหมดอายุของยาง
ดอกหมด – ถ้ายางดอกหมด หรือร่องยางเหลือตื้นมาก แต่ส่วนประกอบของยางเส้นนั้นยังดีอยู่ ก็ยังสามารถใช้บนถนนเรียบ และแห้งได้ และจะเกาะถนนแห้งดีกว่ายางมีดอกที่มีความกว้างเท่ากัน เพราะมีพื้นที่สัมผัสถนนมากกว่า ส่วนร่องยางมีหน้าที่ในการรีดน้ำ ฝุ่น และโคลนเป็นหลัก ยิ่งร่องตื้น หน้าสัมผัสของดอกยางก็ยิ่งมาก เพราะร่องยางส่วนใหญ่เป็นทรงกึ่งตัววี – V แต่รถยนต์ที่ขับใช้งานทั่วไป ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าเมื่อไรจะเจอถนนเปียก เมื่อยางดอกหมดหรือหรือมีความลึกต่ำกว่าที่กำหนด ก็ควรเปลี่ยนชุดใหม่

เนื้อแข็ง – ตามพื้นฐานของผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยาง ที่เมื่อถูกความร้อน (ที่ไม่ร้อนจัดถึงขั้นละลาย) ก็จะค่อย ๆ แข็งขึ้น ยางรถยนต์ส่วนใหญ่ เมื่อใช้งานไประยะหนึ่ง และได้รับความร้อนจากสภาพอากาศ พื้นถนน และการบิดตัวของยางเอง ซึ่งเกิดขึ้นตลอดการหมุน เนื้อยางก็จะแข็งขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเนื้อยางเริ่มแข็งขึ้น การสึกของดอกยางก็จะช้าลง มองดูแล้วเห็นว่าร่องยางยังลึกอยู่ แต่แรงเสียดทานระหว่างดอกยางกับผิวถนนจะมีน้อยลง และโครงสร้างภายในของยางก็เสื่อมสภาพลงด้วย หากเปรียบเทียบอัตราการสึกของดอกยางต่อระยะทาง เมื่อผ่านการใช้งานไปแล้ว แทบไม่มียางรุ่นไหนที่ดอกสึกเร็วขึ้น ส่วนใหญ่มักจะสึกช้าลงหรือแทบไม่สึกเลยเมื่อเนื้อยางแข็งกระด้างเต็มที่ ทดสอบง่าย ๆ โดยใช้เล็บจิกลงบนเนื้อของหน้ายาง เปรียบเทียบกับยางใหม่ ๆ ที่สามารถจิกลงไปในเนื้อยางได้ง่าย และลึกกว่า หากดอกยางยังไม่หมด เฉลี่ยคร่าว ๆ ว่า เมื่อเกิน 3 ปี หรือเกิน 50,000 กิโลเมตร หากต้องการใช้งานต่อ ต้องหมั่นตรวจสอบสภาพอย่างสม่ำเสมอ และควรหลักเลี่ยงยางเก่าเก็บ เพราะจะทำให้ระยะเวลาในการใช้ยางสั้นลงกว่า 3 ปี

เสียงดัง – เป็นผลต่อเนื่องมาจากการแข็งตัวของเนื้อยาง ทำให้ขาดความยืดหยุ่น ลื่น และเกิดเสียงดังขึ้นขณะขับ โดยเฉพาะยางที่มีดอกขนาดใหญ่ และร่องยางห่าง ซึ่งปกติก็มีเสียงดังอยู่แล้ว เมื่อผ่านการใช้งานไปนาน ๆ ก็จะมีเสียงดังมากขึ้น

แก้มบวม – มักเกิดจากการหมดอายุของโครงสร้างภายใน หรือการกระแทกอย่างรุนแรง เช่น การขับตกหลุมหรือเบียดเข้าขอบทางเท้า จนโครงสร้างภายในบริเวณแก้มยางแตกหักเสียหาย บริเวณแก้มยางจะป่องออกมาคล้ายลูกมะนาว ซึ่งมีอันตรายมากอาจถึงขั้นยางระเบิด โดยเฉพาะถ้าเกิดขึ้นบริเวณแก้มยางด้านใน ซึ่งสังเกตได้ยาก


ดังนั้น จึงมีข้อควรจำก็คือ หากตกหลุมหรือกระแทกอะไรแรง ๆ ควรรีบตรวจสอบยางเส้นนั้นอย่างละเอียดทั้ง 2 ด้าน ถ้าพบว่ามีการบวม ควรเปลี่ยนยางเส้นใหม่ทันที

เกร็ดการยืดอายุยาง
1. ตรวจสอบหน้ายางและแก้มยางว่ามีความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้นหรือไม่ เช่น รอยบาด การบวม การแตกลายงาในทุกส่วนของยาง หากเกิดการชนหรือบาดกับของมีคมหรือเศษวัสดุก่อสร้างบนท้องถนนที่แก้มยางจนถึงชั้นผ้าใบ ควรเปลี่ยนใหม่ ไม่ควรซ่อม เพราะแก้มยางคือจุดที่ต้องรับน้ำหนัก และมีการบิดตัวไปมาขณะรถยนต์ขับเคลื่อน อาจเกิดการระเบิดได้หากมีการฉีกขาด

2. น้ำมันทุกชนิดมีผลทำให้ยางบวมหรือร่อน ควรหลีกเลี่ยงการจอดหรือขับทับน้ำมัน หรือหากมีน้ำกรดโดนยาง ควรล้างออกด้วยน้ำสบู่เท่านั้น เพราะมีค่าเป็นด่าง

3. ตรวจสอบสภาพของกระทะล้อ และวาล์วเติมลมเป็นประจำ เพราะบ่อยครั้ง การแบนหรือรั่วซึมมาจาก 2 จุดนี้ ไม่ได้เกิดจากตัวยาง และควรมีฝาปิดจุกเติมลมให้มิดชิด

4. เมื่อรถเสีย และถูกลากเป็นระยะทางไกล ๆ (สำหรับรถขับเคลื่อนล้อหน้า) ควรเพิ่มแรงดันลมยางที่ล้อหลังอีก 3-4 ปอนด์/ตารางนิ้ว

5. การเข้าโค้งอย่างรุนแรง หรือการออกตัวแบบกระชากกระชั้น ทำให้ยางสึกเร็วกว่าปกติ

6. ตรวจสอบความลึกของดอกยางว่าถึงระดับที่ควรเปลี่ยนหรือยัง ซึ่งความลึกของร่องยางที่เหมาะสม ควรมากกว่า 2 มม. โดยยางเกือบทุกรุ่นจะมีสัญลักษณ์บอกระดับความลึกของดอกบาง เป็นแท่งเชื่อมระหว่างดอกยางบริเวณส่วนลึกสุดของร่องยาง (ไม่ใช่ทุกร่อง) เมื่อไรที่ดอกยางสึกจนถึงแท่งนี้ แสดงว่าควรเปลี่ยนยางเส้นใหม่

อย่างไรก็ตาม ควรพิจารณาองค์ประกอบอื่นของยางควบคู่ไปด้วย เช่น สภาพของเนื้อยางมีการบวม หรือแตก เพราะยางบางเส้นอาจหมดอายุการใช้งาน เนื่องจากสภาพของเนื้อยาง แม้ดอกยางยังมีความลึกมากกว่า 2 มม. ก็ตาม

7. ควรแคะก้อนกรวดที่ค้างอยู่ในร่องยางออกให้หมด เพราะสิ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ เบียดลงไปจนทำให้ทิ่มตำเนื้อยางได้

การรับน้ำหนัก และความเร็วของยาง
นอกจากการขับขี่อย่างระมัดระวัง และดูแลรักษาที่ถูกวิธีแล้ว การเลือกยางให้เหมาะสมกับการใช้งาน โดยเฉพาะในเรื่องของน้ำหนักบรรทุก และข้อจำกัดความเร็วของยางแต่ละเส้น ให้เหมาะสม ก็มีส่วนในการยืดอายุการใช้งาน เหนือสิ่งอื่นใด ยังหมายถึงความปลอดภัยของชีวิตด้วย

บนแก้มของยางแต่ละเส้นนั้น จะมีตัวเลข 1 คู่ และตามด้วยตัวอักษร ซึ่งจะบ่งบอกว่า ยางเส้นนี้ รับน้ำหนักบรรทุกสูงสุด และความเร็วสูงสุดได้แค่ไหน ยกตัวอย่าง เช่น 87V ตัวเลข 2 หลักหมายถึง ดัชนีน้ำหนักบรรทุกของยางเส้นนั้น หรือ LOAD INDEX มีหน่วยเป็นกิโลกรัม ซึ่งต้องอาศัยตารางในการเปรียบเทียบ ตัวอักษรภาษาอังกฤษ ตามตัวอย่างก็คือ V เป็นสัญลักษณ์ความเร็ว หรือ SPEED SYMBOL หมายถึ ง ความเร็วสูงสุดที่ยางเส้นนั้นรับได้ มีหน่วยเป็นกิโลเมตร/ชั่วโมง ไม่ควรใช้ความเร็วสูงสุดเกินกว่าที่ยางรับได้ และถ้ายางผ่านการใช้งานมานาน ก็ไม่ควรขับถึงหรือใกล้ความเร็วสูงสุดที่ยางเส้นนั้นรับได้ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุระเบิดได้

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก car4ur.com

แหล่งอ้างอิง : https://www.107motor.com/17012795/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%87

5 อันดับ รถยนต์ขวัญใจรถยก

อันดับที่1 FORD FIESTA
มักเจออาการเครื่องยนต์ร้อน น้ำในหม้อน้ำแห้งไวกว่ารุ่นอื่น มักเจอได้บ่อยๆในรุ่นนี้

อันดับที่2 CHEVROLET CRSUE 1.8
มักเจออาการเกียร์กระตุก ใส่เกียร์เร่งเครื่องไม่ไป จะเจอเฉพาะรุ่นที่เครื่อง 1.8
ด้วยหน้าตาที่สวยดุ ผู้ใช้จึงรับได้กับปัญหา

อันดับที่3 FORD FOCUS
ซีนเกียร์กับซีนท้ายเครื่องมักรั่วบ่อย และยางแท่นเครื่องเสื่อมอายุได้ไวกว่ารุ่นอื่น มักพบอาการเกียร์กระตุก
และเร่งไม่ขึ้น อยู่ในรุ่นนี้บ่อยๆ

อันดับที่4 CHEVROLET CAPTIVA
มักมีอาการเครื่องกระตุก เดินเบาแล้วเครื่องดับบ่อย อัตราเร่งไม่ขึ้น สาเหตุมักมาจากแกนเทอร์โบว์

อันดับที่5  MG ZS
ปัญหาหลักๆ ที่พบบ่อยๆ เครื่องยนต์ดับบ่อยหรือพวงมาลัยล็อคเองบ่อย ด้วยหน้าตาที่สวยกว่าหลายๆรุ่น
ผู้ใช้งานส่วนใหญ่จึงมองข้ามปัญหาไปได้

ออกรถใหม่ทําไมต้องเหยียบมะนาว ช่วยแก้เคล็ดได้จริงหรือ ?

ในการออกรถใหม่นั้น มีพิธีกรรมต่าง ๆ มากมายที่เกิดจากความเชื่อและมีคนปฏิบัติกันมายาวนาน เพราะต่างเชื่อว่าช่วยเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับชีวิต ขับขี่แคล้วคลาดปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการให้พระเจิมรถ การไหว้แม่ย่านางรถ หรือการขับรถเหยียบมะนาว ซึ่งบางคนก็อาจจะสงสัยว่า “การเหยียบมะนาวตอนออกรถใหม่” คืออะไร ต้องทำยังไง และทำไปทำไม วันนี้เรามีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาฝากกัน 

ออกรถใหม่ ทําไมต้องเหยียบมะนาว

ผู้ขับขี่รถยนต์ชาวไทยมีความเชื่อกันมานานว่า การให้ล้อรถเหยียบมะนาวตอนขับรถใหม่ครั้งแรกนั้น ถือเป็นเคล็ดที่จะช่วยให้ล้อรถเกาะติดถนนได้ดีขึ้น ไม่ลื่นไถล สามารถควบคุมรถได้สะดวก ปลอดภัยจากอุบัติเหตุตลอดการเดินทาง นอกจากนี้ในกรณีที่ซื้อรถมือสอง ก็ยังมีความเชื่อว่าการขับรถเหยียบมะนาวจะช่วยดูดซับและชะล้างขจัดสิ่งไม่ดีต่าง ๆ ออกไปไม่ให้ติดมากับตัวรถได้อีกด้วย

ออกรถใหม่เหยียบมะนาว ต้องทำยังไงบ้าง

สำหรับการทำพิธีขับรถเหยียบมะนาวตอนออกรถใหม่นั้น สามารถทำได้ง่าย ๆ เพียงแค่ในวันแรกก่อนขับรถออกจากศูนย์ ให้นำมะนาวมาวางใต้ล้อรถข้างละลูก หรืออาจผ่าเป็นซีกแบ่งวางล้อละซีกก็ได้แล้วแต่ความเชื่อ จากนั้นก็สตาร์ตรถขับเหยียบมะนาวที่วางไว้ให้แตกก็เป็นอันเสร็จพิธี สามารถขับรถออกสู่ถนนได้เลย

คาถาออกรถใหม่ สำหรับไหว้แม่ย่านางรถ

นอกจากการขับรถเหยียบมะนาวเพื่อความเป็นสิริมงคลแล้ว ก็ยังมีสิ่งอื่น ๆ ที่ควรทำเมื่อออกรถใหม่อีก อย่างเช่นการท่องคาถาออกรถใหม่ เพื่อไหว้แม่ย่านางรถ โดยให้นำพวงมาลัย 2 ชาย จำนวน 3 พวง ห้อยหรือแขวนไว้ที่กระจกมองหลัง หรือแขวนไว้ที่พวงมาลัยรถยนต์ เพื่อบูชาแม่ย่านาง แล้วท่องคาถาแคล้วคลาดของ พระครูวิหารกิจจานุการ (ปาน โสนนฺโท) วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา ดังนี้

อิติ สุคะโต อะระหังพุทโธ นะโมพุทธายะ

ปะฐะวีคงคา ภุมมะเทวา ขะมามิหัง

สุจิตโต พุทธัง ธัมมัง สังฆัง

สิ่งอื่น ๆ ตามความเชื่อที่ควรปฏิบัติเมื่อออกรถใหม่

1. ในการออกรถเพื่อให้เป็นมงคลสูงสุด ควรนำรถไปให้พระเจิม ปิดทอง พรมน้ำมนต์

2. ห้ามนำรถเข้าที่เสื่อมในวันแรก อย่างเช่น บาร์ เธค ผับ อาบอบนวด ฯลฯ

3. ทุกครั้งที่จับพวงมาลัย ก่อนจะออกรถควรท่องคาถาว่า สุจิตโต ซึ่งแปลว่า ไปดี

4. อย่าฝ่าฝืนกฎจราจรในการขับรถ และต้องอยู่ในกติกาของจราจร เช่น เมาแล้วห้ามขับ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะขับรถเหยียบมะนาวหรือทำพิธีเพื่อความป็นสิริมงคลใด ๆ แล้ว ก็อย่าลืมขับรถอย่างไม่ประมาทและปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัดกันด้วยนะครับ และสำหรับใครที่อยากรู้ขั้นตอนการไหว้แม่ย่านางรถ สิ่งของที่ต้องใช้ และข้อมูลอื่น ๆ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : ไหว้แม่ย่านางรถ ใช้อะไรบ้าง ใช้ธูปกี่ดอก มีวิธีและขั้นตอนอย่างไร

แหล่งที่มา: เว็บไซต์ car.kapook.com

check-credit