ปัจจุบันรถยนต์ในบ้านเราส่วนใหญ่ใช้ระบบเกียร์อัตโนมัติกันแทบทั้งนั้น เนื่องจากให้ความสะดวกสบายในการขับขี่ท่ามกลางสภาพจราจรอันแสนโหดของเมืองไทย
แม้ว่าปัจจุบันจะมีการพัฒนาระบบเกียร์อัตโนมัติให้มีความทนทานมากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ไม่ว่าจะเป็นเกียร์อัตโนมัติแบบทอร์คคอนเวอร์เตอร์ หรือ CVT ก็ต่างมีอายุการใช้งานของมันทั้งสิ้น แถมค่าอะไหล่ก็มีราคาแพงมหาโหด จนกลายเป็นที่พูดกันว่าหากต้องเปลี่ยนเกียร์ลูกใหม่ เปลี่ยนรถใหม่ไปเลยดีกว่า
ดังนั้น Sanook! Auto จึงขอเผย 5 พฤติกรรมต้องห้ามสำหรับรถยนต์ ‘เกียร์อัตโนมัติ’ ที่จะช่วยบั่นทอนอายุการใช้งานโดยไม่รู้ตัว มีอะไรบ้าง?
1.เร่งเครื่องแล้วจึงใส่เกียร์ D
ใครที่เป็นสายซิ่งอาจทำพฤติกรรมเช่นนี้บ่อย นั่นคือ การเร่งเครื่องยนต์รอ แล้วจึงใส่เกียร์ D เพื่อให้รถพุ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งการกระทำเช่นนี้จะทำให้ชุดเกียร์และเพลาขับเกิดความเสียหายได้ในระยะยาว แม้แต่รถแรงๆ ที่มีระบบ Launch Control ก็ไม่ควรทำบ่อย เพราะเป็นการบั่นทอนอายุการใช้งานของระบบเกียร์อย่างมาก
2.คิกดาวน์บ่อย
การคิกดาวน์คือการเหยียบคันเร่งจมมิด (หรือเกือบจะจมมิด) เพื่อให้เกียร์เปลี่ยนอัตราทดต่ำลง เหมาะสำหรับใช้ในการเร่งแซง แต่การคิกดาวน์บ่อยจะทำให้ชุดเกียร์ต้องรับแรงบิดกะทันหัน นานๆ เข้าจะส่งผลให้อายุการใช้งานเกียร์สั้นลงได้เช่นกัน
ทางที่ดีควรเร่งแซงเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น (เช่น การแซงบนถนนเลนสวน) หากเป็นถนนที่มีหลายเลน ก็ให้ใช้วิธีค่อยๆ เพิ่มความเร็ว จะช่วยยืดอายุการใช้งานชุดเกียร์ได้
3.ปล่อยไหลใส่เกียร์ N
หลายคนที่เคยขับเกียร์ธรรมดามาก่อน อาจเคยชินกับการเข้าเกียร์ว่าง (N) แล้วปล่อยให้รถไหลจนกระทั่งหยุดนิ่ง แต่สำหรับเกียร์อัตโนมัติแล้วถือเป็นพฤติกรรมที่ผิดมหันต์! เนื่องจากชุดเกียร์ประกอบไปด้วยฟันเฟืองที่หมุนขบกันไปมาตลอดเวลา จำเป็นต้องใช้น้ำมันเกียร์ในการหล่อลื่น แต่เมื่อผลักคันเกียร์ไปยังตำแหน่ง N จะทำให้ปั๊มน้ำมันเกียร์ไม่วนขึ้นมาหล่อลื่น ส่งผลให้เกิดความร้อนมากกว่าปกติ และอาจทำให้ฟันเฟืองต่างๆเกิดความเสียหายได้ในระยะยาว
4.ลากรถแบบล้อหมุน
การลากรถเกียร์อัตโนมัติควรยกล้อคู่ที่ใช้สำหรับขับเคลื่อนขึ้นให้ลอยเหนือพื้น เนื่องจากการลากรถส่วนมากมักไม่ติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ จะทำให้ปั๊มน้ำมันเกียร์ไม่ทำงาน ส่งผลให้ชุดเฟืองภายในห้องเกียร์เกิดการเสียดสีรุนแรง และทำให้ความร้อนสูง ซึ่งหากลากเป็นระยะทางยาวๆ รับรองเกียร์กลับบ้านเก่าแน่นอน
แต่หากมีความจำเป็นต้องลากจริงๆ ก็ควรใช้ความเร็วในน้อยที่สุดราว 20-30 กม./ชม. เพื่อไปยังอู่ใกล้เคียง ทั้งนี้ หากเป็นการเข็นรถที่จอดขวางในที่จอดรถถือว่าไม่เป็นไร เพราะเป็นการเข็นด้วยระยะทางสั้นๆ เท่านั้น
สนับสนุนเนื้อหา