การเดินทางสัญจรเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับมนุษย์เพื่อสนองตอบกิจกรรมต่างๆ ตามประสงค์ ในชั้นแรกมนุษย์ได้อาศัยสัตว์ต่างๆ เป็นพาหนะเพื่อผ่อน แรงในการเดินทาง ภายหลังจึงได้ประดิษฐ์พาหนะในรูปแบบต่างๆ เพื่อประสิทธิภาพของการเดินทางและการขนส่งให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งการเดินทางทางบกและทางน้ำ
อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยที่มีคติเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติ โดยเฉพาะ “ขวัญ” ซึ่งเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตล้วนมี “ขวัญ” อยู่ประจำ พาหนะทั้งสัตว์ เกวียน เรือ จึงย่อมต้องมีขวัญประจำอยู่เช่นกัน และการที่มีผู้มาขี่หรือนั่งทับย่อมอาจทำให้ “ขวัญหาย” อันไม่เป็นสิริมงคลต่อสิ่งๆ นั้น และผู้เป็นเจ้าของ เหตุฉะนี้จึงเกิดพิธีกรรมในการ “ขอสมาอภัย” และแสดงความ “ขอบคุณ” แก่สัตว์พาหนะและขวัญที่ประจำอยู่ในพาหนะต่างๆ เป็นประจำทุกปี
การทำขวัญพาหนะดังกล่าวมาข้างต้น ยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีพัฒนาการของพิธีกรรมคู่ขนานไปกับพัฒนาการของพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง ส่งผลให้เกิดความพยายามในการสร้างสรรค์พิธีกรรมให้เข้ากับบริบทสมัยใหม่ เพื่อตอบสนองความคาดหวังของพิธีกรรมเกิดมีมาก
บทความนี้มุ่งนำเสนอให้เป็นพลวัตและพัฒนาการของพิธีกรรมและความเชื่อที่เกี่ยวกับพาหนะในสังคมและวัฒนธรรมไทยที่มีความเปลี่ยนแปลง และอธิบายผนวกกับทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดยจะได้นำเสนอในประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้
คติความเชื่อเกี่ยวกับ “พาหนะ” ในสังคมไทยโบราณ
คนไทยมีคติความเชื่อเกี่ยวกับพาหนะ ตลอดจนสัตว์พาหนะมาแต่โบราณ เนื่องจากเป็นเครื่องนำพามนุษย์สัญจรไปยังที่ต่างๆ อันก่อให้เกิด “ความเสี่ยง” ต่ออุบัติเหตุได้ ดังนั้น การเลือกพาหนะและการบำรุงขวัญหรือ “ทำขวัญ” พาหนะจึงช่วยสร้างพลังและกำลังใจแก่ผู้เป็นเจ้าของ รวมทั้งคนไทยยังเชื่อว่า “ขวัญ” สถิตอยู่ในที่ทุกที่ไม่เว้นแม้แต่สิ่งไม่มีชีวิต
ฉะนั้น เมื่อได้ใช้งานก็ดี หรือเฆี่ยนตีก็ดี เมื่อถึงคราวขวบปี ถือเป็นหน้าที่ของผู้เป็นเจ้าของที่จะแสดงน้ำใจบำรุงขวัญในฐานะที่เป็นนาย ในที่นี้ผู้วิจัยจะขอแบ่งการทำขวัญออกเป็น 2 ประเภท คือ การทำขวัญสัตว์พาหนะและการทำขวัญพาหนะ
พิธีทำขวัญสัตว์พาหนะ เป็นพิธีกรรมเก่าแก่ที่พบในหมู่ชนชาติไทมาแต่โบราณ ทั้งการทำขวัญควาย ที่ใช้ทั้งไถนาและเทียมเกวียนเพื่อขนส่งสินค้าหรือผู้คน การทำขวัญช้างและทำขวัญม้า สัตว์พาหนะของชนชั้นสูง เป็นต้น ขั้นตอนการทำขวัญจะมีผู้เฒ่า หรือเจ้าพิธีเป็นผู้กล่าวบทสู่ขวัญ มีการตั้ง เครื่องบูชาขวัญ และเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาอำนวยพร ยกตัวอย่างในพิธีสู่ขวัญควายมีขั้นตอนสำคัญอยู่ขั้นตอนหนึ่งที่เป็นการบอกรักควาย นั่นคือขั้นตอนที่หมอขวัญเรียกขวัญ
ในบททำขวัญควายจะสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด การดูแลและเห็นใจกัน ความผูกพันระหว่างคนกับควาย รวมถึงการระลึกถึงคุณของควาย ดังในบทสู่ขวัญควายของภาคเหนือ ความตอนหนึ่งดังนี้
…เจ้ากระทำการไถแผ่นดิน อดหิวลำบาก ข้าก็จักแก้เชือก 2 เส้นกันผูกไว้กับเฝือ (คราด) และไถ…เพื่อจักสมนาคารวะตามแต่โทษ เมื่อมีใจกริ้วโกรธกล้าราวี เอาเชือกฟาดตีด่าหย้อ เป็นกำพร้าพ่อหีแม่ เป็นคำเคียดแก่สะหาว หาคำอดคำหยาบบ่ได้ เป็นคำแสบไหม้แกนหูแห่งท่าน ตูข้าทั้งหลายก็หากมีคำอินดู ก็ขอสมมา ขอหื้อท่านลาโทษ ปลดเสียโทสนโทษ ขออย่าเอาคำกริ้วโกรธไว้ในใจ ขออย่าหื้อเป็นกรรมเวรภัยแก่กันไปภายหน้า พระเจ้าหน่อฟ้าตนโปรดโลกหากเทศนาไว้ว่าบ่ควรแท้ดีหลี (ประเพณีสู่ขวัญควายของลานนาไทย, น. 5)
ส่วนในบททำขวัญควายของอีสาน ก็ได้แสดงความรักต่อควายเช่นกัน มีการพรรณนาความตอนหนึ่งเล่าถึงการขอขมาโทษควาย ที่ขณะทำงานไถนา ลูกควายก็มาล้อมหน้าล้อมหลังจะกินนมแม่ควายทำให้แม่ควายลังเลใจและทำงานช้าลง เมื่อเจ้าของเห็นว่าช้าก็ด่าก็ตี ซึ่งอาจทำให้แม่ควายต้องเศร้าเสียน้ำตา จึงต้องมาขอขมาโทษในครั้งนี้
…วันนี้แม่นวันกล้า ข้อยจึ่งสู่ขวัญควายบักคำอี่เผือกตัวบุญมี อี่เขาปีตัวบุญกว้าง แล่นอ่อมอ้อยแอ่วกินนม ทมๆ ใจจักขาด น้ำตาหลากไหลตก เจ้าจึงคนิงในอกในทรวงจักแตกทะลาย อยู่เหิงหลายสวยพองายแดดแก่กล้า เจ้าจึงต่าวหน้าคืน ข้อยจึงมีใจเคียดค้อย ข้อยจึงบายเอาค้อนน้อยๆ…ดีไปไปบ่ดีข้อยจึงได้ด่าไปซ้าข้อยจึงได้ไล่เร็วไว เจ้าจึ่งไปซีชุดเจ้าจึงไปซีขาด ชิดค่าวขาดเซไป ปลดไถเชาข้อยกะได้ดีช้ำ (ประเพณีโบราณไทยอีสาน, น. 307)
ท้ายบททำขวัญมักมีการอำนวยพรแก่ควาย ให้ควายมีอายุยืน แข็งแรง ออกลูกมากๆ และปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง ตลอดจนขอให้ได้เกิดเป็นมนุษย์
ส่วนการทำขวัญช้างนั้น มีทั้งทำในหมู่ควาญช้างในหมู่บ้านเลี้ยงช้าง ควบคู่ไปกับการไหว้ผีปะกำ และมีในหมู่ช้างหลวงด้วย โดยเฉพาะที่เรียกว่าพิธีขึ้นระวางช้างสำคัญ ในพิธีนี้จะมีการอ่านฉันท์ดุษฎีสังเวย กล่อมช้างเพื่อสอนช้างและสร้างความเป็นสิริมงคล แสดงถึงพระราชอำนาจอันเกริกไกร ต่อไปจึงเป็นตอนกล่าวจูงใจช้างให้ละพยศ อย่าเป็นห่วงพ่อแม่ พี่น้อง ลูกหลานที่ยังอยู่ในป่า ขอให้ตั้งใจไปอยู่ในเมืองเป็นราชพาหนะของพระมหากษัตริย์ ให้คิดว่าเป็นเพราะพระพรหมท่านกำหนดมาดังนี้เองเถิด1
ส่วนการทำขวัญพาหนะ ในอดีตสังคมไทยมีพาหนะที่ใช้งานไม่มาก มีเพียงเกวียนและเรือ ส่วนชนชั้นสูงจะมีราชรถและราชยาน พาหนะเหล่านี้มีความจำเป็นในการประกอบอาชีพ การเดินทางมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของคนไทยโดยแบ่งออกเป็นการทำขวัญเกวียน การเดินทางของคนไทยในอดีตมักใช้วัวควายเทียมเกวียนเป็นพาหนะในการเดินทางขนส่งสินค้าและเดินทางสัญจร คนไทยจึงสร้างสรรค์พิธีทำขวัญเกวียนขึ้น เพื่อสร้างสิริมงคลต่อการเดินทาง เป็นการให้ความมั่นใจและปลอดภัยในการเดินทาง ค้าขายร่ำรวยมีโชคลาภ
ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นความกตัญญูรู้คุณต่อสิ่งที่ยังประโยชน์ให้ตน ทั้งยังเชื่อว่าจะทำให้เจ้าของเกวียนประสบแต่ความโชคดี ตัวอย่างบททำขวัญเกวียน สำนวนอีสาน ดังนี้
โอกาสะๆ วาจีดิถีฟ้าปีใหม่ เจ้าผู้ใหญ่ถ่ายราศี พระภูมีสุริเยศ เถิงฤดูเขตเดือนสาม นางโสมงาม เกวียนแก้ว อาบน้ำแล้วจึงลาพร ลมพัดวอนแห้งแล้วเขาจึงเอาภาชนะแก้วเบิกคูณขวัญ มีทั้งพลูพันและหมากจีบ ทั้งผ้าผ่อนและบายศรี มีทั้งหวีและต่างแก้ว งามลวดแล้วกระจกแยง ทั้งของหอมและแป้งป่น งามเลิศล้นปลอกแขน มีทั้งแหวนและสายสร้อย ฝูงตู่ข่อยจึงมาหา มีทั้งคาบบุปผาและดอกไม้เทียน ไต้ใส่ใบพา ทั้งสุราและไก่ต้ม หวานส้มข้าวต้มและเผือกมัน สรรพสรรพ์มีทุกสิ่ง กล้วยอ้อยมิ่งนานามีสู่อันสะพาด เขาจึงไปอาราธนาอาจารย์ผู้ฉลาด ขึ้นนั่งอาสน์คูณขวัญ ว่าศรีๆ สิทธิพระพร เกสรหอมฮ่วงเฮ้า ข้อยจักเชิญขวัญเจ้าเกวียนคำ ทั้งกงกำและดุมแอก ทั้งทวยแปรกและคานหลัง ทั้งประทุมและเชือกอ้องหนังผูกค้างอยู่กัวเกวียน มาเยอขวัญเอย ขวัญเจ้าไปเข็นไม้ในดงเดินยาก ขวัญเจ้าไปลากไม้ดงกว้างกว่าไพร ขวัญเจ้าไปเข็นหญ้าปะป่าฮังไม้แจ่งแห่งขวัญเจ้า ไปรับจ้างขนข้าวใส่ฉาง ขวัญเจ้าไปรับจ้างขนหินขนทรายและดินจี ขวัญอย่าไปอยู่ลี้ในถ้ำเถื่อนแถว ให้เจ้าคืนบ้านสถานเฮาเคยอยู่ อย่าไปแกมหมู่ไม้เป็นเหง้าป่งใบ ขวัญทวกให้มาอยู่ทวกทั้งสอง ขวัญคานให้มาอยู่คานล่างง่าง ขวัญกีบให้มาอยู่กีบเป็นวงขวัญกงกำให้มาอยู่กำนำเสียบ ขวัญแปรกให้มาอยู่แปรกทั้งสอง ขวัญดุมให้มาอยู่ดุมล้องค้อง อย่าได้ต้องพยาธิอันใด มื้อนี้แม่นมื้อดี ข้าจักทำบายศรีเกวียนแก้ว ทำขวัญแล้วให้เจ้าค้ำคูณเฮือน เถิงฤดูเดือนขวบเข้า ให้เจ้าฮักบ่าไว้ยังวัวควาย ให้สุขสบายดีบ่ยาก ทางลำบากให้เจ้าค่อยเพียรรอด หนทางคดเดินยากฮากไม้ใหญ่ตันทาง ฮากไม้บางขวางหน้า เจ้าอย่าได้ล้มหักตะแคง ให้เจ้ามีกำลังแฮงดังราชรถ คันเขาบรรทุกหนักให้เจ้าไปค่อย ฝูงเด็กน้อยเข้ามาขี่นำ เขาบ่ฮู้เกรงยำอย่าได้เคียดค้อย ฝูงเด็กน้อยเจ้าอย่าถือชา คนทั้งหลายเขามาว่าจ้าง ให้เจ้าได้อยู่สร้างหลายปี มีรังสีเฮืองฮุ่ง ฝูงตูข้อยให้อยู่เย็นใจ ความจังไรอย่าได้มาบังเกิด ให้เจ้าประเสริฐดั่งรถเทพอินทา มีกำลังวิชาดังพระสังครีพ ใช้ฮีบได้ดั่งใจหมาย ไชยะตุภะวัง ไชยะมังคะละ มหามงคลฯ2
การทำขวัญเรือ มักพบในหมู่ชาวเรือทั้งที่ทำประมง ใช้เรือเพื่อเดินทางสัญจร ตลอดจนเพื่อใช้ในการแข่งขันตามเทศกาล คนไทยมีความเชื่อว่าเรือทุกลำมีอารักษ์รักษาเรือ คอยปกปักรักษาเรืออยู่ หากคนใดปฏิบัติดีจะมีโชคชัย แต่ถ้าปฏิบัติไม่ดีจะทำให้อารักษ์ประจำเรือหนีหายได้ เจ้าของเรือจึงทำขวัญเรือเพื่อเชิญขวัญเรือปลอบใจ อย่าตกใจกลัวเมื่อเกิดพายุเมื่อเดินทางหรือลงแข่งขัน ตลอดจนดลบันดาลให้ผู้เป็นเจ้าของและผู้โดยสารมีความโชคดีปลอดภัย
ตัวอย่างในพิธีทำขวัญเรือของภาคใต้ มีความเชื่อกันว่าไม้ที่นำมาทำเรือได้แก่ ไม้ตะเคียน ไม้พะยอม ไม้ยูง ไม้ยาง เดิมเป็นที่สถิตของเทพารักษ์และนางไม้ เมื่อไม้ถูกตัดโค่นนำมาทำเป็นเรือ ทำให้เทพารักษ์และนางไม้ตกใจพากันหนีจากไป ดังนั้นก่อนจะนำเรือออกจากท่า เจ้าของเรือต้องหาหมอมาประกอบพิธีทำขวัญเรือ เพื่ออัญเชิญเทพารักษ์และนางไม้มาอยู่ประจำเรือลำนั้น เพื่อช่วยรักษาเรือให้ปลอดภัยในการเดินทาง3
การทำขวัญราชรถ-ราชยาน พิธีเป็นของหลวงเป็นการบูชาเทวดาอารักษ์ที่รักษาราชรถและราชยานที่เป็นพระราชพาหนะ เพื่อเป็นสิริมงคลคุ้มครอง และเป็นการแสดงกตเวทิตาคุณต่อเทวดาอารักษ์ผู้สถิตประจำราชรถและราชยานนั้นๆ ด้วย
อนึ่ง นอกจากการทำขวัญเรือหรือรถแล้ว ในสังคมอีสานยังมีตำราเรียกว่าโสกรถหรือเรือ คือโฉลกรถหรือเรือ ซึ่งเป็นพาหนะจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันของคนใช้เดินทางติดต่อค้าขาย เป็นความปลอดภัยและเป็นโชคชัยในชีวิต ถ้ารถหรือเรือไม่ถูกโสก โบราณท่านว่าจะพาให้พินาศ ท่านจึงแนะนำให้ทำหรือซื้อรถหรือเรือให้ถูกโสก โดยมีวิธีการคือให้เอาเชือกวัดความยาวจากหัวรถหรือเรือจนถึงท้ายรถหรือเรือนั้น แล้วให้เอาเท้าผู้จะทำหรือผู้จะซื้อรถหรือเรือนั้นวัด แล้วว่าโสกวนไปตามลำดับถึงที่ดีแล้วให้เอา (ถ้ายาวไปให้บั่น ถ้าสั้นให้ต่อให้พอดี แต่ส่วนมากเขาใช้วิธีต่อ) ดังนี้4
ความโสกรถหรือเรือ
1. ซื้อถืกขายแพง
2. กินแหนงเพราะความเค้า
3. ขี้ข้าเล่าเกิดเป็นไท
4. หินผาไหลแล่นต้อน
5. ก้อนคำแน่นใส่ถง
6. เทียวขึ้นลงคลาดแคล้ว
7. ไปฮอดแล้วย่อมมาดี
8. เป็นเศรษฐีย่อมพลอยไฮ้
9. นอนตื่นได้ถงค่ำ5
อธิบายความหมาย
ถ้าตก ข้อ 1 ท่านว่า ดีบ่ขาดทุน
ถ้าตก ข้อ 2 ท่านว่า จะมีความขุ่นเคืองระหว่างผู้ซื้อรถเรือกับเจ้าของเดิม
ถ้าตก ข้อ 3, 5 ท่านว่า ดีจะพออยู่พอกิน
ถ้าตก ข้อ 4 ท่านว่า ไม่ดีเกรงจักเกิดอุบัติเหตุ
ถ้าตก ข้อ 6 ท่านว่า จะแคล้วคลาดปลอดภัย
ถ้าตก ข้อ 7 ท่านว่า ดีปานกลางไปเรื่อยๆ ไม่รุ่งไม่โรจน์
ถ้าตก ข้อ 8 ท่านว่า ไม่ดีเลยรถเรือจะพาฉิบหาย
ถ้าตก ข้อ 9 ท่านว่า จะมีโชคเสริมอยู่ตลอด6
อย่างไรก็ดี ความเชื่อเกี่ยวกับการทำขวัญพาหนะต่างๆ นั้นจากการสำรวจพบว่ามีพบในชนชาติอื่นๆ และศาสนาอื่นๆ ด้วย เนื่องจากเป็นความคิดสากล ดังเช่นที่ในญี่ปุ่นประชาชนนิยมให้นักบวชมาเจิมรถเพื่อความเป็นสิริมงคลที่ศาลเจ้า หรือในประเทศต่างๆ ที่ให้นักบวชในลัทธิที่ตนนับถือมาทำพิธี
กระนั้นก็ดี หากพูดถึงรถและเรือแล้ว สิ่งที่สำคัญที่จะละเลยไม่ได้คือความเชื่อเรื่อง “แม่ย่านาง” แม่ย่านางนี้เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นอารักษ์ผู้หญิงที่สถิตอยู่หัวเรือ ชาวเรือนิยมบูชาหัวเรือด้วย ผ้าสามสี เครื่องเซ่น มาลัยต่างๆ และจะไม่ข้ามหัวเรือ เนื่องจากเชื่อกันว่าเป็นที่สถิตของแม่ย่านางเรือ ต่อมา เมื่อสังคมพัฒนาขึ้น มีการนำรถเข้ามาใช้มากขึ้น ความเชื่อเรื่องแม่ย่านางจึงติดตามมาอยู่ที่รถด้วย เนื่องจากถือว่าเป็นอารักษ์ที่ประจำอยู่กับพาหนะ ตำนานความเป็นมาของแม่ย่านางนั้น เสฐียร โกเศศ และนาคะ ประทีป เล่าไว้ในหนังสือแม่ย่านางวรรณคดี และราชาวดี7 ว่าในเรื่องนารายณ์สิบปาง ฉบับคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ (พ.ศ. 2466) มีเรื่องเล่าเป็นตำนานแม่ย่านางไว้มีใจความสรุปได้ว่า เมื่อพระอิศวรและพระแม่อุมาเสด็จประพาสทะเล กุ้งได้ออกมาร้องเรียนว่าตนเองเป็นสัตว์ที่ร่างกายมีแต่เนื้อ เปลือกห่อหุ้มบาง ไม่สามารถป้องกันตัวเองได้ ทำให้ถูกบรรดาสัตว์น้ำอื่นๆ จับกินเสียมาก พระแม่อุมาจึงประทานพรให้กุ้งมีเลื่อยสองคมปลายแหลมอยู่บนหัว มีหอกปลายแหลมอยู่ที่หาง เมื่อสัตว์ใดกินเข้าไปจะได้ใช้หางเจาะออกมาให้เข็ดหลาบ ซึ่งอาหารที่กุ้งสามารถกินเองได้ จะต้องเป็นของที่ตายเน่าเปื่อยเท่านั้น
หลังจากนั้นประชากรกุ้งจึงมีมากจนเสียสมดุล กั้งจึงมาชักชวนผสมพันธุ์แล้วออกอุบายให้กุ้งใช้อาวุธติดตัวเจาะท้องเรือสำเภาให้จม เมื่อจีนคนไหนว่ายน้ำไม่เป็นก็จะจมน้ำตายกลายเป็นอาหาร ส่วนหัวกุ้งแบ่งให้กั้ง ส่วนตัวกุ้งเอาไปกิน ด้วยเหตุนี้เรือสำเภาจึงตกเป็นเป้าและได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก พวกนายสำเภาจึงได้วิงวอนขอให้เจ้าหมาจ่อช่วยบอกกล่าวเทพเจ้าให้มาช่วยเหลือ เจ้าหมาจ่อสงสารชาวเรือ จึงบอกให้นำของมาเซ่นไหว้พลีกรรม ได้แก่ ผ้าแพรสีแดง สีทับทิม สิ่งละ 10 พับ กับดอกไม้ธูปเทียน สำหรับเจ้าที่ เมื่อได้รับของถวายเจ้าหมาจ่อจึงให้นายทหารนำของไปถวายเจ้าทั้ง 8 ทิศ แล้วร่วมปรึกษาหารือกันว่าจะนำความไปกราบทูลพระอิศวรและพระแม่อุมาเทวีให้ตัดสินปัญหา
พระแม่อุมาจึงสั่งให้พระอนันตนาคราชไปปราบกุ้งที่ผิดคำสัตย์และใช้อุบายทำให้มนุษย์เดือดร้อน จากนั้นพระอนันตนาคราชรับโองการ ลงไปถึงพระคงคา กุ้งที่ทำผิดก็ร้อนตัวกลัวจนกระเพาะและของเก่าใหม่ขึ้นมาบนสมอง จากนั้นจึงถูกสาปให้เรือสำเภาน้อยใหญ่ที่พวกตนเจาะให้ล่มเข้าไปอยู่ในแก้มซ้ายขวาถ่วงหัวไม่ให้เงยขึ้นมาเจาะเรือสำเภาได้อีก แล้วพระอนันตนาคราชจึงแต่งตั้งให้เจ้าหมาจ่อเป็น “เจ้ายอดสวรรค์” และสั่งให้จีนเดินสมุทรทั้งหลายนับถือเจ้ายอดสวรรค์ ให้คุ้มครองรักษาเรือสำเภาทุกเที่ยวไปมาจนติดมากระทั่งทุกวันนี้
“เจ้าหมาจ่อ” นี้ เสฐียรโกเศศอธิบายว่ามีพบอยู่ในนิราศพระยามหานุภาพไปเมืองจีน เมื่อครั้งกรุงธนบุรีด้วยความว่า
เย็นเช้าไหว้เจ้าด้วยมาล่อ
พระหมาจอฟังอึงคะนึงเนื่อง
ครั้นค่ำแขวนโคมเคียงเรียงเรือง
ตลอดเบื้องหน้าท้ายที่รายไป
เสฐียรโกเศศอธิบายว่า พระหมาจออาจเป็นเจ้าของฝ่ายจีน มีมาแต่ครั้งเดินเรือสำเภา เมื่อไม่ได้ใช้เรือสำเภาแล้วจึงค่อยเลือนไป อย่างไรก็ดี ในหนังสือนารายณ์สิบปางยังกล่าวว่า เจ้าหมาจ่อมอบให้ทหาร 2 คน ชื่อ เชยหลีหมัก กับซุ้นฟุ้งหงี นำเอาของไปถวายเจ้าทั้ง 8 ทิศ แล้วกำหนดวันเชิญเจ้าทั้ง 8 ทิศมา ณ ศาลเจ้าจับกวยเล่าหวน เพื่อทำคำร้องทุกข์ไปยื่นต่อพระอิศวร เชยหลีหมักมีตาเห็นได้ไกลถึงพันลี้ เป็นเจ้าของชาวจีนแต้จิ๋ว ส่วนซุ้นฟุ้งหงีมีหูได้ยินตามลม เป็นเจ้าของชาวจีนแคะ หรือกวางตุ้ง เจ้าทั้งสองนี้มีปรากฏในวรรณคดีเรื่องห้องสินด้วย
ส่วนเจ้าหมาจ่อนี้ อาจมาจาก “หมาโจ๊บ๊อ” แปลว่า เจ้าแม่ย่าชวด เจ้าหมาจ่อนี้ เสฐียรโกเศศเล่าว่า เมื่อครั้งราชวงศ์ซ้อง นางอาศัยอยู่ที่จังหวัดเฮงฮั้ว บิดามีอาชีพเดินทะเล วันหนึ่งนางทอผ้าจนหลับไป ฝันเห็นพ่อและพี่ชายสองคนอยู่ในเรือคนละลำ เรือถูกพายุใหญ่จวนจะล่ม โดยพยายามเอาปากคาบเรือของบิดา และมือทั้งสองคว้าเรือของพี่ชายทั้ง 2 คนและพยายามลากเข้าฝั่ง ทันใดได้ยินเสียงแม่เรียกให้ตื่น ก็อ้าปากขานรับและตกใจตื่น แต่ก็วิตกว่าความฝันจะเป็นจริง ต่อมาอีกสองสามวันนางได้ข่าวว่าเรือของบิดาและพี่ชายถูกพายุใหญ่ เรือลำของบิดาอับปางลง ส่วนเรือของพี่ชายมีคนช่วยไว้ได้ นางจึงรู้ได้ว่าผู้ที่ช่วยนั้นคือนางเอง แต่เพราะต้องอ้าปากขานรับมารดาจึงไม่สามารถช่วยบิดาไว้ได้ ต่อมาเมื่อนางตายไปแล้วไปเกิดเป็นเจ้าทะเล นามว่า “เจ้าหมาจ่อ” นั่นเอง
นอกจากนี้เสฐียรโกเศศยังกล่าวว่าหนังสือ Schlegal’s Siamese Studies เสนออีกสันนิษฐานหนึ่งว่า คำว่าแม่ย่านางซึ่งเป็นเทพเจ้าประจำเรือนั้นว่ามาจากภาษาจีนว่า “เหย่เหนียง”
คติความเชื่อเกี่ยวกับ “รถ” ในสังคมไทยปัจจุบัน
ปัจจุบันความนิยมในการใช้สัตว์พาหนะและพาหนะบางประเภทลดลง ยานพาหนะสมัยใหม่มีมากขึ้น ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่มีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” และ “แม่ย่านาง” ยังคงมีอยู่และทวีความเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง จากการสำรวจพบว่ามีการสร้างสรรค์วัตถุมงคล เครื่องราง และพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้สามารถแบ่งคติชนที่เป็นผลมาจากความเชื่อเกี่ยวกับรถในสังคมไทยได้ดังนี้
คติชนประเภทความเชื่อคนไทยมีความเชื่อที่สร้างสรรค์ใหม่เกี่ยวกับรถเป็นจำนวนมาก ทั้งความเชื่อที่สร้างสรรค์มาจากคติความเชื่อเดิม และความ เชื่อที่สร้างขึ้นใหม่ คติความเชื่อเหล่านี้ค่อนข้างแพร่หลายและได้รับความนิยมมากในปัจจุบันโดยเผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ผู้วิจัยพบว่ามีกลุ่มความเชื่อหลักที่แบ่งได้ 4 กลุ่ม ดังนี้
1. ความเชื่อเรื่องเลขทะเบียนรถ
ความเชื่อเรื่องตัวเลขกับคนไทยมีมาช้านาน ดังเช่นปรากฏเรื่องเลขมงคลต่างๆ เช่น เลข 9 ที่พ้องเสียงกับคำ “ก้าว” เชื่อมโยงไปสู่คำว่าก้าวหน้า หรือการใช้เลขคู่ในการจัดของหมั้น เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้ชีวิตคู่ ความเชื่อเรื่องการนิมนต์พระจำนวนคู่ในพิธีอวมงคล และนิมนต์พระจำนวนคี่ในงานมงคลจำนวนธูปกับการบ่งบอกสถานภาพหรือลำดับชั้นของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องเลขศาสตร์ในโหราศาสตร์ที่ใช้ในการพยากรณ์เรื่องราวต่างๆ ความเชื่อเรื่องตัวเลขนี้สืบต่อมาถึงปัจจุบันและเชื่อมโยงมาถึงเลขทะเบียนรถด้วย ดังปรากฏว่าในปัจจุบันมีการเปิดประมูลเลขทะเบียนรถมงคล ณ สำนักงานขนส่งประจำจังหวัดต่างๆ จากสื่อประชาสัมพันธ์ข้างต้นจะเห็นว่าการประมูลหมายเลขทะเบียนนั้น ไม่ได้พิจารณาเพียงตัวเลขมงคลเท่านั้น หากแต่ยังพิจารณาหมวดอักษรและมีความพยายามในการเพิ่มคำอธิบายมงคลใส่ในหมวดอักษรนั้นๆ ด้วยเพื่อเพิ่มมูลค่าของหมายเลขทะเบียน ตัวอย่าง หมวดอักษร กง หมายถึง การงานมั่นคง การเงินมั่งคั่ง หมวดอักษร กม หมายถึง กิจการมั่งคั่ง ก้าวหน้ามั่นคง
หมวดอักษร กพ หมายถึง กับบุคคลพิเศษ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีการคำนวณเลขทะเบียนรถด้วยการพิจารณาเลขทะเบียนรถนั้นให้ใช้วิธีบวกเลขทั้งหมดบนแผ่นป้ายทะเบียน แล้วนำผลลัพธ์ที่เป็นทั้งเลข 2 ตัวและเลขตัวเดียวมาใช้กับคำทำนายประกอบกัน เช่น เลขทะเบียนรถ 1 ก 6489 ให้บวกดังนี้ 1 + 6 + 7 + 8 + 9 ได้ผลลัพธ์ 31 ให้นำ 3 + 1 = 4
จากนั้นดูคำทำนายที่เลข 4 และเลข 31 แต่หากทะเบียนรถมีความพิเศษ เช่น เลขซ้ำ ให้ดูคำทำนายตรงๆ ที่คำทำนายด้วย เช่น กข 1123 ให้ดูคำทำนายที่เลข 11 และเลข 7 ด้วย (1 + 1 + 2 + 3 = 7)8
ซึ่งมีความเชื่อว่าดวงชะตาของเจ้าของรถจะเป็นไปตามคำพยากรณ์ แต่พลังแฝงของเลขที่จะส่งอิทธิพลโดยส่วนใหญ่จะอยู่ที่เลขหลักหน่วยและเลขหลักที่ซ้ำในหมายเลขทะเบียนเป็นสำคัญ ในตัวอย่างนี้ให้ดูที่เลข 11 คือเลขซ้ำ เลข 11 จะส่งผลต่อรถคันนี้มาก ส่วนเลขรวมคือเลข 7 จะมีอิทธิพลรองลงมา แต่ถ้าทะเบียนไม่มีเลขซ้ำ เช่น กข 1234 (1 + 2 + 3 + 4 = 10) เลข 10 จะส่งอิทธิพลต่อรถคันนี้มาก
อย่างไรก็ตาม สามารถดูคำทำนายทีละคู่ประกอบกันได้ คือ ดูคำทำนายเลข 12 และดูคำทำนายเลข 349
การคมนาคมระหว่างภาคกลางกับภาคอีสาน ก่อนมีการสร้างทางรถไฟนั้นมีลักษณะทุรกันดาร การเสด็จตรวจราชการของเจ้านายจึงต้องเดินทางด้วยกองคาราวานเกวียน
2. ความเชื่อเรื่องโชคลางและการแก้เคล็ดรถ
ความเชื่อเรื่องการแก้เคล็ดรถเป็นการป้องกัน และปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายออกไปจากรถ ตลอดจนเป็นสัญญาณบอกเหตุให้เกิดความระมัดระวังไม่ประมาท ดังเช่นความเชื่อเรื่องสัตว์วิ่งตัดหน้ารถ 6 รูปแบบ ดังนี้12
สัตว์ตัดหน้า จากซ้ายไปขวา จะมีโชคลาภ
สัตว์ผ่านตัดหน้า จากขวาไปซ้าย ไม่ดีจะมีภัย
สัตว์มาชนรถ จากด้านหน้า ไม่ดี ให้หาที่จอดรถริมทางสักพัก แล้วค่อยเดินทางต่ออีกใน 15-30 นาที
สัตว์มาชนรถ ทางด้านขวา ไม่ดีไม่ร้าย แต่ให้เดินทางช้าลง และเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น
สัตว์มาชนรถทางด้านซ้าย ไม่ดี ให้หยุดพักกราบดิน เพื่อขอขมาและขอพรพระแม่ธรณีก่อนเดินทางต่อไป
สัตว์ชนรถทางด้านหลัง ถือว่าดี ให้เร่งเดินทางจะได้ประสบโชคลาภ
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องการห้อยตุ๊กตาไว้ที่ท่อรถ หรือท้ายรถด้านล่าง ซึ่งมีความเชื่อว่าการห้อยตุ๊กตารูปเด็กหรือรูปคนไว้ที่ท่อรถจะช่วยกันที่ไม่ให้วิญญาณติดไปกับรถ หรือรถมือสองที่ไม่แน่ใจว่าก่อนซื้อรถเคยประสบอุบัติเหตุและเคยลากศพติดมากับรถหรือไม่ การติดตุ๊กตาไว้เชื่อว่าจะช่วยกันพื้นที่ไม่ให้วิญญาณเข้ามาอาศัยอีก ภายหลังการห้อยตุ๊กตาได้คลี่คลายจากรูปเด็กหรือรูปคนเป็นตัวการ์ตูนต่างๆ ด้วย13
3. ความเชื่อเรื่องฤกษ์ยามในการออกรถ
ฤกษ์ยามถือเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของคนไทย เชื่อกันว่าวันและเวลาที่เกี่ยวกับรถจะสัมพันธ์กับดวงชะตาของผู้เป็นเจ้าของ ด้วยเหตุนี้จึงมีความ
เชื่อเรื่องรถกับฤกษ์ยาม ดังนี้
ก. วันมงคลออกรถถูกโฉลกตามวันเกิด14 ดังตัวอย่าง
เกิดวันจันทร์
ออกรถวันอาทิตย์ จะมีอุปสรรค
ออกรถวันจันทร์ เสริมเรื่องเพื่อนพ้อง เสน่ห์
ออกรถวันอังคาร เสริมเรื่องการกินดีอยู่ดี
ออกรถวันพุธ เสริมเรื่องอำนาจบารมี
ออกรถวันพฤหัสบดี เสริมเรื่องทรัพย์สินมีหลักฐานดี
ออกรถวันศุกร์ เสริมเรื่องแรงสนับสนุน ผู้ใหญ่ค้ำจุน มีลาภยศ
ออกรถวันเสาร์ เสริมเรื่องโชคลาภ ความมั่งมี
ศรีสุข
ข. ฤกษ์งาม ยามดี วัน-เวลาสำหรับออกรถ ดังตัวอย่าง
ออกรถวันอาทิตย์เวลานำโชคคือ
1. ช่วงเช้า 6 โมงถึงก่อน 9 โมง
2. ช่วงบ่าย บ่ายโมงครึ่งถึงบ่าย 3
ค. วันดี-ร้าย เกี่ยวกับรถยนต์
วันห้ามซื้อรถ
วันอาทิตย์ เพราะเป็นวันร้อน
วันอังคาร เพราะเป็นวันดุ วันติดขัด
วันพุธ เชื่อว่าจะทำให้ร้อนเงิน
วันพฤหัสบดี เชื่อว่าจะทำให้เหนื่อยๆ วุ่นๆ
วันเสาร์ เชื่อว่าเป็นวันแรง จะมีอุปสรรคมาก
วันพระ เชื่อว่าจะทำให้ป่วย
วันซื้อรถ
วันจันทร์ เป็นวันเสน่ห์ โชคดี
วันศุกร์ เชื่อว่าเสริมเงินทอง โชคลาภ และ
ความราบรื่น
ง. ทิศทางนำโชควันออกรถ
เมื่อจะออกรถในวันแรก ควรขับไปในทิศมงคลเพื่อจะได้มีโชคดีตลอดไป
วันอาทิตย์ ทิศตะวันออกเฉียงใต้
วันจันทร์ ทิศตะวันตก
วันอังคาร ทิศตะวันตกเฉียงใต้
วันพุธ ทิศใต้
วันพฤหัสบดี ทิศเหนือ
วันศุกร์ ทิศตะวันออก
วันเสาร์ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ
4. ความเชื่อเรื่องโฉลกสีรถ
สีมงคล มีอยู่ในคติคนไทยมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ปรากฏอยู่ในสวัสดิรักษา ด้วยเชื่อว่าจะเป็นสิริมงคล โดยสีที่กล่าวถึงในตำราสวัสดิรักษานั้น
กล่าวเฉพาะสีในการนุ่งห่มประจำวัน รวมถึงสีในการออกศึก อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันความเชื่อดังกล่าวได้นำมาประยุกต์ใช้ในการเลือกซื้อรถด้วย
ดังนี้
ก. สีรถต้องกับโฉลกวันเกิด15
การเลือกสีรถ เจ้าของรถอาจเลือกสรรตามความพึงพอใจของตัวเองเป็นสำคัญ หากแต่เชื่อกันว่าสีรถที่ถูกโฉลกกับวันเกิดย่อมจะช่วยเสริมมงคล
โชคลาภได้ คนที่เกิดในแต่ละวันนั้นมีสีสันที่ถูกโฉลกกับวันของตนหลายสี แต่ละสีก็เสริมส่งพลังมงคลในด้านต่างๆ หลายทาง อีกทั้งยังมีบางสีสันที่
เราควรหลีกเลี่ยงด้วย ดังตัวอย่าง
เกิดวันอาทิตย์
สีแดง สีส้ม เสริมด้านบริวาร พวกพ้อง
สีชมพู สีม่วง เสริมบารมี ลาภยศชื่อเสียง
สีเทา สีน้ำตาล เสริมด้านความราบรื่นและแรงสนับสนุน
สีเขียว สีขาว เสริมโชคลาภ เสน่ห์ ปลอดภัย แคล้วคลาด
สีดำ เสริมทรัพย์สิน หลักฐานฐานะ
สีน้ำเงิน ไม่ถูกโฉลก
มองสังคมไทยผ่าน “กราบรถ” และ “คติชนของคนมีรถ”
ความเคลื่อนไหวของ “คติชนของคนมีรถ” อย่างต่อเนื่องดังที่นำเสนอมาแล้วข้างต้น ทำให้มองเห็นความเชื่อมโยงของคนไทยที่มีวิธีคิดแบบกระบวนทัศน์ (Paradigm) และนำภูมิปัญญาดั้งเดิมมาต่อยอด ขณะเดียวกันก็มีความพยายามในการสร้างสรรค์พิธีกรรมขึ้นใหม่ ทั้งเพื่อสนองตอบความเชื่อใหม่และเพื่อธุรกิจความเชื่อที่ทวีความรุ่งเรืองในสังคมไทย โดยผู้วิจัยจะได้อภิปรายในประเด็นเชิงวิเคราะห์สังคมไทยผ่าน “คติชนของคนมีรถ” ดังนี้
กระบวนทัศน์เรื่อง “พาหนะ” กับการดำรงอยู่ของความเชื่อเกี่ยวกับพาหนะในสังคมไทย
ตามที่ผู้วิจัยได้กล่าวไว้ในเบื้องต้นว่า คนไทยมีความคิดเรื่องพาหนะในเชิงกระบวนทัศน์ (Paradigm)กล่าวคือ คนไทยมองว่าการทำขวัญในแบบดั้งเดิม คือ ขวัญเกวียน ขวัญเรือ และขวัญสัตว์พาหนะนั้น อยู่ในกระบวนทัศน์เดียวกันคือ “พาหนะ” ดังนั้น เมื่อสังคมไทยเจริญพัฒนาก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น มีพาหนะแบบใหม่ขึ้น เช่น รถจักรยานยนต์ รถยนต์ เครื่องบิน ฯลฯ ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบกระบวนทัศน์เดิมคือ “ยานพาหนะ” ดังนั้นจึงย่อมสามารถ “หยิบยืม” พิธีกรรมที่เกี่ยวกับพาหนะแบบดั้งเดิมมาประยุกต์ใช้ได้แบบไม่ขัดเขิน
ขณะเดียวกันภายในกระบวนทัศน์นี้ก็ยังมีความเชื่อใหญ่ที่ดำรงอยู่ว่า ยานพาหนะย่อมมี “ขวัญ” หรือ “แม่ย่านาง” สถิตอยู่ ดังนั้นไม่ว่าโลกจะพัฒนาไปไกลเพียงใด หากคนไทยยังคงยึดถือกระบวนทัศน์นี้ พาหนะทุกชนิดทั้งที่เคยมีอยู่ กำลังมีอยู่ และต่อไป จะมีก็ย่อมจะต้องมี “ขวัญ” หรือ “แม่ย่านาง” สถิตอยู่เช่นกัน
นอกจากนี้ผู้วิจัยมีข้อสังเกตว่า ผู้ที่เป็นเจ้าของรถมีการย้ายหรือแปลงรูปความคิด (Transform) จากความเป็น “พาหนะ” ไปสู่ความเป็น “สัตว์เลี้ยง” กล่าวคือ เจ้าของรถมองรถในฐานะสัตว์เลี้ยง ด้วยเหตุนี้ ความเชื่อเรื่องพาหนะจึงไปเชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่องดวงชะตาและโฉลกของเจ้าของกับสัตว์เลี้ยงที่ต้องสัมพันธ์กัน คล้ายกับตำราดูลักษณะสัตว์ ที่สี และลักษณะบางประการ ควรเสริมชะตา และเสริมบารมีแก่ผู้เป็นเจ้าของ อันจะช่วยสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ครอบครอง
การดำรงอยู่ของความเชื่อเรื่องพาหนะในสังคมไทยภายใต้กรอบของกระบวนทัศน์เรื่อง “พาหนะ” เป็นสิ่งที่หยั่งรากฝังลึกในสังคมไทยสืบมาและเชื่อว่าจะยังคงดำรงอยู่และพัฒนารูปแบบขนานไปกับความเจริญทางวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้งเช่นกัน พลวัตและความคิดสร้างสรรค์ของการทำขวัญพาหนะ
ข้อมูลการสำรวจพิธีกรรมเกี่ยวกับรถดังนำเสนอมาก่อนหน้าจะเห็นว่ามีความพยายามในการพัฒนาพิธีทำขวัญพาหนะรูปแบบเดิม ให้เหมาะสมกับ สังคมปัจจุบัน เช่น จากเดิมการทำขวัญพาหนะต้องเชิญหมอขวัญมาทำพิธีแบบผสมสานระหว่างผีและพราหมณ์ ซึ่งหาหมอขวัญยากในสังคมเมืองรวมทั้งยังต้องจัดเครื่องสังเวย เตรียมบายศรี ซึ่งต้องใช้เวลาตระเตรียมและเป็นเรื่องซับซ้อนเกินไปสำหรับคนรุ่นใหม่ จึงมีการปรับรูปแบบพิธีให้กระชับและตอบโจทย์ “ความปลอดภัย” เช่น การให้พระเจิมและรดน้ำมนต์ การไหว้พร้อมกับเทศกาลไหว้ผีบรรพบุรุษ เป็นต้น
ขณะเดียวกันก็มีความพยายามในการสร้างสรรค์พิธีกรรมใหม่โดยเชื่อมโยงกับความเชื่อเรื่อง “แม่ย่านาง” มีการจัดเป็นเทศกาล (Event) เฉพาะ เช่น พิธีปลุกเสกรถยนต์ พิธีเชิญแม่ย่านางสถิต พิธีผูกขวัญแม่ย่านาง เทศกาลเหล่านี้สร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่โดยมีการนำอนุภาค (motif) ของพิธีกรรมต่างๆ มาใช้ในการสร้างสรรค์ใหม่ นอกจากนี้ยังเกิดการออกแบบงานศิลปะต่างๆที่สร้างสรรค์ขึ้นให้สอดคล้องกับรถ เช่น การออกแบบพวงมาลัย ริบบิ้น สำหรับแขวนบูชาแม่ย่านางหน้ารถซึ่งเป็นของที่ออกแบบขึ้นใหม่ แผ่นป้ายสติ๊กเกอร์วงกลมรูปยันต์ โมบายพระเกจิ หรือเทวรูปลอยองค์ใส่กรอบ สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความคิดสร้างสรรค์ในการปรับปรุงรูปแบบ ให้ตอบโจทย์ของ “คนมีรถ” และยังใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งรถที่สวยงาม และกลายเป็นของสะสมอีกด้วย นับเป็นความสร้างสรรค์ที่น่าสนใจ
ธุรกิจความเชื่อที่ตอบสนองความต้องการของ “คนมีรถ”
ในวิทยานิพนธ์ของ ณัฐจรี สุวรรณภัฏ เรื่อง “แท็กซี่” กระบวนการเข้าสู่อาชีพและประสบการณ์ชีวิตประจำวัน สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2545 ศึกษาชีวิตของ “แท็กซี่” หรือคนขับรถโดยสารไม่ประจำทางซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับรถไม่น้อย มองว่าการขับรถโดยสารไม่ประจำทางดังกล่าวในปัจจุบันมีความเสี่ยงสูง กล่าวคือ ความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ ความเสี่ยงจากผู้โดยสาร ความเสี่ยงจากตำรวจ ความเสี่ยงจากการถูกจี้ปล้น ฯลฯ ทั้งนี้ปัญหาความเสี่ยงดังกล่าวค่อนข้างใกล้เคียงกับ “คนใช้รถ” ในปัจจุบันมาก สอดคล้องกับในวิทยานิพนธ์ของสิรินาฏ ศิริสุนทร เรื่องวิถีชีวิตคนขายพวงมาลัย สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2548 ที่ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจการขายพวงมาลัยดำรงอยู่ได้เพราะอาศัยความเชื่อของคนขับรถต่างๆ ที่ต้องการที่พึ่งหรือที่ยึดเหนี่ยวเพื่อให้รอดพ้นจากความเสี่ยงบนท้องถนน
ความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ไม่คาดคิดระหว่างขับรถ หรือความเสี่ยงที่จะถูกขโมยรถ ล้วนเป็นความกังวลและความไม่มั่นคงในจิตใจ จึงทำให้ต้องแสวงหาเครื่องบำรุงขวัญและกำลังใจมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อช่วยในการบริหารความเสี่ยง (Risk management) เป็นเสมือนภูมิคุ้มกันทางจิตใจ จึงเกิดธุรกิจเพื่อตอบสนองความเชื่อและความกังวลของ “คนมีรถ” มีการสร้างวัตถุมงคลและยันต์ต่างๆ
ขณะเดียวกัน เลขทะเบียนสวยก็ถูกทำให้กลายเป็น “สินค้ามีราคา” ที่จะต้องประมูลในราคาสูง นอกจากนี้ยังพบว่าเกิดธุรกิจการเป็น “ที่ปรึกษา” ในการช่วยบริหารความเสี่ยงกับอำนาจเหนือธรรมชาติ สำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาศึกษาตำรา หรือผู้ที่ต้องการความมั่นใจ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดมีซินแสรับดูฮวงจุ้ยรถเกิดขึ้นธุรกิจเกี่ยวกับความเชื่อของคนมีรถนั้น ปัจจุบันมีการสร้างความน่าสนใจหรือการพยายามสร้างส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มเติม โดยการสร้าง และโฆษณาผลิตภัณฑ์ ทั้งวัตถุมงคลและยันต์ ให้เป็นสินค้าความเชื่อที่มีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มเติมนอกเหนือจาก “ความปลอดภัย” ซึ่งเป็นความต้องการเบื้องต้น เช่น ความโชคดี ความร่ำรวย ความมีชื่อเสียง ขณะเดียวกันผู้สร้างเองก็มีความพยายามในการรับประกันหรือควบคุมคุณภาพผลิตภัณฑ์ (Quality Control) โดยการเผยแพร่เรื่องเล่าปาฏิหาริย์จากผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ เช่น การรอดตายจากอุบัติเหตุ การมีชีวิตที่ดีขึ้น หลังจากที่ใช้ผลิตภัณฑ์นี้กับรถ เป็นต้น วิธีคิดของสังคมไทยที่ได้จาก “คติชนของคนมีรถ” ดังที่ได้นำเสนอข้างต้น จะเห็นว่าเป็นผลควบคู่มากับการพัฒนาของยานยนต์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น ความเร็วสูงขึ้น ปริมาณรถบนท้องถนนมากขึ้น อุบัติเหตุจึงย่อมเกิดมีมากขึ้น ความตายเป็นสิ่งที่ใกล้ตัว นอกจากการขับรถถูกกฎขับขี่อย่างปลอดภัยแล้ว การบริหารความเสี่ยงกับอำนาจเหนือธรรมชาติก็เป็นเรื่องจำเป็น ถือเป็นความไม่ประมาทอย่างหนึ่งตามวิธีคิดแบบไทยเช่นกัน
ความส่งท้าย
ความเชื่อเกี่ยวกับรถ (Automobile folklore) มิได้มีเพียงในประเทศไทยเท่านั้น ยังพบบ้างในต่างประเทศ เช่น โบลิเวีย จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ หากแต่ไม่โดดเด่นเท่ากับประเทศไทย คติชนของคนมีรถในประเทศไทยแสดงให้เห็นอัตลักษณ์ของสังคมไทยที่เน้นบริหารความเสี่ยงของชีวิตควบคู่ไปทั้ง “โลกสามัญ” และ “โลกศักดิ์สิทธิ์” ผ่านความเชื่อเหนือธรรมชาติ ดังที่เคยมีอาจารย์และช่างภาพชาวต่างประเทศให้ความสนใจ คือ เดล คอนสแตนซ์ (Dale Konstanz) และจัดนิทรรศการภาพถ่ายในหัวข้อ “เครื่องรางในรถแท็กซี่ไทย” ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ. 2557
ยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับคติชนของคนมีรถ ที่เป็นการเจาะลงไปอีกคือ คติชนของคนขับรถแท็กซี่ ที่เป็นความเชื่อเกี่ยวกับรถและเป็นความเชื่อเฉพาะกลุ่มคนขับรถแท็กซี่ ซึ่งมีความน่าสนใจมาก เพราะรถไม่ได้เป็นเพียงพาหนะ แต่กลายเป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพ จึงทำให้มีการใช้วัตถุมงคลที่สัมพันธ์กับมิติการค้าด้วย เช่น นิยมแขวนลอบไซขนาดเล็กที่กระจกหน้า เพื่อหวังอำนาจเหนือธรรมชาติให้มีลูกค้า การบูชาชูชก เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่า เมื่อออกมาให้บริการในแต่ละวันหากผู้โดยสารคนแรกว่าจ้างให้ไปที่ใดต้องไป ไม่เช่นนั้นวันนั้นทั้งวันจะไม่มีผู้โดยสารหรือดวงไม่ดี หรือหากผู้โดยสายคนแรกของวันว่าจ้างให้ไปในระยะทางไกล เชื่อว่าเป็นลางบอกเหตุว่าวันนั้นจะโชคดีมีผู้โดยสารมาก เป็นต้น
“คติชนของคนมีรถ” เป็นตัวอย่างหนึ่งของการศึกษาคติชนสังคมเมือง (Urban Folklore) ที่ทำให้เห็นว่าคติชนยังดำรงอยู่ทั้งในสังคมชนบทและสังคมเมือง เป็นเรื่องที่มีอยู่รอบตัวเรา เมื่อสังคมพัฒนาก้าวหน้าไป คติชนก็มีการปรับแปลงให้สอดรับกับสังคมที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน หากเราทำความเข้าใจถึงปรากฏการณ์และรู้เท่าทันจะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้เป็นทิศทาง หรือกลยุทธ์ในการพัฒนา หรือแก้ไขปัญหาสังคมได้อย่างยั่งยืนต่อไปในกรอบวิถีแบบไทย
หมายเหตุ: คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “‘กราบรถ’ : หลักฐานทางคติชนว่าด้วยการ ‘กราบรถ’ ในวัฒนธรรมไทย” โดย อภิลักษณ์ เกษมผลกูล จาก ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ พฤศจิกายน พ.ศ. 2560
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2562
เชิงอรรถ
1 กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. ประชุมคำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง. (กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, 2533), น. 79.
2 จ.เปรียญ. ตำราสูตรขวัญโบราณต่างๆ. (กรุงเทพฯ : อำนวยสาส์นการพิมพ์, ม.ป.ป.), น. 198-197.
3 พ่วง บุษรารัตน์. “ทำขวัญเรือ,” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้ เล่มที่ 7. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย, 2542), น. 3340.
4 สวิง บุญเจิม. ตำรามรดกอีสาน. (อุบลราชธานี : มรดกอีสาน, 2554), น. 717.
5 เรื่องเดียวกัน, น. 717.
6 เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
7 เสฐียรโกเศศ และนาคะประทีป. แม่ย่านาง วรรณคดีและราชาวดี. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ อำมาตย์โท พระอุปกรศิลปศาสตร์ (เจริญ
อากาศวรรธนะ) ณ วัดจักรวรรดิ์ราชาวาส วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481. น.1-15.
8 ชารีฟ วนปาล. รถโชคดี รถโชคร้าย ทำนายจากทะเบียนรถ. (กรุงเทพฯ : ไพลิน, 2548), น. 9-10.
9 เรื่องเดียวกัน, น.10-11.
10 เรื่องเดียวกัน, น.13.
11 เรื่องเดียวกัน, น. 20.
12 “6 วิธี แก้เคล็ด สัตว์วิ่งตัดหน้ารถ! ที่คุณอาจไม่เคยรู้มาก่อน” เข้าถึงเมื่อ 15 เมษายน 2559. เข้าถึงได้จาก Horoscope.mthai.com
13 “บทสรุปการห้อยตุ๊กตาท้ายรถ” เข้าถึงเมื่อ 3 มกราคม 2559 เข้าถึงได้จาก http://2g.pantip.com/cafe/ratchada/topic/V5296659/V5296659.html
14 ชารีฟ วนปาล. รถโชคดี รถโชคร้าย ทำนายจากทะเบียนรถ. น. 94.
15 เรื่องเดียวกัน, น. 105.
16 เรื่องเดียวกัน, น. 90.
17 คาถาป้องกันภัยเมื่อเดินทาง เข้าถึงเมื่อ 3 มีนาคม 2559 เข้าถึงจาก http://www.mhodoo.com/khata_view.php?id=116
18 คาถาป้องกันภัยเมื่อเดินทาง เข้าถึงเมื่อ 3 มีนาคม 2559 เข้าถึงจาก http://www.buddha-dhamma.com/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&No=1173215
บรรณานุกรม
กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. ประชุมคำฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้าง. กรุงเทพฯ : คุรุสภาลาดพร้าว, 2533.
จ.เปรียญ. ตำราสูตรขวัญโบราณต่างๆ. กรุงเทพฯ : อำนวยสาส์นการพิมพ์, ม.ป.ป.
ชารีฟ วนปาล. รถโชคดี รถโชคร้าย ทำนายจากทะเบียนรถ. กรุงเทพฯ : ไพลิน, 2548.
ณัฐจรี สุวรรณภัฏ. “แท็กซี่” : กระบวนการเข้าสู่อาชีพและประสบการณ์ชีวิตประจำวัน. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545.
ประชุมเชิญขวัญ, พิมพ์ครั้งที่ 9. กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2556.
พ่วง บุษรารัตน์. “ทำขวัญเรือ,” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ เล่มที่ 7. กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย, 2542.
ส. พลายน้อย. เกิดในเรือ บันทึกความทรงจำของ ส. พลายน้อย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552.
สวิง บุญเจิม. ตำรามรดกอีสาน. อุบลราชธานี : มรดกอีสาน, 2554.
สิรินาฏ ศิริสุนทร. วิถีชีวิตคนขายพวงมาลัย. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขามานุษยวิทยาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548.
เสฐียรโกเศศ และนาคะประทีป. แม่ย่านาง วรรณคดี และราชาวดี. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพอำมาตย์โท พระอุปกรศิลปศาสตร์ (เจริญ อากาศวรรธนะ) ณ วัดจักรวรรดิ์ราชาวาส วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481.
อภิลักษณ์ เกษมผลกูล. “เมื่อคน ‘บอกรัก’ ควาย : วาเลนไทน์ของควายกับคน,” ใน ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 28 ฉบับที่ 4 (กุมภาพันธ์ 2550), น. 28-32
แหล่งที่มา: เว็บไซต์ silpa-mag.com