การโอนรถ เป็นการเปลี่ยนชื่อเจ้าของรถยนต์คนเดิมมาเป็นชื่อเจ้าของใหม่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในกรณีที่ต้องการซื้อ-ขายรถยนต์ การส่งต่อรถยนต์ เช่น การส่งต่อรถยนต์ให้คนในครอบครัว บุคคลใกล้ชิด หรืออื่น ๆ การดำเนินการมีความสำคัญอย่างมากโดยเฉพาะการดำเนินคดีในทางกฎหมาย กรณีที่ขายรถยนต์ให้กับเจ้าของใหม่หรือมีการส่งต่อรถยนต์เรียบร้อยแล้ว แต่ไม่ได้มีการโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของ เมื่อเกิดอุบัติเหตุที่เป็นฝ่ายผิด หรือเกี่ยวข้องกับการใช้งานในเชิงที่ผิดกฎหมาย คนที่ถูกดำเนินคดีคือตัวเจ้าของรถเอง
ดังนั้นไม่ว่าคุณจะตัดสินใจซื้อ-ขาย หรือส่งต่อรถยนต์ให้ใครก็ตาม เมื่อตกลงรายละเอียดกันเรียบร้อยแล้ว แนะนำให้โอนรถเป็นชื่อของผู้ซื้อให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อป้องกันปัญหาอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาในอนาคต
โอนกรรมสิทธิ์รถมีกี่แบบ โอนยังไงได้บ้าง?
การโอนรถยนต์หรือโอนกรรมสิทธิ์ สามารถเลือกได้ 2 แบบ คือ โอนตรงและโอนลอย โดยมีขั้นตอนการดำเนินการที่แตกต่างกันดังนี้
1. การโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของแบบ “โอนตรง”
การโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของแบบโอนตรง สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการที่เจ้าของเก่าและเจ้าของใหม่เดินทางไปติดต่อทำเรื่องขอโอนรถกับนายทะเบียนที่สำนักงานขนส่ง ประเด็นสำคัญคือรถยนต์คันที่ต้องการโอนเปลี่ยนเจ้าของจะต้องมีสภาพตรงกับข้อมูลในใบคู่มือจดทะเบียนรถ
กรณีที่ข้อมูลไม่ตรง จำเป็นจะต้องกลับไปทำการแก้ไขข้อมูลเพิ่มเติมให้ตรงกับสภาพจริงก่อน เว้นแต่กรณีที่ต้องการโอนเปลี่ยนเจ้าของจากผู้ให้เช่าไปยังผู้เช่าซื้อ เป็นผู้ครอบครองรถตามรายการจดทะเบียน พูดง่าย ๆ ว่าไม่จำเป็นต้องนำรถไปตรวจสภาพก่อน
2. การโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของแบบ “โอนลอย”
การโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของ โอนลอย เป็นการโอนรถโดยเจ้าของเดิม (ผู้ขายรถ) ทำการมอบเอกสารให้กับเจ้าของคนใหม่ (ผู้ซื้อ) ไปดำเนินการเองหลังจากจบการซื้อ-ขาย ผู้ขายจะต้องทำการเซ็นชื่อกำกับไว้ที่เอกสารให้ครบ การโอนลอยรถถือเป็นการโอนรถที่ได้รับ
ความนิยมมากโดยเฉพาะในแวดวงเต็นท์รถมือสอง เนื่องจากช่วยให้ประหยัดเวลาในการดำเนินการของผู้ขาย
แต่เหรียญมีสองด้านเสมอ เพราะการโอนแบบนี้มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน เพราะถ้าหากรถยนต์คันดังกล่าวไปทำเรื่องผิดกฎหมาย ในขณะที่ยังไม่ได้ดำเนินการโอนรถให้เสร็จเรียบร้อย เจ้าของเดิมจะต้องเป็นผู้รับผิดทางกฎหมายนั่นเอง
การโอนรถใช้เอกสารอะไรบ้าง?
อย่างที่บอกไปแล้วว่าการโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของ สามารถโอนให้กับบุคคลได้หลากหลาย ดังนั้นเอกสารที่จำเป็นต้องใช้จะมีความแตกต่างกันออกไป โดยแบ่งออกเป็น 3 กรณี ดังนี้
เอกสารโอนรถแบบโอนตรง
- ใบคู่มือจดทะเบียนรถ หรือสมุดทะเบียนรถยนต์ฉบับจริง
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของรถยนต์คนเก่า และเจ้าของรถยนต์คนใหม่
- สัญญาการซื้อขาย ใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี
- แบบคำขอโอนและรับโอน ที่มีลายมือชื่อผู้โอนเจ้าของรถเก่า และผู้รับโอนเจ้าของรถใหม่เรียบร้อยแล้ว
เอกสารการโอนรถให้ญาติหรือผู้รับมรดก
- ใบคู่มือจดทะเบียนรถหรือสมุดทะเบียนรถยนต์ฉบับจริง
- แบบคำขอโอนและรับโอน ที่มีลายมือชื่อผู้โอนเจ้าของรถเก่า และผู้รับโอนเจ้าของรถใหม่เรียบร้อยแล้ว
- สัญญาซื้อขาย ใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี
- สำเนาใบมรณบัตรเจ้าของรถ (กรณีเจ้าของเดิมเสียชีวิต) และคำสั่งศาลหรือพินัยกรรม พร้อมสำเนาที่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของ
- หนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ (ผู้ขายที่เป็นเจ้าของเดิม) และของผู้รับมอบอำนาจ (ผู้ซื้อที่เป็นเจ้าของใหม่)
เอกสารโอนรถแบบโอนลอย
- ใบคู่มือจดทะเบียนรถ หรือสมุดทะเบียนรถยนต์ฉบับจริง
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของรถยนต์คนเก่า และเจ้าของรถยนต์คนใหม่
- สัญญาการซื้อขาย ใบเสร็จรับเงิน และใบกำกับภาษี
- แบบคำขอโอนและรับโอน ที่มีลายมือชื่อผู้โอนเจ้าของรถเก่า และผู้รับโอนเจ้าของรถใหม่เรียบร้อยแล้ว
- หนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบ (ผู้ซื้อที่เป็นเจ้าของใหม่)
ขั้นตอนการโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของ ใช้เวลานานมั้ย?
สำหรับการโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของมีขั้นตอนการดำเนินการที่ง่ายมาก แถมยังใช้เวลาไม่นานอีกด้วย สามารถเลือกไปดำเนินการได้ที่สำนักงานขนส่ง ดังนี้
- สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานคร หากรถยนต์คันที่ต้องการโอนเปลี่ยนเจ้าของมีทะเบียนที่กรุงเทพฯ หรืออยู่ที่กรุงเทพฯ สามารถเข้าไปดำเนินการที่สำนักงานขนส่งกรุงเทพมหานครได้เลย
- สำนักงานขนส่งจังหวัด หากตัวเจ้าของรถและรถยนต์อยู่ต่างจังหวัดที่ไม่ใช่กรุงเทพฯ สามารถเลือกเข้าไปดำเนินการยังสำนักงานขนส่งประจำจังหวัดที่อาศัยได้เช่นกัน
- สำนักงานขนส่งจังหวัด ที่มีระบุในคู่มือจดทะเบียนรถ หากมีความสะดวกในการเดินทาง สามารถเลือกดำเนินการที่สำนักงานขนส่งที่ระบุไว้ในใบคู่มือหรือที่มีการขอแจ้งใช้รถไว้ก็ได้ด้วยเช่นกัน
ขั้นตอนโอนกรรมสิทธิ์รถ
- เดินทางไปยังสำนักงานขนส่งที่สะดวก พร้อมกับนำรถยนต์ที่ต้องการโอนเปลี่ยนเจ้าของ เข้ารับการตรวจสภาพรถได้ที่สถานตรวจสภาพรถ หรืออาคารตรวจสภาพรถ ที่สำนักงานขนส่งนั้น ๆ
- ติดต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อดำเนินการยื่นเรื่องโอนเปลี่ยนเจ้าของรถยนต์ พร้อมกับแนบเอกสารประกอบ และชำระค่าธรรมเนียม
- หลังจากดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ให้รอรับเอกสารใบคู่มือจดทะเบียนรถคืน พร้อมกับรับใบเสร็จรับเงิน เครื่องหมายการเสียภาษี และแผ่นป้ายทะเบียนรถ
สำหรับระยะเวลาในการรอเล่มตามปกติแล้วจะใช้เวลา 15 วันทำการ หลังจากที่ทำการยื่นเรื่องโอนรถเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะต้องทำการแจ้งนายทะเบียนภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่โอน หากไม่ดำเนินการให้เสร็จสิ้นจะมีโทษปรับสูงสุด 2,000 บาท
ขั้นตอนการโอนประกันรถยนต์
หลังจากดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์เรียบร้อยแล้ว อย่าลืมโอนประกันรถยนต์เพื่อให้รถคันที่เปลี่ยนเจ้าของได้รับความคุ้มครองดังเดิม ซึ่งมีรูปแบบการโอน 2 กรณีคือ การโอนประกันรถยนต์แบบไม่ระบุผู้ขับขี่ และการโอนประกันรถยนต์แบบระบุผู้ขับขี่ โดยมีเอกสารที่จำเป็นต้องเตรียม ดังนี้
1. การโอนประกันรถยนต์ที่ไม่ระบุผู้ขับขี่
กรณีประกันรถยนต์ที่เจ้าของรถคนเดิมทำเอาไว้แล้วไม่ได้ระบุชื่อคนขับ ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยชั้นไหนก็ตาม เจ้าของใหม่สามารถใช้กรมธรรม์นั้นต่อได้เลย รวมถึงยังจะได้รับความคุ้มครองจนกว่าประกันจะหมดอายุ แต่ถึงอย่างนั้นควรแจ้งเปลี่ยนกับทางบริษัทประกันให้เรียบร้อย พร้อมกับเตรียมเอกสารดังนี้
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของเดิม ที่มีการเซ็นยินยอมให้โอนประกันภัยแก่เจ้าของคนใหม่
- ใบซื้อ-ขายที่เป็นหลักฐานการซื้อ-ขายรถยนต์ เพื่อแจ้งเปลี่ยนชื่อผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของใหม่
2. การโอนประกันรถยนต์ที่ระบุผู้ขับขี่
กรณีที่เป็นประกันรถยนต์แบบระบุผู้ขับขี่ จะต้องมีการแจ้งเปลี่ยนชื่อผู้ขับขี่ เพื่อให้บริษัทประกันปรับปรุงอัตราค่าเบี้ยประกันตามคุณสมบัติของเจ้าของรถคนใหม่ หากไม่ดำเนินการแจ้งเปลี่ยนให้เรียบร้อย เมื่อเกิดอุบัติเหตุเป็นฝ่ายผิด ผู้ที่เป็นเจ้าของกรมธรรม์เดิมจะต้องจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกเอง ซึ่งจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายในส่วนที่ไม่ใช่ความผิดของตนทันที
โดยการโอนประกันรถยนต์รูปแบบนี้ จะต้องเตรียมเอกสารดังนี้
- เอกสารยินยอมการโอนชื่อผู้รับผลประโยชน์ ที่เจ้าของกรมธรรม์ (ผู้ขาย) จะต้องยื่นขอกับบริษัทประกัน
- ใบซื้อ-ขายที่เป็นหลักฐานการซื้อ-ขายรถยนต์ เพื่อแจ้งเปลี่ยนชื่อผู้เอาประกันภัยเป็นเจ้าของใหม่ และขอให้ถอดชื่อเจ้าของเดิมในกรมธรรม์ออก
ทั้งหมดนี้คือรายละเอียดและขั้นตอนการโอนรถ เปลี่ยนเจ้าของ ที่เรานำมาบอกต่อคุณอย่างละเอียดยิบ บอกเลยว่าเป็นประโยชน์ต่อคนที่กำลังต้องการซื้อ-ขายรถ หรือส่งต่อรถยนต์อย่างแน่นอน